Lightning สายฟ้าปฏิวัติวงการอุปกรณ์เสริม iDevice

by at1987
13 September 2012 - 15:04

เนื่องจากผมได้เห็นหลาย ๆ คนได้พูดถึงประเด็นเรื่องของผลกระทบจากการที่ Apple เปลี่ยนพอร์ตเชื่อมต่อจากแบบ 30-pin เป็น Lightning จึงขอนำบทความที่เขียนลงในบล็อกของผม ซึ่งเป็นการมองการเปลี่ยนแปลงนี้ในมุมของทางผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม มาแชร์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ

หลายคนคงไม่ปฎิเสธว่า iPhone คือสมาร์ทโฟนที่มีอุปกรณ์เสริมเยอะและหลากหลายที่สุด เรามักจะเจออุปกรณ์เสริมแปลก ๆ ที่เพิ่มความสามารถที่คาดไม่ถึงให้กับ iPhone อยู่เสมอ

เมื่อคืน Apple ได้เปิดตัว iPhone 5 และ iPod รุ่นใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสเปก รูปร่างหน้าตาแล้ว ยังได้เปลี่ยนพอร์ตเชื่อมต่อใหม่จาก 30-pin เป็น Lightning ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม วันนี้เราจะไปดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับพอร์ต 30-pin กันอีกครั้ง พอร์ต 30-pin หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า Dock Connector เป็นพอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับ iPod iPhone และ iPad ซึ่งในพอร์ต 30-pin นั้นจะประกอบไปด้วยขาสำหรับการส่งสัญญาณต่าง ๆ เช่น สัญญาณวิดีโอ สัญญาณเสียง ขาสำหรับสื่อสารกับอุปกรณ์อื่น (iPod out) รวมทั้งขาสำหรับการรับส่งข้อมูลของ USB และ FireWire สำหรับ iPod รุ่นเก่า ๆ อีกด้วย

เพื่อจะทำให้ตัวพอร์ตเชื่อมต่อมีขนาดเล็กลง Apple จึงทำการตัดขาที่ไม่ได้ใช้งานออกไปจนเหลือเพียง 9 ขาเท่านั้น ขาที่โดนตัดทิ้งไปนั้นคือส่วนที่ใช้ในการส่งสัญญาณวิดีโอ ขาสำหรับ iPod out และ FireWire ที่ตายไปพร้อมกับ iPod รุ่นเก่า ๆ

การตัดขาเหล่านี้ออกไปย่อมส่งผลกับอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวที่ใช้งานขาเหล่านี้ในการทำงาน เช่น เครื่องเสียงในรถยนต์ที่อาศัย iPod out ในการให้เรากดค้นหาเพลงผ่านเครื่องเสียงได้เหมือนเรากดจากบน iDevice เอง ก็จะไม่สามารถทำงานได้ ถึงแม้ว่า Apple จะออกหัวแปลงออกมาก็ตาม แต่ก็ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถใช้งานส่งสัญญาณวิดีโอ iPod out และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมบางตัวได้

ซึ่งดูจากความตั้งใจของ Apple แล้ว คิดว่าการเชื่อมต่อต่าง ๆ คงเป็นไปตามลักษณะนี้

  • การซิงก์และโอนถ่ายข้อมูล -> Lightning, PC-Free, iCloud
  • การเชื่อมต่อกับเครื่องเสียง -> Lightning, Bluetooth, AirPlay
  • การเชื่อมต่อกับจอภาพ -> Lightning, AirPlay
  • การอัพเดทเฟิร์มแวร์ -> Lightning, PC-Free
  • การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ -> Lightning, Bluetooth
  • การเชื่อมต่อกับเครื่องพิมพ์ -> AirPrint

สังเกตว่าในการเชื่อมต่อต่าง ๆ นั้นจะมีในส่วนการเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วย ซึ่งก็ตรงกับยุทธศาสตร์ของทาง Apple ที่ต้องการจะเน้นในเรื่องนี้ ซึ่งผมเองเชื่อว่า ถ้าไม่ติดเรื่องว่าต้องชาร์จแบตเตอรี่ ก็คงจะตัดพอร์ตเชื่อมต่อทิ้งไปเลย

ผมคิดว่าในมุมมองของทางฝั่งผู้ผลิตนั้นก็คงเห็นยุทธศาสตร์ตรงนี้ของ Apple เช่นกัน จึงทำให้เราเห็นเหล่าลำโพงและเครื่องเสียงต่าง ๆ ที่ออกมาในปีนี้หลาย ๆ ตัว จะรองรับระบบ AirPlay มาเลย และร้าน Apple Store เองตอนนี้ก็จะขายลำโพงที่รองรับการเชื่อมต่อผ่าน AirPlay หรือ Bluetooth ในร้านของตัวเองเท่านั้น เพื่อเป็นการบีบให้ผู้ผลิตเครื่องเสียงต้องทำอุปกรณ์ที่รองรับ AirPlay ออกมา

ส่วนอุปกรณ์เสริมหมวดอื่น ๆ นั้น อาจจะได้รับผลกระทบบ้างก็จริง แต่อุปกรณ์ที่ออกมาแล้วจึงยังสามารถใช้งานได้กับ iPhone และ iPod touch รุ่นที่ใช้พอร์ต 30-pin ที่ยังมีการจัดจำหน่ายอยู่ได้ อย่างไรก็ตามทิศทางการออกอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ในอนาคตก็คงจะหันไปใช้การเชื่อมต่อแบบไร้สาย เช่น Bluetooth กันมากขึ้นแทน ส่วนอุปกรณ์ที่ยังต้องใช้ความเร็วและความเสถียรในการเชื่อมต่อ เช่น อุปกรณ์อัดเสียง ก็คงยังต้องใช้การเชื่อมต่อผ่าน Lightning ต่อไป ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนมากใช้การเชื่อมต่อแบบ USB จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนพอร์ตแบบใหม่สักเท่าไร ผู้ใช้แค่ซื้อสาย USB เส้นใหม่เท่านั้นเอง

อีกกลุ่มหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือส่วนการขายปลีก ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีนโยบายในการป้องกันตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงกะทันหันแบบนี้จากทาง Apple อยู่แล้ว โดยส่วนมากบริษัทพวกนี้จะสต๊อกสินค้าให้พอขายเพียงประมาณ 2 เดือนเท่านั้น เราจึงมักจะเจอว่าในช่วงที่สินค้า Apple รุ่นใหม่จะออกมา เราจะหาอุปกรณ์เสริม เช่น เคส ฟิล์มกันรอยลำบาก แต่ก็แลกกับว่าได้สินค้าในราคาที่ถูกลงมาก และในปีนี้ผู้นำเข้าเครื่องเสียงหลาย ๆ เจ้าก็พากันโล๊ะลำโพงที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ต 30-pin แบบถูก ๆ กันอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นส่วนขายปลีกจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากสักเท่าไร แต่ถึงจะมีปัญหาก็ยังสามารถที่จะพูดคุยกับทางผู้ผลิตเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ได้

สรุปแล้ว การที่ Apple หันมาใช้ Lightning แทนพอร์ต 30-pin แบบเก่า ผู้ใช้นั้นได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งาน iDevice ที่ลงทุนกับ ecosystem ในส่วนของอุปกรณ์เสริมเอาไว้ สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมแล้ว นี้คือโอกาสทองในการที่จะได้ขายสินค้าใหม่ ๆ ของตัวเองให้กับผู้ใช้เหล่านั้น สังเกตว่าหลาย ๆ บริษัททราบถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล่วงหน้ากว่าข่าวลือของ iPhone 5 ที่ค่อย ๆ หลุดมาให้พวกเรารู้ซะอีก

สุดท้ายแล้วผู้ได้ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ยังคงเป็น Apple อยู่ดี ที่จะกินอิ่มนอนหลับจากค่าลิขสิทธิ์และค่าชิปเซ็ต AirPlay ที่ขายให้เหล่าบริษัทผลิตอุปกรณ์เสริมนั้นเอง

Blognone Jobs Premium