อีกหนึ่งความสามารถของ Retina MacBook Pro ที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนักก็คือการแสดงผลในโหมด scaling หรือว่าง่าย ๆ คือการแสดงผลที่ให้พื้นที่ในการทำงาน (desktop space) เทียบเท่ากับ 1680x1050 หรือ 1920x1200 ซึ่งหากเทียบกับโหมด Retina ปกติแล้ว ถึงแม้ว่าภาพและตัวหนังสือจะมีความละเอียดสูงมากกว่าจอภาพเดิม 4 เท่าด้วยหน้าจอความละเอียด 2880x1800 ก็ตาม แต่พื้นที่ในการใช้งานของผู้ใช้จริง ๆ แล้วก็เทียบเท่ากับหน้าจอ 1440x900 เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือวิธีการเรนเดอร์ภาพในโหมด scaling ต่าง ๆ ของ OS X ซึ่งแทนที่แอปเปิลจะเลือกใช้วิธีการขยายภาพต้นฉบับที่ 1920x1200 มาให้เต็มจอขนาด 2880x1800 ตามปกติแล้ว แอปเปิลกลับเลือกใช้วิธี oversampling ด้วยการให้การ์ดจอทำงานหนักกว่าที่มันได้ถูกออกแบบมา โดยการ์ดจอจะต้องเรนเดอร์ภาพขนาด 3840x2400 (หรือ 4 เท่าของขนาด 1920x1200 หรือว่าง่าย ๆ ที่ 9.2 เมกะพิกเซล) หลังจากนั้นค่อย downscale ภาพกลับลงมาอยู่ที่ 2880x1800 อีกที โดยวิธีนี้จะทำให้คุณภาพของภาพออกมาดีกว่าการ upscale ภาพตามปกติ
ผลที่ตามมาก็คือประสิทธิภาพในการทำงานที่อาจจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรนเดอร์ animation ต่าง ๆ ของ OS X อย่างเช่นการ scroll หน้าเว็บต่าง ๆ โดยจากการทดสอบด้วยหน้าเว็บที่ใช้ทรัพยากรในการเรนเดอร์สูงอย่างเฟสบุ๊ค frame rate จาก MacBook Pro รุ่นปี 2011 เฉลี่ยจะอยู่สูงกว่า 50 เฟรมต่อวินาที Retina MacBook Pro ในโหมด scaling สามารถประมวลผลเฉลี่ยออกมาได้แค่ 20 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ก็มาจากการที่ GPU จะต้องประมวลผลจำนวนพิกเซลที่มากกว่าเดิมหลายเท่า
ทั้งหมดนี้พอสรุปได้ว่ามันไม่มีวิธีแก้ไขปัญหานี้ได้มากนัก เนื่องจากแอปเปิลได้พยายามผลักดันให้ชิปกราฟฟิคทำงานหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว และมากกว่าที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นเคยทำ แต่จากในรายงานเดียวกันนี้ของ AnandTech การทดสอบเดียวกันนี้บน OS X Mountain Lion การทดสอบ scroll หน้าเว็บต่าง ๆ มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และน่าจะมาจากการที่แอปเปิลเลือกใช้ Core Animation ในการเรนเดอร์การ scroll
ส่วนวิธีการที่จะให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่านี้ได้อีกนั้น คงไม่มีวิธีอื่นนอกจากรอให้มีเทคโนโลยีหน่วยประมวลผลกราฟฟิคที่จะสามารถตอบสนองความต้องการทางทรัพยากรที่มากกว่าเดิมมาก ของหน้าจอความละเอียดสูงเหล่านี้ได้