ตลาดของอินเทลและ ARM นั้นเคยแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดมาก่อน แต่ในสองปีที่ผ่านมาตลาดของทั้งสองบริษัทเริ่มทับซ้อนกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้โดยรวมอัตราการเติบโตของตลาดจะทำให้ทั้งสองบริษัทกำไรเติบโตอย่างน่าประทับใจได้ทั้งคู่ แต่ทุกคนก็คาดว่าสักวันหนึ่งตลาดอาจจะเติบโตไม่เร็วพอสำหรับทั้งสองบริษัท ทำให้ทั้งคู่ต้องเข้าต่อสู้กันเอง
ตลาดแรกสำหรับสงครามนี้ดูจะเป็นตลาดโน้ตบุ๊ก เมื่อ Simon Segars ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโพรเซสเซอร์และทรัพย์สินทางปัญญาการออกแบบ (ดูชื่อเหมือนจะเป็นกิจการทั้งบริษัทของ ARM แล้ว) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนงาน Computex ว่า ARM ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2015 หรืออีกสามปีข้างหน้า โน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป ARM จะมีมากถึง 20% ของตลาดรวม โดยเหตุผลสำคัญ คือ Windows RT ที่จะหันกลับมารองรับ ARM เป็นครั้งแรก หลังจากภาพลักษณ์ของวินโดวส์นั้นจะติดกับ x86 มานับสิบปี
พร้อมกันนี้ Segars ระบุว่าชิป ARM ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 20 นาโนเมตรกำลังจะเข้าสู่ตลาดในปีหน้า อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ชิป ARM ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี 28 นาโนเมตรยังขาดตลาดอยู่ เพราะ TSMC ไม่สามารถผลิตได้จำนวนตามเป้าหมาย ปัญหากำลังผลิตในเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของฝั่ง ARM เพราะอินเทลนั้นควบคุมโรงงานด้วยตัวเอง และกำลังผลิตของอินเทลก็มีสูงมาก
อย่างไรก็ตาม การที่ ARM จะบุกตลาดโน้ตบุ๊กซึ่งครองโดยอินเทลในปีหน้า ก็เป็นการแลกหมัดกับอินเทลที่เริ่มบุกตลาดโทรศัพท์มือถือไปแล้วในปีนี้ ผ่านผู้ผลิตหลายรายที่แม้จะทำยังทำตลาดกันไม่เต็มที่นักแต่ก็เป็นก้าวแรกของอินเทลที่เงินทุนหนากว่า ARM มาก ส่วนตลาดเซิร์ฟเวอร์นั้นแม้จะมีคนสนใจใช้ ARM ในเซิร์ฟเวอร์กันมากขึ้น แต่ข้อจำกัดของสถาปัตยกรรมแบบ 32 บิตทำให้ชิป ARM ยังใช้หน่วยความจำได้เพียง 4GB คงต้องรออีกระยะกว่า ARMv8 ที่จะเป็นสถาปัตยกรรม 64 บิตเปิดตัว และรอเครื่องมือ เช่น คอมไพล์เลอร์และระบบปฎิบัติการต่างๆ ตามไป (X86-64 นั้นเปิดตัวในชื่อ AMD64 ตั้งแต่ปี 1999 ออกเสปคจริงในปี 2000 และผลิตตัวแรกในปี 2003)
ที่มา - eWeek