ปัญหากฎหมายอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ยังหาจุดสมดุลไม่ได้ในหลายๆ ประเทศ เช่นประเทศไทยเอง และเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็กำลังเจอกับปัญหานี้ เมื่อเว็บไซต์จำนวนมากนัดกัน "จอดำ" เหมือนเมื่อครั้งที่เว็บทั่วโลกทำเพื่อประท้วงกฎหมาย SOPA
ที่จริงแล้วมาตรา 114A ไม่ใช่กฎหมายคอมพิวเตอร์โดยตรงแต่เป็นกฎหมายว่าด้วย "หลักฐาน" ของการเผยแพร่ข้อมูล โดยกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเดิมที่กำหนดมาตรฐานการใช้หลักฐานในคดีต่างๆ แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐสภาของมาเลเซียได้แก้กฎหมายนี้จนเกิดเป็นมาตรา 114A ในปัจจุบัน ใจความของมันแบ่งออกเป็นสามส่วน และส่วนที่สี่คือนิยามคำตามกฎหมาย ได้แก่
1. หากชื่อ,ภาพ, หรือชื่อเล่นของใครแสดงความเป็นเจ้าของบทความ, บรรณาธิการ, หรือผู้เผยแพร่ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้เผยแพร่หรือเผยแพร่ซ้ำจนกว่าจะมีหลักฐานโต้แย้ง
2. ให้ถือว่าชื่อที่จดทะเบียนกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นผู้เผยแพร่ หากข้อความมาจากคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อผ่านช่องทางที่จดทะเบียนไว้นั้นจนกว่าจะมีหลักฐานโต้แย้ง
3. เจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือผู้ควบคุมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เผยแพร่ ให้ถือว่าเป็นผู้เผยแพร่ จนกว่าจะมีหลักฐานโต้แย้ง
งานนี้มีจำนวนมากเข้าร่วมแคมเปญ แต่กรณีของมาตรา 114A นั้นเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับไปแล้วตั้งสิ้นเดือนที่แล้ว โดยฝ่ายต่อต้านระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกแก้อย่างเงียบๆ และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง และมันจะทำให้การเอาผิดกับตัวกลางหรือเหยื่อที่ถูกแอบอ้าง ไม่ว่าจะแอบอ้างธรรมดาหรือแอบอ้างด้วยการแฮกคอมพิวเตอร์เข้ามาต้องตกในที่นั่งลำบาก ส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออก และทำให้ผู้ร้ายตัวจริงลอยนวลได้โดยง่าย