รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของสามค่ายมือถือไทย

by arjin
14 August 2012 - 09:20

บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายในไทยได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอว่าเหล่าผู้ให้บริการเริ่มมีรายได้จากบริการข้อมูล (data, non-voice) แทนที่บริการเสียง (voice) มากขึ้น รวมทั้งบริษัทเหล่านี้ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ iPhone 4S ส่วนในไตรมาสนี้ผลการดำเนินงานของแต่ละค่ายก็ออกมาดังนี้ครับ

ดีแทค

ดีแทคมีรายได้ในไตรมาสที่สอง 21,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2,828 ล้านบาท ลดลง 6.5% โดยเป็นผลจากค่าส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กสท. และกสทช. ที่เพิ่มขึ้นมาก และยังมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์เครือข่าย 3G ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยสิ้นสุดไตรมาสนี้ดีแทคมีผู้ใช้บริการในระบบ 23.6 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเพียง 166,699 ราย

ในส่วนของรายได้จากบริการเสริมโดยเฉพาะบริการด้านข้อมูลในไตรมาสของดีแทคเติบโตอย่างมาก โดยมีรายได้เฉพาะส่วนนี้ถึง 3,566 ล้านบาท เติบโตถึง 50.7% จากปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายโทรศัพท์ลดลง 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ อันเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาลและการรอซื้อ iPhone รุ่นใหม่

เอไอเอส

เอไอเอสมีรายได้รวม 34,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 8,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากค่าตัดจำหน่ายโครงข่ายที่ลดลงไปมาก รวมถึงการปรับลดของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ฐานภาษีลดลงจาก 30% เป็น 23% โดยในไตรมาสนี้เอไอเอสมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 671,000 เลขหมาย ทำให้รวมแล้วมีผู้ใช้งาน 34.8 ล้านเลขหมาย

เอไอเอสก็มีการเติบโตของรายได้ในส่วนบริการข้อมูลเช่นกัน โดยมีรายได้เฉพาะส่วนนี้ 4,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ขณะที่รายได้จากบริการเสียงเพิ่มขึ้นเพียง 6.4% แต่ก็ยังถือเป็นรายได้หลัก โดยรายได้ส่วนนี้คิดเป็น 17,411 ล้านบาท

ทรูโมบาย (ทรูมูฟ ทรูมูฟเอช และฮัทช์ CDMA)

กลุ่มทรู โมบายมีรายได้ในไตรมาสสอง 13,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 39.4% จากปีก่อน โดยเป็นผลจากการเปิดให้บริการ 3G+ ของทรูมูฟเอชที่ทำให้มีลูกค้าเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วยังขาดทุนสุทธิ 1,897 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่เพิ่มถึง 19.5% และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มถึง 36.7% โดยเฉพาะการลงทุนด้านบุคลากรในการให้บริการสำหรับทรูมูฟ เอชที่เป็นสินค้าใหม่ในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งานนั้น ภาพรวมมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 2 แสนเลขหมายรวมเป็น 19.5 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นทรูมูฟ เอช 2.03 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 0.91 ล้านเลขหมาย และทรูมูฟ 17.3 ล้านเลขหมาย ลดลง 0.7 ล้านเลขหมาย ส่วนที่เหลือเป็นฮัทช์ CDMA ทั้งนี้ทรูมูฟ เอชมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ได้ 4 ล้านเลขหมายภายในสิ้นปีนี้

ที่มา: ดีแทค, เอไอเอส และ ทรู

Blognone Jobs Premium