หลังจาก กสทช. ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องผลการประมูล 3G วันนี้ทางบอร์ด กทค. ได้แถลงการณ์ "ประกาศเจตนารมรณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ" ดังนี้ (ตัวเน้นโดย Blognone)
ผู้ผ่านการประมูลจะต้องรับเงื่อนไขข้อ 1-3 ก่อนให้บริการ
ที่มา - @Pat_ThaiPBS, เอกสารฉบับเต็มจาก กสทช. ด้านล่าง
กสทช. แถลงการณ์ประกาศจุดยืนในการคุ้มครองประโยชน์ของชาติและประชาชนจากการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz
ตามที่ กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 และ กทค. ได้มีมติเห็นชอบผลการประมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2555 และสำนักงาน กสทช. ได้มีการประกาศผลการประมูลไปแล้วนั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ผ่านการประมูล ล่าสุดวันที่ 22 ต.ค. 2555 พล.อ.อ.ธเรศ
ปุณศรี ประธาน กสทช. พร้อมด้วย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ประธาน กทค. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กสทช. และ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ร่วมแถลงการณ์ยืนยันเจตนารมณ์ในการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนจากการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHzพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ประธาน กทค. ได้แถลงว่า เพื่อให้การดำเนินการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ผ่านการประมูล เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคณะกรรมการกิจการโทคมนาคม หรือ กทค. จึงขอประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ดังนี้
- จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียงและข้อมูลของบริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz ให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 – 20 ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน
- จะกำกับดูแลให้คุณภาพการให้บริการเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเคร่งครัด และ ให้มีมาตรการติดตามคุณภาพของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
- จะกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) และแผนคุ้มครองผู้บริโภคก่อนเริ่มให้บริการ รวมทั้งให้มีมาตรการติดตามการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด
- จะมีการตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลในระหว่างการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป
- จะมีการปรับปรุงกระบวนการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง การรับเรื่องร้องเรียน และกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. 2549 โดยเน้นกระบวนการในการพิจารณาและแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ทันท่วงที
- จะมีการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้การดำเนินการในข้อ 1 – 3 ผู้ผ่านการประมูลจะต้องรับเงื่อนไขดังกล่าวก่อนให้บริการ
จึงแถลงการณ์ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นว่า กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และจะกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ
“อยากให้สื่อมวลชนและประชาชนมีความมั่นใจว่า กสทช. ไม่ได้รีบร้อนในการให้ใบอนุญาต และในการรับรองผลการประมูลที่ผ่านมา เป็นการรับรองตามกำหนดการที่ตั้งไว้ ไม่ได้เป็นการเร่งรีบ ดังนั้นในการออกใบอนุญาตจะต้องมีความโปร่งใส และประโยชน์จะต้องเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ขอให้มั่นใจว่ากระบวนการทุกกระบวนการมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียงและข้อมูลของบริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz ให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน โดยการลดลงของอัตราค่าบริการ จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G โดยรวมทั้งประเทศได้รับประโยชน์จากการมีค่าบริการที่ถูกลงหรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนในการให้บริการที่ลดลง และระดับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในตลาด โดยผลประโยชน์ดังกล่าวซึ่งหากอัตราราคาค่าบริการลดลง 15% จะคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 4,571.25 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 54,855 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ทั้งหมดประมาณ 822,825 ล้านบาทภายในระยะเวลา 15 ปี และหากอัตราราคาค่าบริการลดลง 20% จะคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 6,095.22 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 73,142.64 ล้านบาทต่อปี และประมาณ 1,097,145 ล้านบาทภายในระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ผลประโยชน์จากการใช้บริการ 3G จากอัตราค่าบริการที่ลดลงได้พิจารณาอ้างอิงจากราคาค่าบริการ 3G ในปัจจุบันในอัตราประมาณ 899 บาทต่อเดือน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. กล่าวถึงประเด็นที่จะมีการตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลในระหว่างการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป โดยได้มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ.ความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งในส่วนของระบบ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมูล ซึ่งก็ได้มีการยืนยันในส่วนของสำนักงานและบริษัทที่ปรึกษาฯ ในการประมูลว่าระบบการทำงานไม่ได้มีพฤติกรรมในการสมยอม แต่เนื่องจากมีกระแสข่าวในเรื่องของพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เสนอราคาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาตรวจสอบอีกครั้ง และจะได้มีการเชิญผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการประมูลมาสอบถามอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในการพิจารณาออกใบอนุญาตจะมีความโปร่งใสมากที่สุด ทั้งนี้ระยะเวลาในการตรวจสอบนั้นจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 15 วัน หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาต่อไป