รายงานการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT

by mk
21 November 2006 - 10:41

เผอิญว่ามีงานแถลงนโยบายของ SIPA รอต่อคิวพอดี นักข่าวเลยเยอะ พรุ่งนี้คงเห็นลงข่าวกันหลายฉบับ เอาเวอร์ชันคร่าวๆ ลวกๆ ของผมไปก่อนละกันครับ ขอเขียนทางการนิดนึงเผื่อมีใครอ้างอิงจะได้ดูดีหน่อย

รายงานการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT เพื่อชี้แจงเรื่องโอเพนซอร์สในประเทศไทย วันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เวลา 14.30-15.30 ที่กระทรวง ICT อาคาร 9 ชั้น ICT3 บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน

จากกระทรวง ICT ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม, ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ดร. อาวุธ พลอยส่องแสง, ที่ปรึกษาและเลขานุการของรัฐมนตรี 2-3 ท่าน

ผู้เข้าพบ ได้แก่

  • ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวานิช ในฐานะนายกสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย, TCL Lab, และ NECTEC
  • อ. ธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ เลขานุการสมาคม, ม. บูรพา
  • คุณคมสัน เหล่าศิลปเจริญ กรรมการสมาคม
  • คุณดนุพล สยามวาลา กรรมการสมาคม, Ice Solution
  • คุณกำธร ไกรรักษ์ NECTEC และ TLWG/LTN
  • คุณอรรถนิติ อัศวินนิมิตกุล NECTEC
  • คุณอัครวุฒิ ตำราเรียง ผู้พัฒนา Mambo และ Joomla
  • ผม, อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ไปในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ใช้และผู้พัฒนาอิสระ (4 คนหลังไม่ได้เป็นกรรมการ และไม่เกี่ยวอะไรกับสมาคม)

นอกจากนี้ยังมีทีมงานจาก SIPA และนักข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ เข้าร่วมฟังด้วย

ประเด็นสำคัญ

  • ท่านรัฐมนตรีได้ใช้นโยบาย open door คือเปิดประตูห้องประชุมทิ้งไว้เพื่อแสดงความโปร่งใสมาโดยตลอดอยู่แล้ว ผู้ที่สนใจสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ เพียงแต่งานนี้ผมเห็นคนเยอะพอสมควรแล้วเลยไม่ได้เชิญใครมาเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยเห็นขนาดห้อง (ซึ่งที่ไปตามรายชื่อข้างบนก็เต็มห้องพอดี)
  • ทางสมาคมได้ยื่นเอกสารรายงานสถานการณ์ปัจจุบันของโอเพนซอร์สในประเทศไทย และ fact sheet เกี่ยวกับโอเพนซอร์สให้กับรัฐมนตรี
  • ตัวแทนได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก และรายชื่อผู้ร่วมลงนาม (ประมาณ 800 กว่าคน) ให้กับรัฐมนตรี
  • รัฐมนตรีกล่าวขอโทษที่ทำให้เดือดร้อนจากคำให้สัมภาษณ์ โดยยอมรับว่าเป็นคนสายฮาร์ดแวร์ และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องซอฟต์แวร์ไม่เยอะนัก ท่านย้ำว่าไม่ได้ต่อต้าน เพียงแต่ไม่รู้ และต่อไปยินดีจะสนับสนุน
  • ประเด็นเรื่องไมโครซอฟท์เข้าพบนั้น ท่านรัฐมนตรีอธิบายว่าได้รับมอบหมายมาจากรองนายกรัฐมนตรี มรว. ปรีดียาธร อีกทีหนึ่ง โดยท่านได้บอกว่าถ้าต้องการไปจะจ่ายเงินไปเอง และติดต่อกับทางรัฐบาลอังกฤษเองโดยตรง เพื่อความโปร่งใส
  • ท่านได้เน้นว่าเรื่องการล็อบบี้จะไม่ได้ผลกับท่านอย่างแน่นอน โดยยกตัวอย่างสมัยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหานคร มีบริษัทด้านโทรคมนาคมจากฝรั่งเศสติดต่อเชิญไปดูงานหลายครั้ง ก็ปฏิเสธไปทุกครั้งถ้าจะไปด้วยเงินเอกชน
  • นายกสมาคมได้เล่าภาพรวมของโอเพนซอร์สอย่างคร่าวๆ เช่น มีประโยชน์อย่างไร, ตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ที่สนับสนุนโอเพนซอร์ส, กิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในประเทศไทย และยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรี (ข้อเสนอแนะสามารถอ่านได้ตามที่แนบมาด้านล่าง)
  • ประเด็นในข้อเสนอเรื่องการสนับสนุนโอเพนซอร์สในแผนแม่บท ICT แห่งชาติ ที่กระทรวง ICT กำลังร่างอยู่ รัฐมนตรียินดีและมอบหมายให้ ดร. อาวุธ ไปดำเนินการ
  • ประเด็นเรื่องการตั้งคณะที่ปรึกษาด้านโอเพนซอร์สของรัฐมนตรี รัฐมนตรีได้มอบหมายให้เลขานุการไปดำเนินการ โดยทางสมาคมจะเป็นฝ่ายเสนอรายชื่อมาในภายหลัง
  • แผนระยะยาวอื่นๆ รัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทางสมาคม ไปคุยนอกรอบกับ ดร. อาวุธ ต่อในรายละเอียด
  • รัฐมนตรีให้ข้อมูลเรื่อง OLPC โดยบอกว่าไม่ได้ต่อต้าน และไม่ได้ล้มโครงการนี้ เนื่องจากโครงการนี้เป็นแค่ไอเดียของนายกทักษิณ และไม่ได้มีการเขียนแผนของบประมาณตั้งแต่แรก ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่มีเงินมาสนับสนุนโครงการนี้ นอกจากนั้นคุณกำธรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OLPC ให้กับรัฐมนตรีเล็กน้อย และสรุปว่าจะหารือในรายละเอียดกับคณะทำงาน OLPC ซึ่งมี ดร. ชิต (FIBO) เป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดเข้าพบในวันรุ่งขึ้น (22 พ.ย.)

ส่วนของรายงานการเข้าพบคงจบแค่นี้ครับ ได้มีการอัดเสียงของท่านรมต. มาด้วยสั้นๆ ลองฟังดูได้ครับ [ogg] [mp3] หมายเหตุ: ตัดโดยใช้ audacity และแปลงไฟล์ด้วย lame (ขอบคุณคุณ somsak_s ที่ให้คำปรึกษาในการ encode)

ผมขอสรุปของผมเองว่าการเข้าพบและชี้แจงรัฐมนตรีครั้งนี้สำเร็จตามเป้าหมาย คือรัฐมนตรีมีความเข้าใจที่ดีขึ้นกับโอเพนซอร์ส และสนับสนุนแผนงานตามที่สมาคมเสนอ ถึงแม้ว่าจะยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับโอเพนซอร์สอีกบางเรื่องที่ท่านยังเข้าใจไม่ชัดเจนเหลืออยู่ แต่ด้วยระยะเวลาแค่ 1 ชม. ได้แค่นี้ก็เยี่ยมแล้วครับ

รายละเอียดอื่นๆ รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการสมาคม รออ่านได้ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันพรุ่งนี้ (ไทยรัฐออนไลน์ซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้ฟังทั้งหมด บอกว่าพรุ่งนี้เช้า) เดี๋ยวจะรวมลิงก์มาให้อ่านกันอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทางฝั่งชุมชนเองก็ควรจะดำเนินการด้วยตนเองควบคู่ไปพร้อมกัน ขอเชิญท่านที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน TLUG วันเสาร์นี้ (แอบโฆษณา)

เอกสารแนบ: ข้อเสนอแนะต่อ รมว. ICT โดยสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์ส

  • ประกาศนโยบายโอเพนซอร์ส
    • กำหนดให้มีการสนับสนุนโอเพนซอร์สอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งงบประมาณ กำลังคน มาตรการการใช้โอเพนซอร์ส การศึกษา
    • ตั้งคณะทำงานโอเพนซอร์สเพื่อผลักดันให้โอเพนซอร์สเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทไอซีที และวางแผนยุทธศาสตร์โอเพนซอร์สแบบบูรณาการ
    • ตั้งที่ปรึกษาด้านโอเพนซอร์ส
  • จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือโอเพนซอร์ส
    • ศูนย์พัฒนาโอเพนซอร์ส (OpenSource Development Center)
    • ศูนย์ส่งเสริมการใช้โอเพนซอร์ส (OpenSource Promotion Center)
    • ศูนย์พัฒนาบุคคลากรโอเพนซอร์ส (OpenSource Competency Center)
  • จัดตั้งเครือข่ายบริการไอซีทีแห่งชาติ
    • ศูนย์บริการซอฟต์แวร์พื้นฐานแห่งชาติ
    • คลังข้อมูลแห่งชาติ
    • คลังซอฟต์แวร์แห่งชาติ

ทางสมาคมจะระดมสมองเพื่อทำแผนการโดยละเอียดอีกครั้ง รายละเอียดจะมาแจ้งให้ทราบเมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว

Blognone Jobs Premium