ประมูล 3G: ก้าวแรกของการจัดสรรคลื่นด้วยระบบใบอนุญาต

by lew
16 October 2012 - 14:13

วันนี้การจัดสรรคลื่นย่าน 2100MHz ด้วยวิธีการประมูลก็จบลงไปแล้วตามคาด ด้วยการแบ่งคลื่นรายละ 15MHz จากการเข้าประมูลของผู้ให้บริการสามราย และเพดานคลื่นที่ไม่สามารถประมูลได้เกินหนึ่งในสาม ทำให้ไม่มีเหตุผลที่เอกชนจะต้องเข้าต่อสู้ราคาประมูล

แม้จะเกิดความไม่พอใจในหลายส่วนจากการประมูลครั้งนี้ จากการที่ราคาประมูลไม่ได้ขึ้นไปสูง และการประมูลจบลงอย่างรวดเร็วเทียบกับหลายประเทศที่ต่อสู้กันในการประมูลนับร้อยรอบ แต่หากการประมูลนี้สามารถผ่านกระบวนการที่เหลือ (เช่น การโหวตรับรองจากกสทช.) และออกใบอนุญาตได้ในที่สุด ก็นับว่าเราจะเข้าสู่ยุค "ใบอนุญาต" ในการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นครั้งแรกนับแต่รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามทำให้เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้เราจะมาดูกันว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไร และเราต้องติดตามอะไรกันต่อไป

เข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกคือผู้ให้บริการทั้งสามราย จะเป็นผู้ให้บริการที่ถือคลื่นความถี่เอง ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. ระบบใบอนุญาตเช่นนี้ทำให้ผู้ให้บริการทั้งสามรายมีอิสระในการทำธุรกิจมากขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปมาได้หากได้รับอนุญาตจากกสทช. และทรัพยสินต่างๆ เป็นของบริษัทเองทั้งหมด ไม่ต้องส่งคืนรัฐหลังหมดสัปทานอีกต่อไป เว้นเพียงอุปกรณ์วิทยุที่ต้องนำออกจากราชอาณาจักรหลังหมดใบอนุญาต

ในระบบสัมปทานเดิมนั้น เอกชนนอกจากต้องลงทุนในการวางโครงข่ายทั้งหมดแล้ว เมื่อเอกชนได้ดำเนินกิจการจนครบสัญญาสัมปทานแล้วจะต้องโอนอุปกรณ์ทั้งหมดตั้งแต่อุปกรณ์เครือข่าย เสาส่ง รวมถึงลูกค้าทั้งหมดกลับให้หน่วยงานเจ้าของสัมปทาน (ในกรณีของกิจการโทรคมนาคม คือ CAT และ TOT ในกิจการวิทยุโทรทัศน์จะมีอสมท. และกองทัพต่างๆ) ยกเว้นว่าจะมีการเจรจาต่อสัญญากันใหม่เป็นรอบๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตกลงต่อสัญญากันไปบ้างแล้ว และไม่สามารถต่อได้อีก เพราะพ.ร.บ.กสทช. ฉบับล่าสุดระบุให้ใบอนุญาตของเจ้าของสัมปทานเองหมดอายุไปพร้อมๆ กับสัมปทาน

ภายใต้ระบบใบอนุญาต กสทช. จะเป็นศูนย์กลางเดียวที่กำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตทั้งหมด แม้ในความเป็นจริงจะมีอนุกรรมการต่างๆ หรือสภาวิชาชีพที่กำกับในส่วนต่างๆ แต่อำนาจจะออกมาจากกสทช. ผ่านประกาศต่างๆ แต่ทุกวันนี้เองอำนาจของกสทช. ยังถูกตั้งคำถามและท้าทายในอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประกาศกำหนดเพดานราคาค่าโทร 99 สตางค์ที่ดูยังไม่มีสภาพบังคับ หรือจะเป็นการกำกับดูแลเรื่องเครือข่ายล่มที่มีการสั่งปรับแล้วก็ยังเป็นคดีทางปกครอง ไปจนถึงการทำสัญญาระหว่าง CAT และ Truemove-H ที่สั่งให้แก้ไขมานานแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า กสทช. ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความจริงจังที่จะบังคับคำสั่งของตัวเองเหล่านี้ให้เห็น

การประมูลที่ต้องแก้ไข

ประเด็นที่การประมูลวันนี้ถูกวิจารณ์มากที่สุดคงเป็นเรื่องที่การออกแบบเปิดให้เอกชนทั้งสามรายได้คลื่นเท่าๆ กันจากการลดเพดานคลื่นจาก 20MHz เหลือ 15MHz ทำให้ปลายทางของการประมูลแทบไม่มีทางอื่นนอกจากทุกรายได้คลื่นเท่าๆ กันทั้งหมดเพราะระยะเวลาของการออกประกาศกับระยะเวลาการประมูลก็สั้นมากจนไม่มีทางที่เอกชนรายอื่นจะสามารถระดมเงินทุนเข้ามาแข่งขันได้

เงินค่าใบอนุญาตทั้งหมดกว่าสี่หมื่นล้านบาท แต่ใช้งานได้ถึง 15 ปี เทียบไม่ได้กับเงินค่าสัมปทาน ที่ทั้งสามค่ายเคยจ่ายผ่านรัฐวิสาหกิจก่อนหน้านี้โดยจ่ายตามสัดส่วนรายได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้หายไปทั้งหมด รัฐบาลมีสิทธิที่จะกำหนดเงินภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากเงินสัมปทาน โดยตอนนี้อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 0% แต่มีเพดานภาษีอยู่ที่ 50% ตัวกรมสรรพสามิตเองก็ออกมาแสดงท่าทีก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเก็บเงินภาษีในส่วนนี้

แต่การปล่อยให้คลื่นกับเอกชนทั้งสามรายไปเท่าๆ กันไม่ใช่เรื่องที่เราควรปล่อยผ่านไปเสีย เพราะสามารถเก็บรายได้ด้วยภาษี เพราะการประมูลนั้นไม่ใช่เรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการจัดสรรสรรพยากรของชาติให้กับคนที่เหมาะสม แนวคิดคือคนที่สามารถจ่ายแพงมากกว่าได้แสดงว่ามีความสามารถจะทำประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้มากกว่าด้วยเช่นกัน การออกแบบกฎเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ทุกวันนี้เป็นอยู่ คือ มีผู้ใช้มากมายแย่งทรัพยากรจำนวนน้อย ขณะที่ผู้ให้บริการที่ไม่มีศักยภาพกลับได้ทรัพยากรจำนวนมากๆ ไปให้บริการคนเพียงน้อยนิด

ผมมองว่ากสทช. ต้องรับผิดชอบต่อการจัดสรรรูปแบบนี้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อล้มการจัดสรรครั้งนี้ไปเสีย เพราะแม้จะทำได้สำเร็จ แต่ความสำเร็จจะสร้างภาพที่ไม่น่าเชื่อถือต่อระบบการประมูลตามกระบวนการที่เข้าไปยังราชกิจจานุเบกษาแล้ว การสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้จะยิ่งสร้างกำแพงความกลัวให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจจะเข้ามาแข่งขันในไทยซึ่งจะมีโอกาสสูงขึ้นหลังการเปิด AEC หรือกระทั่งทุนไทยกลุ่มอื่นๆ เองที่อาจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ สร้างตลาดที่ผูกขาดกับผู้ให้บริการรายเดิมยิ่งกว่าเก่า กระบวนการที่ผมเสนอ คือ ให้มีการเสนอเรื่องเข้าถอดถอนกสทช. ต่อวุฒิสภา ตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.กสทช. ที่ระบุให้ประชาชนสองหมื่นคนยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้ หากกสทช. ไม่ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ แม้กระบวนการที่ผ่านไปแล้วจะดำเนินต่อไป หากสามารถยื่นเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาได้ ไม่ว่าจะถูกถอดถอนหรือไม่ก็เป็นการแสดงให้กสทช. ตระหนักว่ายังมีภาระหน้าที่ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นการเรียกร้องความรับผิดชอบจากวุฒิสภา ผู้แต่งตั้งกสทช. ชุดนี้มาด้วยในเวลาเดียวกัน

การเปลี่ยนผ่านคลื่น

ประเด็นคลื่น 3G นั้นเป็นประเด็นที่ถูกสังคมจับตามองอย่างมาก เพราะความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นเรื่อยมา แต่เราต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของกสทช. ไม่ใช่เพื่อมาจัดประมูล 3G ให้คนไทยใช้งานแล้วเลิกกันไป การประมูลจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนี้ไป หน้าที่ของกสทช. ที่จัดสรรคลื่นความถี่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุใบอนุญาตเดิมที่หมดลงไปทีละใบ

ในระยะสั้นแล้ว เพียงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมีคลื่นจำนวนหนึ่งหมดอายุใบอนุญาต เช่น Truemove ที่จะหมดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 กสทช. ต้องเร่งวางแผนและออกประกาศที่จำเป็นว่าจะให้ Truemove ทำอย่างไรกับลูกค้าในระบบ และการนำคลื่นที่ได้ไปจัดสรรใหม่จะจัดสรรอย่างไร ให้จัดสรรได้ทันทีหรือจะรอแบ่งพื้นที่ใหม่เมื่อคลื่น 1800 ของผู้ให้บริการรายอื่นหมดอายุลง

การเรียกคืนคลื่นเมื่อหมดใบอนุญาต ปัญหาเช่นคลื่น GreenWave ที่สุดท้ายกสทช. ยังให้ GreenWave ใช้งานคลื่นต่อไปแม้ไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดสรรด้วยการประมูล เป็นปัญหาที่ต้องนำขึ้นมาบนโต๊ะแล้วแก้ไขให้ประชาชนได้เห็น ว่าผู้ให้บริการทุกรายจะต้องเข้ามาสู่ระบบใบอนุญาตและการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกัน หากกสทช. ยังวางเฉย ปัญหาจะลุกลามไปถึงปัญหาที่อาจจะเป็นแบบเดียวกัน กับช่องโทรทัศน์ ที่สัมปทานกับอสมท.และกองทัพบกจะทยอยหมดอายุในช่วงปี 2557-2566

กสทช. ไม่ได้มีเพียงฝั่งโทรคมนาคมที่เพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของไทยคือการย้ายจากโทรทัศน์อนาล็อกไปยังระบบดิจิตอลที่เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ และในระยะสั้นแล้วจะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าเพราะบริการจำนวนมากไม่ต้องเสียค่าใช้บริการ สิ่งที่เราต้องจับตามองประเด็นโทรทัศน์ดิจิตอลไม่ต่างไปจากสิ่งที่เราเรียกร้องจาก 3G มากนัก ทั้งความทั่วถึงของบริการ และการประมูลคลื่น ล้วนเป็นหัวใจสำคัญทั้งสิ้น แม้ว่าทุกวันนี้เราจะมีช่องโทรทัศน์จำนวนมากผ่านดาวเทียม แต่โทรทัศน์ภาคพื้นดินยังคงเข้าถึงพื้นที่และกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย โทรทัศน์ดิจิตอลจะช่วยให้คนที่เข้าถึงสื่อผ่านอุปกรณ์เหล่านี้มีทางเลือกมากขึ้นอีกมาก

การกำกับดูแลที่ไม่เกี่ยวกับความถี่

Blognone เสนอเรื่องราวของ IPv6 มาหลายครั้ง หลายคนบ่นว่าทำไมรัฐจึงไม่เข้ามาดูแลจัดการ ส่วนใหญ่ๆ ของปัญหาคือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างกสทช. เองยังไม่มีการเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง กระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดล้วนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ให้บริการและผู้ขายสินค้า ในหลายประเทศอุปกรณ์เครือข่ายที่จะนำเข้ามาขายได้ จะต้องถูกรับรองว่ารองรับ IPv6 หรืออย่างน้อยมีกระบวนการสร้างความมั่นใจว่าผู้ผลิตจะกลับมาอัพเกรดซอฟต์แวร์ให้รองรับ IPv6 เมื่อถึงวันที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศไว้ ทำให้ประเทศเหล่านั้น เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผู้ให้บริการทุกรายมั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ใช้บริการจะรองรับ IPv6 แล้ว

กองทุน USO เป็นกองทุนที่เก็บจากรายได้ของผู้ให้บริการผ่านใบอนุญาตกสทช. แทบทุกใบ กองทุนนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เราต้องตั้งคำถามกับกสทช. อีกมากในการจัดการกองทุน เช่น การจ่ายเงิน 950 ล้านให้กระทรวงไอซีทีไปจ่าย TOT และ CAT เพื่อทำโครงการ Free Wi-Fi ที่รอบอร์ดใหญ่อนุมัติ เราต้องตั้งคำถามและให้กสทช. ตอบให้ได้ว่ากรณีแบบนี้ทำไม TOT และ CAT จึงได้สิทธิเป็นผู้ติดตั้ง มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างไร และพื้นที่ที่ติดตั้งเป็นพื้นที่ที่ต้องการกองทุนสนับสนุนจริงหรือไม่

Blognone Jobs Premium