บริษัท HGST (Hitachi Global Storage Technology) ที่รู้จักดีในฐานะอดีตบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อ Hitachi ซึ่งถูกซื้อโดย Western Digital ไปเมื่อปีก่อน ออกมาประกาศความสำเร็จในการพัฒนาฮาร์ดดิสก์บรรจุก๊าซฮีเลียมในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของโลก
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเราต้องบรรจุฮีเลียมลงไปด้วย เหตุผลมีอยู่ว่า ในปัจจุบันนี้ภายในฮาร์ดดิสก์ไม่ได้มีสภาพสูญญากาศ และเมื่อจานดิสก์หมุนด้วยความเร็วสูงนั้นจะถูกแรงต่างๆ กระทำ อย่างเช่นแรงต้านอากาศ ซึ่งส่งผลให้มอเตอร์ต้องใช้ไฟมากขึ้นและทำงานหนักขึ้นเพื่อเอาชนะแรงดังกล่าว นอกจากนี้เมื่ออากาศภายในเริ่มหมุนเวียนก็จะส่งผลให้เกิดแรงกระทำต่อหัวอ่านที่ต้องเลื่อนออกมาเพื่อทำการเขียนและอ่านข้อมูลตลอดเวลา ส่งผลให้ความแม่นยำในการเข้าถึงตำแหน่งข้อมูลได้อย่างถูกต้องลดลง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความจุของไดรฟ์โดยการบีบขนาดของแทรกข้อมูลลงไปได้อีก
ทั้งนี้การบรรจุก๊าซฮีเลียมเข้าไปแทนที่ในปริมาณ 1 ใน 7 ของอากาศนั้นจะทำให้แรงดังกล่าวมีน้อยลง ส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานได้เงียบขึ้น ลดการใช้พลังงานลง 23% และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้สามารถเพิ่มขนาดความจุของฮาร์ดไดรฟ์ด้วยการเพิ่มจำนวนจานดิสก์เป็น 7 จานจาก 5 จานในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อเทราไบต์ได้ถึง 45%
จริงๆ แล้วงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้จากการอัดก๊าซฮีเลียมเข้าในฮาร์ดดิสก์นั้นมีมานานแล้ว ซึ่ง Brendan Collins รองประธานฝ่ายการตลาดของ HGST กล่าวว่า "ปัญหาอยู่ที่ว่า บริษัทอื่นยังไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการรั่วของก๊าซฮีเลียมออกจากตัวไดรฟ์ รวมถึงความสามารถในการผลิตในปริมาณมากๆ ได้ต่างหาก"
อย่างไรก็ดี HGST ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการเอาชนะปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงขนาดความจุฮาร์ดไดรฟ์ที่จะผลิตออกมาในชุดแรก แต่บอกเพียงว่าตัวไดรฟ์จะออกสู่ตลาดได้ในปี 2013 โดยเจาะกลุ่มตลาดเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก
ที่มา : Wall Street Journal Blog ผ่าน Engadget