ความยากลำบากในการพัฒนาแอพลงบนแอนดรอยด์เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันดี เนื่องด้วยปัญหา fragmentation จากทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ และมีข่าวจากนักพัฒนา บริษัทวิจัย ฯลฯ ออกมายืนยันเรื่องนี้อยู่เป็นระยะๆ
คราวนี้ลองมาฟังความเห็นจาก Max Weiner หัวหน้าฝ่ายทำแอพแอนดรอยด์ของ Pocket (ก่อนหน้านี้ชื่อ Read It Later) ที่เขียนบล็อกเบื้องหลังการทำแอพบนแอนดรอยด์ว่าไม่ได้ลำบากมากนัก และจริงๆ มันค่อนข้างจะน่าสนุกด้วยซ้ำ
Weiner เล่าเบื้องหลังการทำแอพไปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เมื่อปี 2010 ตอนนั้นมีแอนดรอยด์อยู่ทั้งหมด 4 รุ่น (Cupcake, Donut, Eclair และ Froyo) ซึ่ง Eclair กินตลาดอยู่มากถึง 50% เขาจึงตัดสินใจซื้อมือถือรุ่น Samsung Fascinate (Galaxy S ของ Verizon) มาเพื่อใช้ทดสอบแอพ เพราะว่าอีมูเลเตอร์ของแอนดรอยด์ในตอนนั้นมันช้าจนแทบไร้ค่า ผ่านไปไม่กี่เดือนแอพตัวแรกจึงเสร็จออกมา โดยที่มีเครื่องทดสอบเพียงสองเครื่องเท่านั้น (ของ Weiner กับ Nate (พี่ชาย))
ก่อนจะเปิดตัวแอพจริงนั้น Weiner ตัดสินใจเปิดให้ทดลองแอพแบบจำกัดประมาณ 50 คน และหลังจากเปิดขายในเดือนมีนาคม 2011 แอพดังกล่าวก็ขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งของหมวดแอพเสียเงิน ด้วยเรทติ้งที่ 4.7/5 โดยรองรับการใช้งานอุปกรณ์ในขณะนั้นกว่า 90% แม้ว่าจะมีเครื่องทดสอบเพียงสองเครื่องเท่านั้น
ช่วงท้ายของบทความ Weiner พูดถึงระบบสนับสนุนนักพัฒนาของกูเกิลที่ดีขึ้นตามการเติบโตของแอนดรอยด์ ทั้งแนวทางการออกแบบ และอีมูเลเตอร์ที่ดีขึ้นมาก รวมถึงฟีเจอร์ของแอนดรอยด์นั้นเอื้อต่อการพัฒนาแอพให้มีความหลากหลายในการใช้งาน หลักๆ คือ ระบบพุช การทำงานเบื้องหลัง ระบบแชร์ และวิตเจ็ด
แผนต่อไปของ Pocket คือเพิ่มเครื่องทดสอบอีก จากปัจจุบันมีอยู่ 13 เครื่องเท่านั้น
ที่มา - Pocket