รีวิวโน้ตบุ๊คธุรกิจ Dell Latitude E6430s

by pawinpawin
1 October 2012 - 10:54

ผมได้รับโอกาสจากทาง Blognone ให้รีวิวเจ้า Dell Latitude E6430s ดูครับ ก็ต้องขอขอบคุณทาง Blognone ที่ให้โอกาสลองใช้นะครับ เป็นรีวิวครั้งแรกของผมด้วยถ้าผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

ในฐานะที่เคยใช้ E6400 รุ่นพี่เป็นเครื่องหลักมาก่อน แต่ตอนหลังผมเปลี่ยนมาใช้ ThinkPad x220 ด้วยเหตุผลด้านน้ำหนัก ก็จะขอรีวิวเทียบกันกับทั้งเครื่องรุ่นพี่อย่าง E6400 กับ x220 ตัวประจำที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันด้วยกันเลย โดยทั้งสามตัวนี้อยู่ในตลาดผู้ใช้ในกลุ่มธุรกิจเหมือนกันครับ (จริงๆ ถ้าเทียบกับ ThinkPad รุ่นที่ชนกันตรงๆ น่าจะเป็น T430 ครับ)

เท่าที่ทราบมาโน้ตบุ๊ค Latitude E นี้ในประเทศไทยจะมีช่องทางในการจัดจำหน่ายเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเท่านั้น ซึ่งก็เป็นมาตั้งแต่สมัย E6400 แล้ว คนที่อยากได้ก็จะอาจจะต้องฝากที่ทำงานซื้อ หรือไม่ก็เข้าเว็บชุมชนอย่าง ThaiDellClub ซึ่งมีคนมาปล่อยเป็นระยะๆ (เข้าใจว่าสั่งมาพร้อมกับองค์กรอีกที) ผิดกับทาง Lenovo ThinkPad ซึ่งมีขายตามหน้าร้านทั่วไป ไม่ต้องลำบากมากในการหา สำหรับสนนราคาค่าตัวของเจ้า E6430s รุ่นที่ผมได้รีวิวนี้ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาท (ซึ่งอยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกับ ThinkPad x series อีกด้วยครับ)

สาเหตุที่ค่าตัวมันดูจะแพงกว่าโน้ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะระบบดูแลหลังการขายของลูกค้าองค์กรของ Dell และประกันเครื่องแบบ Complete Cover ที่ประกันแม้คุณจะทำเครื่องเป็นรอยหรือโดนน้ำก็ยังสามารถเคลมได้ และจากที่เคยใช้บริการพบว่าทาง Dell ก็ส่งช่างมาให้บริการถึงที่และไม่มีปัญหาในการเคลมเลย เรียกว่าเคลมง่ายกันมากๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้หลายๆ คนยังมีความสนใจในเครื่องในรุ่นธุรกิจของ Dell อยู่

สเปคคร่าวๆ ของเครื่องที่ได้รับมารีวิวคือ (สเปคเต็มๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ และดูรายละเอียดได้จากเว็บของ Dell)

  • หน่วยประมวลผล Intel Core i5 3320M (Ivy Bridge) ทำงานที่ 2.6Ghz
  • ตัวประมวลผลกราฟิค Intel HD 4000, จอแสดงผลขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 1366x768 พิกเซล (เพิ่มเงินเลือกกราฟิคเป็น Quadro และจอละเอียด 1600x900 ได้)
  • Ram DDR3 4 GB
  • HDD 320 GB
  • DVD RW
  • Gigabit LAN, Wireless N, Bluetooth 4.0
  • แบตเตอรี่ขนาด 6 เซลล์ ความจุ 65 Watt-hr (มีแบตแบบ 9 เซลล์ต่อที่ฐานเพิ่มได้ และสามารถถอด DVD แล้วใส่แบตเตอรี่ได้อีก 3 เซลล์ ซึ่งมีข่าวว่าถ้าใส่แบบเต็มที่แล้วจะอยู่ได้ถึง 32.7 ชั่วโมง.. เกินวันกันเลยทีเดียวครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

Latitude E series นั้นเปลี่ยนตัวถังล่าสุดเมื่อครั้งที่เปลี่ยนจาก E6410 มาเป็น E6420 ครับ ต้องยอมรับว่าตัวถังเดิมนั้นมีความเป็นเหลี่ยมมากกว่า อีกทั้งตำแหน่งของโลโก้ก็จัดวางอยู่ในมุมที่ดูดี ในขณะที่ตัวถังใหม่นั้นโลโก้ถูกจัดวางไว้ตรงกลางและมีวงกลมล้อมรอบ เข้าใจว่าเพื่อที่จะให้ดูเหมือนกับโน้ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ของเดลล์ แต่การทำแบบนี้ก็ทำให้ดูลดความเป็นมือโปรไปสัก 10%

จากรูปด้านซ้ายคือ E6430s ด้านขวาที่อยู่ข้างใต้คือ E6400 ครับ

อย่างไรก็ดีสำหรับวัสดุแบบ Tri-Metal ที่ประกอบไปด้วย Brushed Aluminium ที่ฝาหน้า, Magnesium Alloy ที่ขอบสีเงินของตัวเครื่อง และฝาหลังที่เป็น Magnesium Alloy เคลือบแบบด้าน ประกอบกับงานประกอบที่ต้องยอมรับว่าแข็งแรงและไม่มีเสียงกรอบแกรบแม้แต่น้อย ทำให้เมื่อได้ใช้มือจับแล้วก็รู้สึกถึงความแข็งแรงทนทานทีเดียว ก็พอจะชดเชยข้อเสียของรูปร่างภายนอกไปได้บ้าง สำหรับงานประกอบและวัสดุนี้เมื่อเทียบกับ ThinkPad x220 ที่ผมใช้อยู่แล้วผมขอให้เจ้า E series ชนะไปได้เลยครับ (ของแบบนี้ต้องลองจับดูเองด้วยนะครับ) อ้อ เนื่องจากตัวเครื่องเป็นโลหะทำให้บางครั้งเมื่อไม่ได้ต่อสายดินมีไฟดูดเล็กน้อยพอคันมือครับ

ส่วนเรื่องขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่อง ต้องยอมรับว่ามีขนาดใหญ่และดูหนากว่าเครื่อง 13-14 นิ้วทั่วๆ ไป และน้ำหนักที่โฆษณาไว้ว่า 1.7 กก.นั้นก็ต่อเมื่อใช้แบตขนาดเล็กและไม่ใส่ DVD เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราใช้แบต 6 เซลล์ที่มากับเครื่องพร้อมกับ DVD แบบเครื่องที่ใช้นี้จะได้น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกว่าๆ ซึ่งก็นับว่าหนักกว่าโน้ตบุ๊คแบบ Ultrabook ที่เป็นที่นิยมกันมากพอควร (ทั้งนี้ยังไม่นับ Adaptor อีกซึ่งหนักประมาณ 300 กรัม)
ด้านหน้าของตัวเครื่องเลยจะพบกับที่เสียบการ์ด SD อยู่ตรงกลาง และมีรูระบายอากาศด้านข้าง

ด้านซ้ายของเครื่องมีพอร์ต VGA, ที่เสียบหูฟัง 3.5 มม., ช่องสำหรับเสียบ Smart Card (ซึ่งมีใน Latitude E6xxx แทบทุกรุ่น) และด้านล่างเป็นช่องสำหรับถอดฮาร์ดดิสก์ออกมาได้ครับ

ด้านขวาของเครื่องนั้นไล่จากด้านหลังก็มีพอร์ต Combo USB 2/SATA ตามมาด้วย USB 3 หนึ่งช่อง สวิตช์เปิดปิด Wireless, ช่องสำหรับเสียบ Express Card/34 หนึ่งช่อง และ Drive Bay ที่มี DVD มาพร้อมกับเครื่อง (สามารถซื้อ HDD หรือแบตเตอรี่เสริมมาแทน DVD ได้)

ส่วนด้านหลังเครื่องนั้นก็จะมีพอร์ต RJ 45 สำหรับเสียบ Gigabit LAN, Mini HDMI และอีกฝั่งเป็น USB 3 อีกหนึ่งช่อง และที่เสียบสายชาร์จ สำหรับแบตเตอรี่แบบ 6 เซลล์นั้นเวลาใส่แล้วมันจะดูยื่นๆ ออกจากตัวเครื่องหน่อยซึ่งทำให้ดูเทอะทะเล็กน้อย

โดยรวมแล้วโน้ตบุ๊คตัวนี้เสียบ USB ทั้งหมดได้สามช่อง (นับ Combo USB 2/SATA แล้ว) ซึ่งผมว่ามันน้อยไปนิดหน่อยสำหรับโน้ตบุ๊คแบบ 14 นิ้ว เพราะตัวเก่า E6400 นั้นสามารถเสียบได้ถึง 4 ช่องด้วยกันครับ และเมื่อเทียบสัดส่วนกับ E6400 แล้วพบว่าเจ้า E6430s นั้นมีความกว้างน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ (ยิ่งถ้าใช้แบตเตอรี่ 3 เซลล์น่าจะยิ่งเห็นความแตกต่างเนื่องจากจะไม่ยื่นออกมาจากตัวเครื่องแบบนี้)

เทียบกันระหว่าง iPad2, E6430s และ E6400 ครับ

ที่เสียบสายชาร์จนั้นจะมาในรูปแบบทำมุมเอียงกับตัวเครื่อง ทำให้เวลาเสียบสายแล้วจะดูแปลกๆ เล็กน้อย มีโอกาสเสียบผิดได้เพราะไม่ได้ตั้งฉากกับตัวเครื่อง แต่ผมก็ยังไม่พบปัญหาในเบื้องต้น ที่ชาร์จ ที่ให้มากับเครื่องเล็กกว่าแบบบางของ E6400 ที่ผมมี โดยมีขนาดใกล้เคียงกับที่ชาร์จที่มากับ ThinkPad x220 ซึ่งมีขนาด 65 Watt เท่ากันครับ แต่ตอนนี้ไฟแสดงผลของที่ชาร์จนั้นย้ายกลับไปที่ตัว Adaptor แล้วไม่เหมือนกับตัวเก่าที่มีไฟขึ้นที่หัวเสียบทำให้รู้ได้ว่ามีไฟเลี้ยงในกรณีที่เราวาง Adaptor ไว้ไกลจากตัวเครื่อง

ฝาหน้าของเครื่องเป็นแบบพับขึ้นโดยไม่มีตัวขาล็อกซึ่งนิยมในช่วงหลังๆ โดยเราสามารถเปิดได้ถึง 180 องศา เท่าที่เปิดปิดก็ยังไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ เปิดฝาได้ราบลื่นไม่มีสะดุด และตอนปิดก็ไม่พบว่ามีปัญหาฝาอ้าใดๆ ครับ อ้อ มีอีกอย่างที่เป็นข้อสังเกตเล็กน้อยคือเวลาเปิดฝาหน้าซึ่งมีรอยเว้าอยู่ตรงกลางนั้น จะมีโอกาสที่นิ้วโป้งไปสัมผัสกับกล้องของเว็บแคม อาจทำให้เป็นรอยได้ครับ

เมื่อเปิดฝาเครื่องเข้ามาก็จะพบกับจอขนาด 14 นิ้ว ซึ่งให้ความสว่างในเกณฑ์ดี ตัวจอนั้นเป็นแบบด้าน (matte) ซึ่งเป็นธรรมดาของโน้ตบุ๊คธุรกิจในการลดแสงสะท้อนจากตัวจอ และมีเว็บแคมอยู่ด้านบนเหนือจอภาพครับ

สำหรับบริเวณคีย์บอร์ดนั้นด้านซ้ายมือจะเป็นไฟแสดงสถานะของฮาร์ดดิสก์ แบตเตอรี่และ Wireless ด้านขวามือบนเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง และมีปุ่มเพิ่มลดเสียง และปิดเสียงอยู่ด้านขวามือของคีย์บอร์ด

คีย์บอร์ดในตัวที่ผมได้ใช้นั้นเป็นแบบมีไฟส่องมาจากด้านล่าง (Back-lit) (จากประสบการณ์ในฐานะผู้ใช้ที่พิมพ์สัมผัสได้นั้นพบว่าแสงไฟคีย์บอร์ดนั้นจริงๆ แล้วแทบไม่จำเป็นเลยนอกจากเอาไว้ให้สวยงามเล่นๆ) ไฟจะดับเองเมื่อไม่มีการใช้งานคีย์บอร์ดครับ

สำหรับสัมผัสของคีย์บอร์ดนั้นพบว่าทำได้นุ่มนวลกว่าที่คาด ถึงแม้แป้นนั้นจะไม่ได้เป็นแบบ Chicklet ตามสมัยนิยม แต่ระยะห่างระหว่างคีย์และสัมผัสที่นุ่มได้ที่ของคีย์นั้นทำได้ดีทีเดียวครับ

ปุ่มต่างๆ บนคีย์บอร์ดนั้นอยู่ในแบบมาตรฐาน โดยมีปุ่ม Ctrl อยู่ด้านล่างซ้ายสุด และ Fn อยู่ถัดมาผิดกับบางรุ่นที่จะสลับกัน (ThinkPad x220 ที่ผมใช้อยู่มันสลับกันทำให้ใช้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าจะปรับกลับใน Bios ได้ก็เหอะ) และนอกเหนือจากปุ่มเหย้าอย่าง F, J ที่มีพลาสติกนูนขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้สะดวกแล้ว ปุ่มอย่าง ESC, Delete, ปุ่มกดลงล่าง ก็มีพลาสติกนูนขึ้นเล็กน้อยเหมือนกันทำให้เราไม่ต้องละสายตามาหาคีย์บอร์ดเท่าใดนัก

ข้อดีอีกอย่างของโน้ตบุ๊ค Dell คือเราสามารถกด Fn พร้อมกับปุ่มตัวเลขเพื่อพิมพ์ตัวเลยได้เลยโดยไม่ต้องกด Numlock ไว้ซึ่งทำให้สะดวกมากเวลาต้องพิมพ์เอกสารที่มีทั้งตัวอักษรและตัวเลขสลับกัน

นอกจากนี้เมื่อวางอุ้งมือลงบนคีย์บอร์ดแล้วตัวพลาสติกที่อุ้งมือก็ให้ความรู้สึกนุ่มนิดๆ (และอุ่นนิดๆ ด้วยจากตัวเครื่อง) ทำให้การพิมพ์บนคีย์บอร์ดของรุ่นนี้ได้ความรู้สึกดีทีเดียวเลยครับ

เครื่องนี้มาพร้อมทั้ง Pointing Stick และ TouchPad ตามแบบฉบับของโน้ตบุ๊คธุรกิจ สำหรับคนที่ใช้คีย์บอร์ดบ่อยๆ แล้วการมี Pointing Stick นี่ทำให้เราไม่ต้องเคลื่อนมือของเราออกมาเพื่อไปหา TouchPad เลย โดย Pointing Stick ของ Dell นั้นจะต่างจาก “จุกแดง” ของ ThinkPad ตรงที่มันจะเป็นตุ่มบุ๋มลงไปผิดกับตุ่มแดงที่นูนออกมาของ ThinkPad ครับ ซึ่งเท่าที่ใช้งานมาไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก และใช้ได้ลื่นไม่มีปัญหาอะไร

ในส่วนของ TouchPad นั้นก็มีขนาดมาตรฐาน และสามารถใช้สองนิ้วแตะเพื่อเลื่อนได้ แต่คงไม่สามารถไปเทียบกันได้กับความลื่นของ Trackpad ของฝั่ง Mac ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากตัว OS ด้วย

บริเวณด้านล่างขวามือของคีย์บอร์ดก็จะมีจุดแตะการ์ดแบบ RFID ซึ่งก็มีอยู่ตั้งแต่ E6400 เช่นกันครับ และแน่นอนสำหรับโน้ตบุ๊คแบบนี้ก็คงจะขาดกันไม่ได้สำหรับตัวอ่านลายนิ้วมือครับ แต่ไม่มีไฟแสดงผลว่ากำลังใช้อยู่แบบ ThinkPad ครับ

รูปลักษณ์ภายใน

สำหรับโน้ตบุ๊คธุรกิจแล้วเชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่ได้ซื้อกันที่ความสวยงามภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว การปรับแต่งให้ตรงกับความพอใจน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่โน้ตบุ๊คแบบนี้ยังคงขายได้อยู่ สำหรับ Dell E6430s นั้นก็ยังสามารถเข้าถึงตัวเครื่องด้านในได้จากฝาด้านใต้เครื่องครับ

ด้านใต้เครื่องนั้นก็จะมีช่องสำหรับเชื่อมต่อกับ Port Replicator เหมือนทั่วๆ ไป ซึ่งทำให้มีความสะดวกสำหรับคนที่ต้องย้ายเครื่องจากที่บ้านไปที่ทำงานบ่อยๆ ไม่ต้องมาถอดสายเสียบสายกันให้วุ่นวาย และยังสามารถเพิ่มพอร์ตให้ต่อออกจอได้ รวมถึงเพิ่มพอร์ตที่หาได้ยากจากโน้ตบุ๊คทั่วไปอย่าง PS/2, Serial และ Parallel Port อีกด้วย (น่าเสียดายที่ผมไม่ได้รับตัว Port Replicator นี้มารีวิวด้วยครับ) อย่างไรก็ดีเนื่องจากแบนด์วิธของสายเชื่อมต่อภายนอกที่มากขึ้น (เช่น USB 3 หรือ Thunberbolt) ที่มากขึ้นทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มจะเลิกใช้ Port Replicator หันไปใช้พอร์ตเหล่านั้นในการส่งข้อมูลแทน

ในการเปิดเข้าสู่ตัวเครื่องด้านในนั้น เราจำเป็นต้องไขน็อตสี่แฉกด้วยกันถึง 5 ตัว ซึ่งยุ่งยากกว่าในรุ่น E6400 ที่ไขเพียงแค่ตัวเดียวก็สามารถเปิดฝาหลังออกมาได้ทั้งแผงครับ

เมื่อเปิดฝาหลังออกมาแล้วเราจะพบกับแรมซึ่งอยู่บริเวณตรงกลางของเครื่องเลย ในเครื่องที่ทดสอบนั้นได้ให้แรม 2 GB มาสองแผง ทำให้ใช้เต็มสล็อต 2 อันที่มีอยู่ครับ

สำหรับมินิการ์ดที่มากับเครื่องนั้นมีเพียงการ์ด Wireless แบบครึ่งใบเพียงตัวเดียวครับ ทำให้เหลือช่องแบบเต็มใบและครึ่งใบอีกอย่างละช่องครับ

ฮาร์ดดิสก์ที่ให้มากับเครื่องทดสอบเป็น Seagate Momentus Thin ซึ่งเป็นแบบบาง (ความหนาของตัวฮาร์ดดิสก์เพียง 7 มม. นิยมใช้กับโน้ตบุ๊คขนาดเล็กมากกว่า) ความเร็ว 7200 RPM ความจุ 320 GB ซึ่งจริงๆ แล้วตามสเปคโน้ตบุ๊คตัวนี้สามารถใส่ฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้วขนาดหนาได้ครับ

ซอฟต์แวร์และประสิทธิภาพของเครื่อง

ระบบปฏิบัติการที่ให้มากับเครื่องที่ทดสอบนั้นเป็น Windows 7 Professional SP1 ซึ่งก็ทำงานเข้ากันกับไดรเวอร์ที่ให้มาได้ดีไม่มีปัญหาอะไรครับ

โปรแกรมควบคุมเครื่องที่มาพร้อมกันก็จะมีโปรแกรม Dell Access ไว้ดูแลด้านความปลอดภัยของตัวเครื่อง, โปรแกรม Smart Settings เป็นตัวตั้งโปรไฟล์ของเครื่อง, Dell Battery Information ดูข้อมูลแบตเตอรี่, Dell Backup and Recovery Manager สำหรับแบคอัพระบบ และโปรแกรมทดลองการใช้งานเว็บแคม

ในจุดนี้ผมมองว่าโปรแกรมที่ให้มาของ Dell นั้นยังคงด้อยกว่าของ ThinkPad เนื่องจากไม่มีโปรแกรมช่วยตั้งโปรไฟล์การเชื่อมต่อแบบ Access Connections ของ ThinkPad ที่อำนวยความสะดวกในการตั้งค่า IP, DNS, Proxy ให้อัตโนมัติได้เมื่อเราอยู่ที่ทำงานครับ

สำหรับการตั้งค่าใน Bios นั้นของ Dell จะใช้แบบกราฟฟิค ซึ่งสามารถใช้เม้าส์ได้ ในจุดนี้ผมว่าสะดวกกว่า ThinkPad ที่ใช้โหมดตัวอักษรครับ

ทางด้านประสิทธิภาพของตัวเครื่องนั้นผมได้ลองทดสอบด้วยการลง Microsoft Office 2013 Preview, Visual Studio 2012 Express พบว่าความเร็วอยู่ในเกณฑ์ดีครับ ไม่รู้สึกว่าหน่วงหรือช้าอะไรถึงแม้เปิดเอกสารหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้แล้วผมยังได้ลองลงเกมอย่าง Starcraft 2 (ซึ่งผมเชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเล่นเกมอยู่บ้างแต่ไม่ได้เล่นเกม 3D โหดๆ) ต่อออกจอภายนอกความละเอียด 1920x1200 ปรับได้สูงสุดที่ Moderate ครับ ปรับสูงกว่านั้นจะเริ่มหน่วงแบบรู้สึกได้ อย่างไรก็ดีหากต้องการเล่นเกมหรือใช้โปรแกรม 3D หนักๆ ก็ควรสั่งการ์ดจอ Quadro มาใช้มากกว่าครับ

ด้านความปลอดภัย

เนื่องจากโน้ตบุ๊ครุ่นนี้นั้นออกแบบมาสำหรับองค์กร จึงมีระบบดูแลความปลอดภัยของตัวเครื่องที่ค่อนข้างรัดกุม โดยระบบความปลอดภัยนั้นจะใช้งานร่วมกับชิป Trusted Platform Module ซึ่งจะปกป้องข้อมูลสำคัญไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าใช้งานตัวเครื่องได้ โดยระบบนี้จะใช้งานร่วมกับโปรแกรม Dell Protection Access ซึ่งจะทำงานร่วมกับไบออส และวินโดวส์

เนื่องจากตัวเครื่องสนับสนุนการยืนยันตัวทั้งแบบใช้การพิมพ์รหัสผ่าน, การสแกนลายนิ้วมือ, การใช้การ์ดแบบ contact ที่มีตัวเชื่อมต่อสีทอง (แบบซิมการ์ด), และการ์ดแบบ RFID ทำให้มีความสะดวกในการยืนยันตัวมากทีเดียวครับ เจ้า x220 ที่ผมใช้งานอยู่นั้นยังมีแค่ตัวสแกนลายนิ้วมือเพียงอย่างเดียวครับ

นอกจากนี้ตัวซอฟต์แวร์ที่ใช้นั้นเมื่อตั้งค่าใช้การ์ดแบบ RFID แล้วสามารถที่จะใช้บัตรพนักงานที่เราใช้แตะเข้า-ออกงาน หรือเข้าที่จอดรถกันทุกวันนี้ในการอนุญาตผ่านเข้าใช้เครื่องได้เลย ซึ่งน่าจะสะดวกมากสำหรับผู้ใช้แบบองค์กร (เท่าที่ผมได้ลองสามารถใช้บัตรพนักงานของผมได้ แต่จะใช้กับบัตรที่มีการเข้ารหัสอย่างบัตรรถไฟฟ้าไม่ได้) และตัวอ่านลายนิ้วมือของเดลล์ผมว่ามันอ่านได้แม่นกว่าของ ThinkPad ที่ผมใช้อยู่ โดยของ ThinkPad ผมต้องสแกนโดยเฉลี่ย 4-5 ครั้งกว่าจะเข้าได้เนื่องจากมันอ่านแล้วขึ้น Bad Quality ตลอดในขณะที่ของ Latitude ผมสแกนครั้งเดียวก็ผ่านเลย

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ ThinkPad ยังเหนือกว่าก็คือสามารถตั้งค่าให้ตัวสแกนลายนิ้วมือทำหน้าที่แทนปุ่มเปิดเครื่องได้ด้วย (คือถ้าสแกนถูกก็จะเปิดเครื่องพร้อมเข้าวินโดวส์ให้ทีเดียวเลยไม่ถามอะไรอีก) ซึ่งของ Latitude เรายังคงต้องกดเปิดเครื่องก่อน แล้วค่อยสแกนลายนิ้วมืออีกที ซึ่งทำให้เสียเวลานิดหน่อยครับ

การใช้พลังงานและแบตเตอรี่

ผมได้ลองใช้เครื่องตั้งแต่ตอนแปดโมงเช้าจนถึงสิบเอ็ดโมงโดยปรับหน้าจอสว่างสุด เปิดการใช้งาน Wireless LAN และใช้งานโปรแกรมเอกสารทั่วไปและเล่นอินเทอร์เน็ต พบว่าเมื่อถึงตอนสิบเอ็ดโมงแบตเตอรี่ก็ยังเหลืออยู่ประมาณครึ่งหนึ่งครับ และสามารถใช้งานต่อในช่วงบ่ายได้ถึงประมาณบ่ายโมงเครื่องจึงแจ้งเตือน ทำให้ได้ระยะเวลาทั้งหมดในการใช้งานประมาณ 5 ชั่วโมงซึ่งก็ไม่ต่างกับโน้ตบุ๊คอื่นๆ แต่ข้อดีของรุ่นนี้คือเราสามารถใส่แบตเตอรี่เสริมได้อีกสองก้อน (ก้อนหนึ่งแทน DVD และอีกก้อนใส่ที่ฐาน) ก็น่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้โน้ตบุ๊คที่สามารถเก็บแบตเตอรี่ได้นานๆ ครับ

สรุป

กล่าวโดยสรุปแล้วเท่าที่ผมได้ลองใช้งานเครื่องนี้พบว่า Latitude ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีอีกตัวเลือกหนึ่งของโน้ตบุ๊คธุรกิจ โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยใช้ Latitude รุ่นเก่ามาก่อน เพราะอุปกรณ์บางอย่างเช่น Adaptor นั้นสามารถใช้ของเดิมได้

สำหรับความคุ้มค่านั้นถ้าเทียบกับวัสดุ การประกอบ และประกันที่ได้รับแล้วก็นับว่าไม่เลวทีเดียวครับ นอกจากนี้แล้วการที่เราสามารถแกะเครื่องออกมาเปลี่ยนอุปกรณ์ได้เองนั้นก็น่าจะถูกใจหลายๆ คน และอุปกรณ์เสริมอันหลากหลายที่มีให้เลือก(ซื้อ) ก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากจากโน้ตบุ๊คทั่วๆ ไปครับ

สิ่งที่ชอบ

  • วัสดุที่เป็นเหล็กและการประกอบที่แน่นหนาทำให้ตัวเครื่องดูทนทานเมื่อได้สัมผัส
  • คีย์บอร์ดที่นุ่มน่าพิมพ์มาก ระยะห่างของปุ่มและการจัดวางปุ่มบนคีย์บอร์ดทำได้ดี
  • ระบบความปลอดภัยที่แน่นหนา
  • อ่านลายนิ้วมือได้ลื่นดีไม่มีปัญหา
  • สามารถใช้บัตรพนักงานแบบ RFID ล็อกอินแทนรหัสผ่านได้เลย
  • สามารถเปลี่ยน เพิ่มเติมอุปกรณ์ในตัวเครื่องได้ง่าย
  • มีอุปกรณ์เสริมให้เลือกมากมาย และสามารถใช้อุปกรณ์จาก Latitude รุ่นเก่าได้
  • ประกันของ Dell เคลมง่ายและมีให้เลือกแบบที่ประกันอุบัติเหตุด้วย

สิ่งที่อยากให้ปรับปรุง/ข้อสังเกต

  • การออกแบบตัวเครื่องที่ดูแล้วไม่โปรเท่าที่ควร (ขอแบบเหลี่ยมๆ E6400 เหมือนเดิมได้ไหม)
  • น้ำหนักและขนาดยังมากอยู่เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คทั่วไป
  • สายชาร์จเสียบแบบเอียงๆ
  • เวลาเปิดฝาเครื่องนิ้วโป้งมักไปโดนเว็บแคม
  • พอร์ต USB มีแค่ 3 แห่ง (น่าจะมีสัก 4)
  • การเปิดเข้าตัวเครื่องด้านในต้องไขน็อตถึง 5 ตัวเมื่อเทียบกับรุ่นตัวถังเก่าที่ไขเพียง 1 ตัว
  • ซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องยังดีไม่เท่าของ ThinkPad
  • ราคาที่ยังคงสูงอยู่ ประกอบกับการหาซื้อได้ยากทำให้โน้ตบุ๊ครุ่นนี้อาจจะไม่อยู่ในสายตาของหลายๆ คน ครับ
Blognone Jobs Premium