การ์ตเนอร์แถลงผลวิจัยส่วนแบ่งโทรศัพท์มือถือไตรมาสสองของปีนี้ พบว่ายังคงหดตัวจากปีที่แล้วเช่นเดียวกับในไตรมาสแรก โดยยอดขายรวม 419 ล้านเครื่องลดลง 2.3% ขณะที่สมาร์ทโฟนนั้นมียอดขายถึง 154 ล้านเครื่องแล้ว โตขึ้นกว่าปีที่แล้ว 42.7% ขณะที่ไตรมาสที่แล้วยอดขาย 144.4 ล้านเครื่อง
สำหรับส่วนแบ่งตามระบบปฎิบัติการสมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ทิ้งห่างออกไปด้วยส่วนแบ่ง 64% (ปีที่แล้ว 43.4% ไตรมาสที่แล้ว 56.1%) ขณะที่ iOS ตามมาที่ 18.8% (ปีที่แล้ว 18.2% ไตรมาสที่แล้ว 22.9%) ส่วนซิมเบียนและแบล็คเบอรี่นั้นส่วนแบ่งกำลังตกลงอย่างรวดเร็วทั้งคู่มาเหลือ 5.9% และ 5.2% ตามลำดับ จากปีที่แล้ว (22.1% และ 11.7% ตามลำดับ) ที่น่าสนใจคือไมโครซอฟท์นั้นมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากผ่านช่วงที่แย่ที่สุดในปีที่แล้ว โดยมียอดขายรวมประมาณสี่ล้านเครื่องคิดเป็นส่วนแบ่ง 2.7% (ปีที่แล้ว 1.6%) ที่น่าสนใจคือยอดขายนี้เกือบทั้งหมดน่าจะมาจากโนเกีย เพราะโนเกียแถลงยอดขาย Lumia ไตรมาสสองไว้ที่สี่ล้านเครื่อง
ตลาดโทรศัพท์ทั้งหมดรวมฟีเจอร์โฟนตามแบรนด์นั้นปีนี้นับว่าเป็นปีที่ดีมากของซัมซุงจากการขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในตลาดโลกแซงหน้าโนเกีย แต่ทางฝั่งโนเกียเองก็เสียส่วนแบ่งไป 2.9% ในปีที่ผ่านมานับว่าชะลอการเสียตลาดไปได้มากแล้ว แอปเปิลเองยังคงเติบโตเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในกลุ่มราคาสูงก็ตาม
ด้วยส่วนแบ่งที่เติบโตขนาดนี้ หากแอปเปิล, ผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ได้ใช้แอนดรอยด์ยังไม่สามารถหยุดการเติบโตของส่วนแบ่งได้ เราคงไม่แปลกใจที่บริการใหม่ๆ จะมองแอนดรอยด์เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ต้องซัพพอร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือผู้ใช้ไม่ค่อยซื้อแอพจากตลาดกันมากนักก็ตาม
ที่มา - TechCrunch