เนื่องจากทางตัวแทนได้เข้าพบและยื่นจดหมายรวมถึงรายชื่อให้กับรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นขอปิดการลงชื่อนะครับ
คุณเทพได้ร่างจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT ซึ่งกดเข้าไปดูได้ข้างใน การเข้าชื่อในจดหมายฉบับนี้ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละท่านไม่มีบังคับนะครับ ช่วงนี้ผมจะเปิดให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Blognone สามารถคอมเมนต์ได้ด้วย ดังนั้นถ้าอ่านมาถึงตรงนี้และอยากลงชื่อก็ไม่ต้องสมัครสมาชิก เขียนในคอมเมนต์ได้ทันที
วันที่ปิดรับการลงชื่อจะประกาศอีกที หลังจากนั้นตัวแทนจะรวบรวมแล้วทำการยื่นจดหมายไปยังรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่าจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีประโยชน์ ก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ต่อด้วยครับ - mk
ปรกติบทความใน Blognone สามารถนำไปโพสที่อื่นได้อยู่แล้ว แต่จดหมายฉบับนี้ขอเป็นกรณีพิเศษ ถ้าท่านเล่นเว็บบอร์ดใดที่เกี่ยวกับไอที และคิดว่าจดหมายฉบับนี้มีประโยชน์ให้ช่วยกันเผยแพร่ด้วยการนำไปโพสและลิงก์กลับมาเพื่อให้คนมาลงชื่อกันได้ที่นี่ด้วยครับ - LewCPE
เพื่อความสะดวกในการคัดแยกชื่อ ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นนอกเหนือจากการลงชื่อ ในฟอรั่มครับ
English translation for this open letter by Daengbo
คนสนใจเยอะมาก เชิญชวนมาเจอหน้ากัน แลกเปลี่ยความเห็นในงาน
TLUG
เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
ตามที่ท่านได้แถลงนโยบายการทำงานของกระทรวงฯ ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน และหนังสือพิมพ์ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการให้เหตุผลของท่าน ที่จะไม่สนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้น พวกเรา ซึ่งเป็นผู้ใช้และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทย แม้จะไม่ขัดข้องหากท่านเห็นว่าควรใช้งบประมาณของประเทศไปสนับสนุนสิ่งที่ท่านเห็นว่าสำคัญกว่า แต่ก็เห็นว่า เหตุผลที่ท่านให้นั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามประสบการณ์ของเรา และเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส อันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกเรา ที่ยังพยายามเตรียมการสำหรับสิ่งดีๆ สำหรับประเทศด้วยการพึ่งตนเอง แทนการรอคอยงบประมาณจากภาครัฐ จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง โดยอ้างถึงรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งมีข้อความบางส่วนดังนี้:
On the subject of open source software, he said the current government plan was a case of the blind leading the blind, as neither the people who are in charge nor the people in industry seem to know the dangers of open source software.
"With open source, there is no intellectual property. Anyone can use it and all your ideas become public domain. If nobody can make money from it, there will be no development and open source software quickly becomes outdated," he said.
Apart from Linux, he claimed that most open source software is often abandoned and not developed, and leads to a lot of low-quality software with lots of bugs.
"As a programmer, if I can write good code, why should I give it away? Thailand can do good source code without open source," he said.
ขอแยกประเด็นชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้:
- การทำงานที่ผ่านมา ไม่ใช่การทำงานโดยไม่รู้ทิศทาง เราได้ศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งในข้อกฎหมาย วิธีการในทางปฏิบัติ ผลลัพธ์ในแง่ผลงาน และผลทางเศรษฐกิจ เราได้เล็งเห็นผลดีต่อประเทศ ดังจะชี้แจงต่อไป จึงได้พยายามทำงานอย่างต่อเนื่องในภาคประชาชน เพื่อเสริมแรงกับโครงการของภาครัฐ
- เป็นความเข้าใจผิด ที่ว่าซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สปราศจากทรัพย์สินทางปัญญา และกลายเป็น public domain เพราะโดยข้อกฎหมายแล้ว ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทุกชิ้นมีเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายทุกประการ แต่เป็นความสมัครใจของเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นกระทำการพิเศษเพิ่มเติม ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาอนุญาต (license) ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของและผู้ใช้ ที่จะสามารถแก้ไขแจกจ่ายซอฟต์แวร์ หากผู้ใดละเมิดเงื่อนไขของสัญญาอนุญาต ก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โครงการโอเพนซอร์สต่างๆ ให้ความสำคัญมาก และพยายามตรวจตราไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ใด
- ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สสามารถทำเงินได้ เพราะสัญญาอนุญาตของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สคุ้มครองสิทธิ์นั้น ตราบใดที่การขายนั้น ไม่ได้ละเมิดเงื่อนไข ดังจะเห็นการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในฮาร์ดแวร์ต่างๆ เช่น router, อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเครือข่าย, โทรศัพท์มือถือ, PDA เนื่องจากการมีซอร์สโค้ดทำให้สามารถดัดแปลงซอฟต์แวร์ให้เข้ากับฮาร์ดแวร์โดยอิสระ หรือจะเป็นการขาย service เช่น การวางระบบ หรือ integrate เป็น solution ซึ่งการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สช่วยประหยัดต้นทุนและมีความยืดหยุ่นต่อการปรับแต่ง เป็นต้น ซึ่งการขายดังกล่าว ตราบใดที่ผู้ขายยังรักษาสิทธิ์ผู้ใช้ครบเต็มตามที่ตนได้มากับตัวซอฟต์แวร์ ก็ไม่ผิดแต่ประการใด และในต่างประเทศ ผู้ขายเหล่านี้ได้แบ่งส่วนกำไรจากการขาย เพื่อส่งคืนให้กับนักพัฒนาในรูปการ sponsor หรือการบริจาค หรือแม้กระทั่งจ้างนักพัฒนาให้ทำ feature พิเศษเพิ่มเติมให้ หรือจ้างเป็นพนักงานเสียเลย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจำนวนมากยังไม่หยุดการพัฒนาจนทุกวันนี้ และในประเทศไทย ก็มีการทำเช่นนั้นบ้างเป็นบางโอกาส แต่ยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากแนวคิดโอเพนซอร์สยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าแนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุน ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดในประเทศไทยมากขึ้นได้เช่นกัน
- เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์ทั้งหลายทั่วไป ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ต้องผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติที่จะอยู่รอด ดังนั้น หากมีผู้ใช้เพียงพอ ซอฟต์แวร์ย่อมมีการปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่ถูกทิ้งให้ล้าสมัย เพราะกระบวนการโอเพนซอร์ส เน้นที่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และผู้พัฒนา โดยอยู่ในระดับที่ลึกกว่าซอฟต์แวร์ proprietary ทั่วไป เนื่องจากผู้ใช้สามารถเข้าถึงซอร์สโค้ดได้ ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีบางส่วนที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติม และส่งการปรับปรุงกลับมาที่แหล่งต้นฉบับได้ เท่ากับว่ามีโอกาสได้ผู้ร่วมพัฒนามากกว่าซอฟต์แวร์ proprietary เสียอีก ซึ่งนอกเหนือจากลินุกซ์เคอร์เนลที่ได้ผ่านประสบการณ์นี้ จนมีอัตราการพัฒนาที่สูงแล้ว ก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น Firefox (WWW browser), Apache (WWW server), Squid (HTTP proxy), MySQL (Database), PostgreSQL (Database), PHP (WWW programming), Mambo (CMS), Drupal (CMS), GNOME (desktop environment), KDE (desktop environment), X.org (GUI window system) ฯลฯ ซึ่งจากการติดตามความเปลี่ยนแปลง ซอฟต์แวร์เหล่านี้ต่างมีการปรับรุ่นอย่างสม่ำเสมอ ออกจะถี่กว่าระบบ proprietary ชั้นนำเสียด้วยซ้ำไป
- มีเหตุผลมากมาย ที่ทำไมผู้ที่เขียนโค้ดที่ดีจึงอยากให้โค้ดแก่ผู้อื่นเปล่าๆ (ภายใต้เงื่อนไขสัญญาอนุญาต) หากไม่นับเหตุผลของความรักสังคมมนุษย์ที่ต้องการเผื่อแผ่ หรือเพื่อความพอใจส่วนตัวแล้ว ก็ยังมีเหตุผลของภาคธุรกิจ เช่น
- กรณี Netscape ที่เคยเสียส่วนแบ่งตลาด WWW browser ให้แก่ Internet Explorer ของ Microsoft ก็ตัดสินใจสู้ด้วยการเปิดซอร์ส WWW browser สู่สาธารณะ โดยตั้งเป็นโครงการ Mozilla และได้รับความช่วยเหลือจากนักพัฒนาในอินเทอร์เน็ตในการปรับปรุงความสามารถมากมาย จนได้เป็น Firefox ซึ่งเป็น WWW browser ที่เริ่มชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาจาก Internet Explorer มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในการร่วมมือระหว่าง Mozilla กับนักพัฒนาภายนอก ต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
- ภาคธุรกิจที่นำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมาใช้ โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติม ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกครั้งที่ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ออกมา โดยต้อง patch ซอร์สโค้ดใหม่ทุกครั้งไป ย่อมคิดถึงวิธีที่สะดวก ทั้งยังได้ประชาสัมพันธ์บริษัทไปในตัว ด้วยการพยายามส่ง patch เข้าที่แหล่งต้นน้ำ และบอกแก่ลูกค้า ว่าทางบริษัทได้ช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นน้ำอย่างไรบ้าง และถือเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้ในการปรับรุ่นไปในตัว เพราะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องรอปรับรุ่นจากหลายแหล่ง
- แม้ในภาคการศึกษาและวิจัยพัฒนา การเผยแพร่ผลงานวิชาการในรูปซอร์สโค้ด ก็ย่อมส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดซึ่งกันและกัน แทนที่จะทำได้เพียงอ่านบทความ แล้วเขียนโค้ดตามก่อนจะพัฒนาเพิ่ม ก็สามารถนำซอร์สโค้ดมาพัฒนาต่อยอดได้ทันที ทำให้อัตราการพัฒนาของงานวิจัยแบบร่วมมือกันสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ สาเหตุก็คือ กำแพงทางกฎหมายที่เคยขัดขวางการทำงานต่อยอดกันของมนุษยชาติ ได้ถูกจัดแจงเสียใหม่ ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ โดยไม่ขัดกับกฎหมาย และด้วยความเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ทั้งนี้ วงการโอเพนซอร์สยังคงมีธรรมเนียมการให้เครดิตเจ้าของผลงานตามสมควรในรูปแบบต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ หากคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดกับประเทศ สิ่งที่พวกเราเล็งเห็นว่าจะได้จากโอเพนซอร์สคือ:
- การลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากซอฟต์แวร์ต่างประเทศมีราคาแพง การจะลดอัตราการละเมิดโดยจ่ายเงินซื้อทั้งหมด แม้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่จำเป็น จะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมหาศาล การเตรียมทางเลือกใหม่เพื่อลดปัญหานี้ เช่นการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ย่อมเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ คุณภาพของซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ด้อย ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวไปแล้ว
- ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันในประเทศ กลไกโอเพนซอร์ส เอื้อต่อการทำงานร่วมกันดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้คนไทยร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น เป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่การแก้ปัญหาแต่ละครั้งมักมีค่าใช้จ่ายสูงในหลายกรณี
- พัฒนาศักยภาพนักพัฒนาไทย ซอร์สโค้ดส่วนใหญ่ที่เป็นโอเพนซอร์ส จะเป็นซอร์สโค้ดที่มีคุณภาพ ผ่านการออกแบบมาอย่างดี ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุเรื่องชื่อเสียงของผู้สร้างที่ต้องระวังก่อนปล่อยสู่สาธารณะ หรือด้วยความจำเป็นที่ต้องออกแบบโครงสร้างอย่างดีไว้เผื่อการทำงานร่วมกันของคนหมู่มาก รวมไปถึงการบริหารโครงการขนาดใหญ่ การเข้ามีส่วนร่วมของนักพัฒนาไทย (ซึ่งขณะนี้มีบ้างพอสมควรแล้ว) นอกจากจะทำให้ต่างชาติรู้จักนักพัฒนาไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสที่นักพัฒนาเองจะได้เรียนรู้เทคนิควิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เข้มข้นกว่าที่ใช้กันในองค์กรเสียอีก
เรื่องรายได้ของนักพัฒนาที่ท่านเป็นห่วงนั้น เราซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ย่อมเป็นห่วงไม่น้อยกว่าท่าน แต่เราเชื่อว่าเมื่อโอเพนซอร์สมีการเติบโต ย่อมเกิดช่องทางของความอยู่รอดอย่างที่เกิดในต่างประเทศเองเป็นธรรมชาติ ปัญหาจึงคล้ายไก่กับไข่เสียมาก คือเราจะรอดูผลที่เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงส่งเสริม หรือเราจะส่งเสริมก่อน แล้วรอดูผล
พวกเราเลือกอย่างหลัง เพราะได้เล็งถึงผลในเบื้องปลายไว้แล้ว จึงยังไม่หยุดทำงาน ไม่ว่าท่าทีของภาครัฐจะเป็นเช่นไร เพียงแต่หวังว่า แม้จะไม่สนับสนุน ก็ไม่ควรเกิดการรบกวนการทำงาน อย่างที่ได้เกิดขึ้นในข่าว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ,