กสท. มีมติสรุปช่องรายการทีวีดิจิทัล เริ่มประมูลใบอนุญาตปลายปีนี้

by ตะโร่งโต้ง
1 October 2012 - 18:12

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติอนุมัติจำนวนช่องรายการทีวีดิจิทัลทั้งหมด 60 ช่อง แบ่งสัดส่วนเป็นช่องบริการสาธารณะ 20%, ช่องบริการชุมชน 20% และช่องบริการธุรกิจ 60% เตรียมเปิดประมูลผู้รับใบอนุญาตกลุ่มแรกสำหรับช่องบริการสาธารณะได้ปลายปีนี้

โดยขั้นตอนต่อไป ทาง กสท. จะส่งมติดังกล่าวให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรรับฟังความเห็น

ทั้งนี้ตามมติของ กสท. ช่องรายการทั้ง 60 ช่องจะเรียงกันตามกลุ่มที่ได้แบ่งไว้ข้างต้น มีผลให้ช่องรายการทีวีแอนะล็อกแต่เดิม (เช่น ช่อง 3, 5, 7, 9) ไม่สามารถล็อคหมายเลขช่องไว้ได้เมื่อเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล

รายละเอียดของมติ กสท. ได้ระบุข้อกำหนดการแบ่งช่องทีวีดิจิทัลเป็นกลุ่มต่างๆ ไว้ดังนี้

  • ช่องบริการสาธารณะ (SD) จำนวน 12 ช่อง เน้นบริการในระดับประเทศ จะเปิดให้หน่วยงานราชการยื่นประมูลขอใบอนุญาตจัดรายการในเดือนธันวาคม 2555
  • ช่องบริการชุมชน (SD) จำนวน 12 ช่อง จะเปิดประมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 เนื่องจากต้องรอการพัฒนาโครงข่ายการเข้าถึงให้มีความพร้อมก่อน
  • ช่องบริการธุรกิจ (SD, HD) จำนวน 36 ช่อง กำหนดว่าต้องมีรายการที่เป็นสาระไม่น้อยกว่า 25% ของรายการทั้งหมด และไม่เป็นช่องที่เกี่ยวกับการเมือง จะเริ่มเปิดประมูลในเดือนช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ประกอบไปด้วย
    • หมวดรายการเด็กและเยาวชน (SD) จำนวน 5 ช่อง
    • หมวดข่าวสารและสารประโยชน์ (SD) จำนวน 5 ช่อง
    • หมวดรายการทั่วไป (SD) จำนวน 10 ช่อง
    • หมวดรายการทั่วไป (HD) จำนวน 4 ช่อง

กสท. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงใบอนุญาตว่าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ใบอนุญาตคลื่นความถี่ และใบอนุญาตการจัดรายการ ทั้งนี้ใบอนุญาตที่จะเปิดให้ประมูลมีอายุ 15 ปี เบื้องต้นวางแผนเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% จากรายได้ เช่นเดียวกับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งก็คือ ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่ให้บริการอยู่แพร่หลายในปัจจุบัน เช่น GMM Z, PSI, IPM, DTV, Sun Box และสามารถ

ส่วนเรื่องราคาตั้งต้นของการประมูลคลื่นความถี่นั้น ทาง กสท. ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขที่แน่ชัด แต่มีความเห็นว่าไม่ควรตั้งราคาสูงเกินไปนัก เนื่องจากต้องการให้ผู้เข้าร่วมการประมูลหันไปทุ่มเทกับการผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ มากกว่าจะนำเม็ดเงินมาทุ่มประมูลขอใบอนุญาต โดยขณะนี้ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU - International Telecommunication Union) คำนวณราคา

ที่มา - ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ผู้จัดการออนไลน์

Blognone Jobs Premium