สัมภาษณ์ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการ VMware ประเทศไทย

by mk
19 September 2012 - 16:51

ช่วงนี้ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทไอทีระดับโลกที่ทำธุรกิจในประเทศไทยหลายท่าน (ดูข่าวเก่าหมวด Interview) รายล่าสุดคือ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เวียดนาม และภูมิภาคอินโดจีนของ VMware เจ้าพ่อแห่งเทคโนโลยี virtualization ที่เรารู้จักกันดี

หัวข้อที่คุยกันมีหลากหลาย ทั้งธุรกิจของ VMware ในประเทศไทย แนวโน้มของเทคโนโลยี virtualization และ cloud computing ในตลาดโลก รวมถึงงาน VMworld 2012 ซึ่งเป็นงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของบริษัท

เห็นว่าเพิ่งกลับมาจากงาน VMworld 2012 มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้าง เพราะปีนี้ VMware เปลี่ยนตัวซีอีโอด้วย

การเปลี่ยนตัวซีอีโอเป็นการเปลี่ยนตามวาระปกติอยู่แล้ว เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไม่มีปัญหาอะไร บนเวทีตอนส่งไม้ต่อกันก็ออกจะตลกด้วยซ้ำ

ตัวของ Paul Meritz ซีอีโอคนก่อนมาจากสายเทคโนโลยี เป็นคนมีวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีมาก ซึ่งตรงนี้ลูกค้าของเราชอบฟังเขาพูดเพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีจริงๆ ไม่ได้เน้นขายแบบฮาร์ดเซลส์

ส่วน Pat Gelsinger ซีอีโอคนใหม่ที่ย้ายมาจากบริษัทแม่อย่าง EMC นั้นก็ไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการไอที เขาเคยอยู่กับอินเทลมาก่อนด้วย และก็เป็นนักเทคโนโลยีมาก่อนเช่นกัน (หมายเหตุ: ระบบสัญญาณวิทยุดิจิทัลที่อินเทลเพิ่งนำมาโชว์ เป็นการริเริ่มของ Pat Gelsinger สมัยทำงานอยู่อินเทล) การเข้ามาของ Pat จะช่วยนำพา VMware ต่อจากเซิร์ฟเวอร์ไปยัง data center มากขึ้น

ตอนนี้ตลาด virtualization เริ่มนิ่ง ลูกค้าเข้าใจแล้วว่า virtualization คืออะไร ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ รู้แล้วว่ามันคือความจำเป็น คนเริ่มเปลี่ยนไปพูดถึงเรื่องกลุ่มเมฆกันแทน อันนี้จะตรงกับวิสัยทัศน์ใหม่ที่ VMware พยายามนำเสนอนั่นคือ “software-defined data center”

ซีอีโอของ VMware: Paul Meritz (ซ้าย) Pat Gelsinger (ขวา)

แสดงว่าโอกาสตลาดของ VMware ยังมีอยู่อีกมาก

ผมกล้าพูดว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดไอทีองค์กรไม่มีบริษัทไหนโตเร็วเท่า VMware ซึ่งตรงนี้รวมถึงกรณีของเมืองไทยด้วย ถ้าแยกผลประกอบการของ VMware ตามประเทศ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยถือเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุดประเทศหนึ่งของบริษัทเลย

ตอนนี้บริษัท VMware ถือว่าผ่านอะไรมามากพอสมควร มีที่ยืนในตลาดของตัวเอง ถ้าเป็นผู้ชายถือว่าโตเต็มวัยแล้ว fully mature บริษัทนี้เป็นบริษัทที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่เน้นการตลาดแบบเซ็กซี่ แต่เน้นความแตกต่างทางเทคโนโลยีจริงๆ

เรามีลูกค้าทั่วโลก 400,000 บริษัท ทุกบริษัทใน Fortune 100 ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราทั้งหมด ส่วนตลาดเมืองไทยถ้าเทียบกันในภูมิภาคยังตามหลังสิงคโปร์อยู่บ้าง แต่ช่องว่างก็แคบลงเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้บ้านเราตามสิงคโปร์ประมาณ 2 ปี ตอนนี้ลดเหลือประมาณปีเดียว การตามหลังคนอื่นไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป เวลามีซอฟต์แวร์อะไรใหม่ๆ ลูกค้าเอเชียได้เปรียบเพราะลูกค้าตะวันตกตรงที่ปัญหาต่างๆ ในซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ลูกค้าฝั่งตะวันตกเจอมาหมดแล้ว ลองมาหมดแล้ว แก้ได้หมดแล้ว เราตามอย่างเดียวก็สบาย

ลูกค้าในไทยของเรามีอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ พวกธนาคาร โทรคมนาคม สาธารณูปโภค ทุกรายเป็นลูกค้าของเราหมด ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กก็เยอะ บางรายมีเซิร์ฟเวอร์แค่ 2 ตัว แต่ผมพบว่ากลับเป็น SME ที่ซีเรียสกับคุณภาพของซอฟต์แวร์มากๆ ว่าห้ามพัง เพราะเค้ามีเซิร์ฟเวอร์น้อย พังแล้วกระทบกับธุรกิจทันที ความต้องการซอฟต์แวร์ที่ไว้วางใจได้จึงมีสูง

ตกลง VMware ขายอะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์ของเราโฟกัสอยู่ 3 ระดับหรือเลเยอร์

  • โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เราต้องการให้ตัว data center มีความยืดหยุ่น เสถียร ปลอดภัย เพื่อให้ไอทีสามารถเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น เป็นสิ่งสนับสนุนการประกอบธุรกิจ ไม่ใช่เป็นคอขวดขวางกั้นไม่ให้ธุรกิจเติบโต
  • แอพพลิเคชันแพลตฟอร์ม (application platform) เราอยากให้องค์กรมีแอพพลิเคชันทันสมัยมากขึ้น มีการแปลงให้เป็นแอพยุคใหม่ (modernize) ส่วนกระบวนการพัฒนาแอพต้องรวดเร็ว ระยะเวลาที่ใช้ทำแอพก่อนวางขาย (time-to-market) ต้องดีขึ้น แอพต้องเชื่อมโยงและเปิดกว้างกับคนอื่น คิดรองรับ big data ตั้งแต่ตอนนี้
  • การใช้งานไอทีของผู้ใช้ (end user computing - EUC) คำว่า EUC เป็นคำที่ VMware เรียกปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะการทำธุรกิจย้ายมาอยู่รอบๆ ตัวผู้ใช้งานแทนที่เราจะต้องอยู่แต่ในสำนักงาน ตรงนี้เป็นเป้าหมายของผลิตภัณฑ์อย่าง virtual desktop หรือผลิตภัณฑ์ตระกูล Horizon ของเรา

ผลิตภัณฑ์อย่าง virtualization ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท มีแนวโน้มอย่างไรบ้างในประเทศไทย

แนวโน้มในตลาด virtualization เห็นชัดเจนว่าเริ่มเปลี่ยนไป เดิมทีลูกค้าสนใจประโยชน์ของ virtualization หรือการยุบรวมเซิร์ฟเวอร์ (consolidation) อยู่ที่การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ค่าฮาร์ดแวร์ ค่าบำรุงรักษาซึ่งเป็นต้นทุนผูกพันทุกปี ไปจนถึงค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่

แต่เมื่อเริ่ม virtualize ไปถึงจุดนึงแล้ว ลูกค้าไม่ต้องการคำอธิบายอีกแล้วว่าทำไมต้อง virtualization เพราะเข้าใจประโยชน์กันหมดแล้ว ตอนนี้ลูกค้าที่ทำเสร็จไปแล้ว จะหันไปสนใจว่าขั้นต่อไปต้องทำอะไรต่อ

ตอนนี้ลูกค้าเริ่มมองไปถึงการ virtualize แอพพลิเคชันในองค์กรกันต่อแล้ว ถ้าซื้อแอพสำเร็จรูปยิ่งง่าย เพราะตอนนี้ในตลาดแอพพลิเคชั่นที่สามารถทำ virtualization ได้มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าเดินไปในทิศทางนี้มากขึ้น

ถ้าเอาตามตัวเลขของ Gartner เรามีส่วนแบ่งตลาด virtualization ในโลกราว 84% ผมบอกได้เลยว่าตัวเลขของเมืองไทยเยอะกว่านี้ เพราะลูกค้าคนไทยค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเรื่องซอฟต์แวร์ ถ้าเปลี่ยนมาใช้ virtualization เพื่อประหยัดต้นทุนแล้วผลที่ออกมาไม่เวิร์ค เขาจะไม่ทำ นี่ทำให้ VMware ที่เป็นผู้นำในตลาดนี้ได้รับความเชื่อถือมากกว่าคู่แข่งมาก ลูกค้าบอกต่อกัน ใช้แล้วเวิร์คก็บอกต่อ

ส่วนลูกค้าภาครัฐจะตามหลังภาคเอกชนอยู่บ้าง ตอนนี้กำลังจะเริ่มทำ virtualization กันแล้ว

ผังแสดงส่วนประกอบของ vSphere

ผลิตภัณฑ์ของ VMware ตัวไหนที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย?

vSphere (ซอฟต์แวร์สำหรับ server virtualization)

เชื่อไหมครับว่าลูกค้าไทยจำนวนมาก รู้จัก vSphere ก่อน VMware อีก หลายรายรู้จัก VMware ในฐานะบริษัทที่ขาย vSphere (หัวเราะ) แต่ตอนหลังๆ มานี้ตลาดไทยก็รู้จักผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเรามากขึ้น

ที่งาน VMworld เราเพิ่งออก vSphere 5.1 มีความสามารถใหม่เพิ่มขึ้นเยอะเลย เช่น ตอนนี้ 1VM สามารถรองรับซีพียูได้ 64 ตัวแล้ว หรือเวอร์ชันก่อนๆ จำเป็นต้องมี SAN storage ติดมาด้วยถึงจะใช้ได้ ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว ลดข้อจำกัดของการใช้งานลงได้มาก เซิร์ฟเวอร์ไม่ต้องแพงหรือครบมากก็รันได้

ทีนี้พอจำนวน VM ในองค์กรเริ่มเยอะขึ้น ลูกค้าจะเริ่มมองถึงเรื่องการบริหารจัดการ VM ภายในองค์กรเป็นลำดับถัดไป บางองค์กรในไทยมี VM มากระดับ 500-1,500 ตัว ตรงนี้เรามีซอฟต์แวร์ตระกูล vCenter ไว้บริหารจัดการต่อ

เรื่องความปลอดภัยเรามี vShield เอาไว้ประกันความปลอดภัยของข้อมูลใน VM เพราะตอนนี้ทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ physical แต่กลายเป็น logical วิธีของการจัดการความปลอดภัยก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย การใช้ vShield จะการันตีว่าฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยจะอยู่ในระดับของ logical ตามไปกับตัว VM ที่ย้ายที่อยู่ตลอด ในส่วนของ vShield นี้เรายังเปิดกว้างให้พาร์ทเนอร์รายอื่นๆ อย่าง Symantec หรือ Trend Micro เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื่อมต่อกันโดยผ่าน API ด้วย

ลำดับบนสุดก็มี vCloud เอาไว้บริหารจัดการกลุ่มเมฆ (cloud provisioning)

ผังแสดงการทำงานของ virtual data center

เห็นเมื่อกี้พูดถึงวิสัยทัศน์เรื่อง data center อยากให้ขยายความหน่อย

ฟังก์ชันการทำงานของฮาร์ดแวร์มันกำลังย้ายมาอยู่ที่ซอฟต์แวร์แทน

เราใช้คำว่า software-defined data center มีความหมายว่า all infrastructure delivered as a software ให้ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของ data center ทั้งหมด ความฉลาดย้ายไปอยู่ที่ซอฟต์แวร์

ทีนี้มาดูกันว่าเราจะย้ายฟังก์ชันของ data center ไปอยู่ที่ซอฟต์แวร์ได้อย่างไร คำตอบของ VMware คือทำให้ทุกอย่างทำงานในระดับ logical ให้หมด

เดิมที data center แต่ละแห่งมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวมันเอง คือมีส่วนของการประมวลผล (server) เครือข่าย (network) และแหล่งเก็บข้อมูล (storage) ทั้งหมดอยู่ในไซโลของตัวเองไม่ยุ่งกับใคร

VMware เราโตมาจากการแปลงส่วนประมวลผล จาก physical computing มาเป็น virtual computing ผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ตรงนี้คือ vSphere

ต่อมาเราขยายมายังส่วนของ network, storage และ security ให้เป็น virtual ตามมา ผลิตภัณฑ์ส่วนนี้คือ vCloud Director

พอส่วนประกอบต่างๆ เป็น virtual แล้ว ก็ต้องมีชั้นของการบริหารจัดการ ให้การทำงานต่างๆ เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ใช้แรงคนน้อยลง ซอฟต์แวร์ที่ใช้คือ vCenter และ vFabric

เมื่อตัว data center กลายเป็น software-defined data center ที่เหลือก็ง่ายแล้ว เราสามารถสร้าง virtual data center ขึ้นมาจาก hardware pool ได้เลย กรณีที่ผมให้บริการ public cloud ผมสามารถแยก virtual data center ให้ลูกค้าแต่ละรายได้เลย ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริง physical มันกองรวมอยู่ที่เดียวกันหมด แต่ข้อมูลของลูกค้าแยกขาดออกจากกัน

VMware Horizon Application Manager

เราพูดกันถึง virtualization บนเซิร์ฟเวอร์และ data center มาเยอะแล้ว ฝั่งของเดสก์ท็อปเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าสัก 12 เดือนก่อน ตลาด virtual desktop (VDI) ในไทยยังโตไม่พอ แต่ตอนนี้เราเริ่มทำตลาดบ้างแล้ว และประสบความสำเร็จมาก ตอนนี้ลูกค้าจะพูดเรื่อง virtual desktop ควบคู่ไปกับ virtual server เพราะตระหนักกันดีจากภัยพิบัติปีที่แล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่พบว่าตัว data center รอดจากน้ำท่วม ทำงานได้ไม่มีปัญหา อันที่เป็นปัญหากลับเป็นฝั่งพนักงานนี่แหละ เพราะต่อให้ data center อยู่รอด พนักงานมาทำงานไม่ได้ งานก็ไม่เดินอยู่ดี

ข้อจำกัดของ VDI คือมันจะใช้ทรัพยากรจากคอมพิวเตอร์ของพนักงานแค่การแสดงผลเท่านั้น ทุกอย่างไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์หมด ดังนั้นตัวโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีจึงต้องเข้มแข็งมาก โดยปกติแล้ว VM 1 ตัวให้บริการเดสก์ท็อปให้พนักงาน 100 คน ถ้าเป็นอะไรขึ้นมางานก็หยุดกันไปหมด ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของ VDI

ความแตกต่างของ VDI ของเราไม่ได้แข่งกับพวก terminal server โดยตรง เพราะเราถือว่าเราขายซอฟต์แวร์อย่างเดียว แต่บริษัทที่ขาย terminal server ขายฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ดังนั้นของเราอยู่ร่วมกับเขาได้ ฮาร์ดแวร์จะเป็นบริษัทไหนก็ได้ จะเป็น thin client หรือเป็นพีซีก็ได้ แต่ VMware อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ เน้นที่ความฉลาดของเซิร์ฟเวอร์

ในกรณีที่งานบางอย่างต้องอยู่บน physical desktop เช่น ข้อมูลสำคัญมากๆ หรือแอพบางอย่างของลูกค้ามันไม่เหมาะกับ VDI เราก็มีผลิตภัณฑ์อีกตัวชื่อ Mirage เอาไว้บริหารจัดการเดสก์ท็อปที่ยังต้องเป็น physical อยู่

หน้าจอของ VMware Horizon

แนวโน้มภาคธุรกิจตอนนี้ยังมีเรื่องของอุปกรณ์พกพาเข้ามา

อันนี้ชัดเจนมาก ผลิตภัณฑ์ของเราคือ Horizontal Suite (อ่านข่าว VMware ออก Horizon Suite ซอฟต์แวร์จัดการมือถือของพนักงานในองค์กร) นำแอพและข้อมูลต่างๆ ขององค์กรมาบริหารที่ศูนย์กลาง แล้วให้อุปกรณ์สารพัดชนิดติดต่อเข้ามาขอข้อมูลหรือใช้งานแอพจากที่เดียว ไม่อย่างนั้นถ้าไอทีองค์กรต้องให้บริการอุปกรณ์แต่ละชนิด แล้วคูณจำนวนแอพพลิเคชันอีกหลายแบบ จะยุ่งมาก

ผลิตภัณฑ์ตระกูล Horizon ให้บริการไอทีที่อยู่ในองค์กรแก่พนักงานที่อยู่ข้างนอกสำนักงาน เข้ามาใช้ได้ทั้งเดสก์ท็อป (ซึ่งเป็นเดสก์ท็อปเสมือนที่ทำงานบน VDI อยู่แล้ว) แอพพลิเคชันองค์กร และข้อมูลของพนักงานภายในองค์กร เรามีผลิตภัณฑ์ชื่อ Octopus เอาไว้แชร์ไฟล์ อธิบายง่ายๆ มันคือ Dropbox สำหรับองค์กร

ช่วงหลังเห็น VMware เริ่มผลักดัน Cloud Foundry ซึ่งเป็นการสร้างแอพพลิเคชันบนกลุ่มเมฆ เมืองไทยมีตรงนี้แค่ไหน

ตลาดเมืองไทยยังเน้นที่โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (device) ของพนักงานเป็นหลัก ส่วนของแอพบนกลุ่มเมฆยังเพิ่งเริ่ม

เอาเข้าจริงแล้วเมืองไทยมีแอพพลิเคชันบนกลุ่มเมฆที่สร้างโดยคนไทยน้อยมาก เพราะองค์กรไทยพึ่งพาแอพพลิเคชันสำเร็จจากเมืองนอกอย่างพวก Salesforce.com เยอะ ตรงนี้เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย องค์กรไทยยังนิยมเขียนแอพใช้เองภายในองค์กรมากกว่า เน้นมีทีมพัฒนาภายในองค์กรขนาดใหญ่ๆ ซึ่งตรงนี้คงต้องรอผู้บริหารไทยเปลี่ยนความคิดให้มาใช้แอพบนกลุ่มเมฆที่ให้บริการโดยบริษัทอื่นๆ แทน

กลับมาตอบคำถาม Cloud Foundry ในบ้านเรายังไม่มีองค์กรไหนใช้จริงจัง ตอนนี้เราเน้นไปที่ vFabric คือการย้ายแอพพลิเคชั่นเก่าๆ มารันบนสภาพแวดล้อมแบบ virtualized มากกว่า คิดว่าอีกสัก 1-2 ไตรมาสน่าจะมีคนเริ่มใช้ Cloud Foundry กันบ้าง

ตลาดบ้านเรายังถูกขับเคลื่อนโดยส่วนของโครงสร้างกับอุปกรณ์เป็นหลัก แต่ตลาดก็เริ่มขยับมาสู่กลุ่มเมฆบ้างแล้ว เราเพิ่งเซ็นสัญญากับบริษัทไทยเพื่อให้บริการ public cloud โดยใช้เทคโนโลยีของ VMware ไป 5 ราย ผมเปิดเผยชื่อได้ 2 รายคือ INET กับ ISSP ที่เหลือเป็นพวกโอเปอเรเตอร์นั่นแหละ

คำถามปิดท้ายครับ เนื่องจาก Blognone มีคนไอทีอ่านเยอะพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาสายไอที อยากทราบว่าในมุมของ VMware อยากให้นิสิตนักศึกษามีทักษะด้านใดบ้าง จึงจะตรงกับที่ตลาดต้องการ

ตอนนี้บริษัทไอทีในเมืองไทยขาดคนมาก ในส่วนของ VMware เอง บอกได้เลยว่าคนที่ได้ VMware certified ขาดตลาดมาก คนที่มีอยู่แล้วถูกแย่งตัวกันมาก เงินเดือนขึ้นพรวดๆ เพราะองค์กรต้องรักษาเอาไว้

อันนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะ VMware เท่านั้นที่ต้องจ้างพนักงานที่ได้รับ VMware certified นะครับ พาร์ทเนอร์ของเราก็ต้องการ หรือลูกค้าของเราที่ซื้อซอฟต์แวร์ของ VMware ไปใช้ในองค์กรก็ต้องการ เพราะการนำเทคโนโลยี virtualization ไปใช้ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ คุณซื้ออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคนทำเป็นอยู่ในองค์กรของลูกค้าด้วย จะได้ไม่ต้องพึ่งพาพาร์ทเนอร์ขายซอฟต์แวร์อยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าตลาดนี้กว้างมาก คนที่สนใจด้าน virtualization มีโอกาสทำงานเยอะ

ดังนั้นถ้ายังเรียนอยู่ในสายไอที แนะนำว่าสนใจฝึกด้าน virtualization ไว้ก็เป็นเรื่องดี มันเป็นเทคโนโลยีกลางๆ เหมือนกับคุณรู้เรื่อง network สามารถประยุกต์ใช้ได้กับซอฟต์แวร์ของแต่ละบริษัทอีกทีหนึ่ง แต่แน่นอนว่ารู้ทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอหรอก คุณต้องลงมือฝึกหัดกับงานของจริงด้วย ถ้าทำได้ครบตามนี้รับรองได้ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก บริษัทต่างๆ รับคนเพิ่มตลอดเวลา บริษัทเราเองก็เพิ่งรับมาอีกหลายคน

ในต่างประเทศ VMware เริ่มทำโครงการกับภาคการศึกษาแล้ว โดยนำของจริงของเราไปสอนในมหาวิทยาลัย เตรียมข้อมูล เตรียมเองสารให้อาจารย์ไปสอนได้ สำหรับเมืองไทยตอนนี้ยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งก็หวังว่ามหาวิทยาลัยในไทยจะสนใจ

Blognone Jobs Premium