ผู้ใช้ Google Maps คงคุ้นเคยกับฟีเจอร์แสดงสภาพจราจร (ซึ่งมีข้อมูลจราจรของกรุงเทพมานานแล้ว) ในโอกาสที่วันนี้กูเกิลประกาศเพิ่มข้อมูลจราจรในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐและละตินอเมริกาอีกหลายเมือง (Google Lat Long) ผู้บริหารของกูเกิลก็เผยข้อมูลกับเว็บไซต์ Technology Review ของ MIT ว่านำข้อมูลเหล่านี้มาจากไหนบ้าง
Stephan Seyboth ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ฝ่ายสภาพจราจรและการขนส่งของ Google Maps ให้สัมภาษณ์ว่าตามปกติกูเกิลใช้ข้อมูลสภาพจราจรจากหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศ (ซึ่งฝังเซ็นเซอร์ไว้ที่พื้นถนน) แต่ในประเทศที่กูเกิลไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จะใช้ข้อมูลจากมือถือ Android เข้าช่วยแบบ crowdsourcing
วิธีการคือมือถือ Android จะส่งข้อมูลพิกัดและความเร็วไปยังกูเกิล ซึ่งกูเกิลจะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ และถ้าอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งๆ เดินทางด้วยความเร็วสูงบนทางหลวงหรือทางด่วน แล้วจู่ๆ เคลื่อนที่ช้าลง กูเกิลจะถือว่าสภาพจราจรเริ่มติดขัด
Stephan Seyboth บอกว่ามือถือ Android จะส่งข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน คือส่งเฉพาะพิกัดและความเร็วเท่านั้น (ในต้นฉบับไม่ได้บอกไว้ แต่ผมเข้าใจเอาเองว่าจะส่งก็ต่อเมื่อเราเลือก Location & Google search ในหน้า Settings ด้วย) ส่วนการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานจริงๆ ขึ้นกับจำนวนและคุณภาพของข้อมูลที่กูเกิลได้รับในแต่ละเมือง ซึ่งกูเกิลก็ไม่ได้บอกว่าต้องมีเยอะน้อยเท่าไรถึงผ่านเกณฑ์นี้
Stephan Seyboth ยังบอกว่าการใช้ข้อมูลจาก Android ช่วยให้กูเกิลสามารถขยายบริการแสดงสภาพจราจรได้เยอะขนาดนี้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วน Technology Review ตั้งข้อสังเกตว่าแอปเปิลเองก็อยากทำแบบเดียวกันกับสภาพจราจรในแอพแผนที่ตัวใหม่ของ iOS บ้าง แต่ด้วยฐานผู้ใช้ iOS ที่น้อยกว่า Android มาก ก็มีคำถามว่าฐานข้อมูลของแอปเปิลจะสู้กับกูเกิลได้แค่ไหน
ที่มา - Technology Review