คำตัดสินจำคุก 8 เดือนรอลงอาญา 1 ปีและปรับ 20,000 บาทที่ศาลอาญาพิพากษาคุณจีรนุช เปรมชัยพร ทำให้หน่วยงานทั่วโลกออกมาแสดงความเห็นนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านไปสองวันหน่วยงานหลักๆ น่าจะแสดงความเห็นกันครบถ้วนแล้ว ก็คงรวบรวมไว้ในข่าวเดียวกัน
- สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์สั้นๆ แสดงความยินดีที่คุณจีรนุชไม่ต้องถูกจำคุก แต่ก็กังวลเป็นอย่างมากต่อการทำให้การทำหน้าที่ตัวกลางในอินเทอร์เน็ตเป็นอาชญากร (criminalize) และต้องรับผิดต่อข้อความที่ผู้อื่นเป็นผู้โพส
- EFF แสดงความยินดีกับคุณจีรนุชอีกเช่นกันแต่ชี้ว่าอันตรายต่อเสรีภาพการแสดงออกจากพรบ.คอมพ์ยังคงเป็นเรื่องเลวร้ายมาก (dire)
- คณะกรรมการเพื่อการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) ให้ความเห็นว่าการพิพากษาลงโทษเป็นหายนะ (disastrous) ต่อเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และเป็นการทำนอกแนวทางสากลอย่างสิ้นเชิงที่จะไม่เอาผิดบุคคลที่สาม
- Freedom House ประณาม (condemn) ต่อโทษจำคุกในคดีนี้ และระบุว่าการลงโทษนี้เป็นเครื่องชี้วัดว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้คุณค่าของเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน โดยระบุว่าทั้งประมวลกฎหมายอาญาและพรบ.คอมพ์ฯ ของไทยไม่เป็นไปตาม ICCPR ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามรับรองไว้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเลิกการเอาผิดอาญากับการหมิ่นประมาท (defamation) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICJ) ระบุว่าผู้พิพากษาในคดีนี้พลาดโอกาสที่คัดค้านต่อกฎหมายที่ขัดกับภาระผูกพันของไทยที่จะต้องปกป้องสิทธิการแสดงออกต่อนานาชาติอย่างชัดเจน
- พันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่าคำพิพากษาในคดีนี้สร้างความหมายโดยนัยต่อเสรีภาพออนไลน์อย่างรุนแรง ที่จะให้ตัวกลางที่ให้บริการกระดานข่าวออนไลน์มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจตราข้อความ และคำพิพากษานี้ควรเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลควรต้องแก้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมและสมเหตุสมผล พร้อมกับสร้างแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนในการใช้งานจริง
นอกจากหน่วยงานเหล่านี้ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย, Human Rights Watch, CDT, สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนล, และกูเกิล ออกแถลงการณ์มาก่อนแล้ว