ที่งาน IDF 2012 อินเทลโชว์ต้นแบบของระบบส่งสัญญาณวิทยุ (transceiver) สำหรับ Wi-Fi ที่สร้างด้วยระบบดิจิทัลล้วนๆ ไม่มีแอนะล็อกแม้แต่น้อย
ถึงแม้ว่าการส่งสัญญาณวิทยุในปัจจุบันมีส่วนที่เป็นดิจิทัลอยู่มากแล้ว แต่ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความถี่ของสัญญาณ (เช่น phase modulation, frequency synthesis, RF power amplification) ยังเป็นแอนะล็อกอยู่ และเป็นปัญหาต่อการผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็ก เพราะชิ้นส่วนพวกนี้ไม่สามารถเล็กลงได้กว่านี้อีกแล้ว
อินเทลเลยพยายามคิดใหม่ทำใหม่ หาวิธีดัดแปลงชิ้นส่วนเหล่านี้ให้เป็นระบบดิจิทัลให้หมด โดยพัฒนาต่อจากอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 3G ในปัจจุบันที่เป็นดิจิทัลอยู่เยอะแล้ว เอามาดัดแปลงให้ใช้งานกับความถี่ของ Wi-Fi ที่ใช้ช่วงกว้างสัญญาณกว้างกว่ามาก (รายละเอียดทางเทคนิคว่าทำอย่างไร ดูกันเองในวิดีโอของอินเทล)
ความสำเร็จของอินเทลคือสามารถสร้างระบบส่งสัญญาณ Wi-Fi ที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด ผลิตที่เทคโนโลยีระดับ 32 นาโนเมตรได้สำเร็จ ซึ่งอินเทลระบุว่าการพาระบบส่งสัญญาณวิทยุเข้าสู่โลกดิจิทัล ก็จะอยู่ภายใต้กฎของมัวร์ด้วย ดังนั้นในอนาคตขนาดของมันจะเล็กลงเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีการผลิตของอินเทล มีประสิทธิภาพดีขึ้นในขณะเดียวกันก็กินไฟน้อยลง
ตอนนี้อินเทลเริ่มนำระบบส่งสัญญาณตัวนี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์จริงๆ บ้างแล้ว โดยจะอยู่ในชิป SoC รหัส Rosepoint ที่นำซีพียู Atom สองตัวมารวมกับ Wi-Fi transceiver ตัวนี้ อีกไม่นานเราคงได้เห็นมันออกสู่ตลาดครับ
ที่มา - Ars Technica, Intel