กสทช. วอนประชาชน "วิพากษ์การประมูล 3G อย่างสร้างสรรค์"

by mk
22 October 2012 - 07:43

วันนี้นอกจาก กสทช. แถลงข่าวเรื่องการกำกับดูแลค่าบริการ 3G ลง 15-20% จากราคาปัจจุบัน ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ กสทช. ยังเผยแพร่บทความของ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ หนึ่งในกรรมการ กทค. ชื่อว่า ถึงเวลาวิพากษ์ การประมูล 3 จี อย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน ต่อสาธารณชนอีกด้วย

บทความนี้อธิบายประเด็นที่ กสทช. ถูกโจมตีทั้งหมด 7 ประเด็น เช่น ระบบสัมปทาน รายได้ของรัฐบาล ราคาตั้งต้นของการประมูล กระบวนการโจมตี กสทช. และ กทค. เป็นต้น

ผมนำเวอร์ชันเต็มๆ มาลงเผยแพร่บน Blognone เพื่อให้ทุกท่านได้อ่านและตัดสินกันเองครับ

ฉบับ Scribd

ถึงเวลาวิพากษ์ประมูล 3 จี อย่างสร้างสรรค์

ฉบับ plain text

ถึงเวลาวิพากษ์ การประมูล 3 จี อย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการเคลื่อนไหวการคัดค้านการประมูล 3 จี ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจเกรงว่าจะเป็นปัญหาลุกลามบานปลายและเกิดความเสียหายต่อประเทศไทย ตนในฐานะกรรมการ กสทช. และเป็นหนึ่งในกรรมการ กทค. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการในเรื่องนี้ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และใช้ดุลพินิจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติในขณะนี้ โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนชาวไทย อย่างไรก็ตาม ได้ติดตามเรื่องต่างๆ และข้อมูลข่าวสารด้วยความเป็นห่วง รวมทั้งได้มีการหารือ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ในเรื่องดังกล่าวดังนี้

ประเด็นแรก การเคลื่อนไหวต่อต้านการประมูลในครั้งนี้มีการนำประเด็นเรื่องสัมปทานมาเกี่ยวข้องทั้งๆ ที่มีหลายคนมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทานมาก่อน รวมทั้งเคยผลักดันให้มีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแข่งขัน แต่ตอนนี้มีความพยายามนำเรื่องการประมูลมาเปรียบเทียบกับข้อดีของระบบสัมปทาน ทั้งๆ ที่ ระบบการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นการช่วยลดการผูกขาดอำนาจของหน่วยงานของรัฐ เพิ่มการแข่งขันให้ภาคเอกชน ส่งผลให้คุณภาพดีขึ้น และราคาค่าบริการถูกลง การนำประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลมาโจมตีว่า กสทช. ตั้งราคาตั้งต้นการประมูลต่ำไป โดยมีการสื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนและนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าสัมปทาน ทั้งๆ ที่การประมูลครั้งนี้เป็นการนำคลื่นความถี่ที่ไม่อยู่ภายใต้สัมปทานมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยมิได้เข้าไปแทนที่ระบบสัมปทาน จึงเป็นเรื่องที่น่ากังขาอย่างยิ่ง

ประเด็นที่สอง การเคลื่อนไหวคัดค้านการประมูลในครั้งนี้เคลื่อนไหวในประเด็นที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยการพยายามให้ กสทช. หารายได้ให้รัฐบาลเยอะๆ และมุ่งโจมตีว่ารัฐบาลจะเสียผลประโยชน์จากการประมูลในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐก็จริงแต่เป็นอิสระจากรัฐบาลและมิได้มีหน้าที่หารายได้ให้รัฐบาล แต่ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงเคลื่อนไหวเช่นนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามรัฐธรรมนูญและกฏหมาย

ประเด็นที่สาม การให้ กสทช. กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลสูงเกินไปโดยไม่มีหลักวิชาการรองรับ ทำให้ส่งผลเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้เข้าร่วมการประมูลได้ ทำให้ตลาดผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น เหตุใดการคัดค้านจึงต้องการให้ กสทช. กำหนดราคาตั้งต้นที่สูงอย่างไม่มีเหตุผล โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นนี้ หาก กสทช. ทำตามข้อเรียกร้อง ย่อมเป็นการทำให้ กสทช. กระทำผิดกฎหมายเนื่องจากถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่และมุ่งหารายได้ให้รัฐบาล โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ประเด็นที่สี่ กระบวนการโจมตีการทำงาน และ discredit กสทช. ถูกทำอย่างเป็นระบบ มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนการประมูล มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ส่งต่อกันเป็นทอดๆ มีการปลุกระดมโดยใช้สื่อหลายแขนง ซึ่งถ้ากระบวนการนี้ยังดำเนินต่อไปอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนบางกลุ่มอาจถูกโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดๆ จนต้องการให้ล้มการประมูล 3 จีครั้งนี้

ประเด็นที่ห้า มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า กระบวนการเคลื่อนไหวนี้มิได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการอย่างสุจริตใจ เนื่องจากมีการปลุกเร้าให้คนไทยเกลียดชังและหวาดระแวงว่า กสทช. ทำให้รัฐสูญเสียรายได้นับหมื่นล้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีต้นทุนใดๆ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและใช้ได้ตลอดไปโดยสามารถกำหนดระยะเวลาการใช้ตามอายุของใบอนุญาตได้ เมื่อหมดใบอนุญาตก็สามารถนำมาจัดสรรได้ใหม่ และที่ผ่านมาคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จำนวน 45 MHz ก็ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใดๆ ตรงกันข้าม หากไม่มีการนำคลื่นความถี่นี้มาจัดสรร หรือประวิงเวลาให้การจัดสรรคลื่นย่านความถี่นี้ต้องล่าช้าออกไป จะทำให้เกิดวิกฤตต่อระบบโทรคมนาคมของไทยและเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล

ประเด็นที่หก อีกไม่ถึง 2 ปี เราก็จะเข้าสู่ AEC แล้ว หากประเทศไทยยังมีระบบโทรคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพเราก็จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ และเมื่อบริษัทโทรคมนาคมของต่างชาติเข้ามาแข่งขัน บริษัทโทรคมนาคมของไทยจะไม่มีโอกาสเติบโตได้ การขัดขวางผลการประมูล 3 จี จะทำให้ต่างชาติได้ประโยชน์แต่ประเทศไทยเสียหายย่อยยับ จึงมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยทำให้ประเทศชาติเสียหาย แต่ต่างชาติได้ประโยชน์

ประเด็นที่เจ็ด มีการโจมตีการทำงานของ กทค. เช่น โจมตีว่า กทค. เร่งรับรองผลการประมูล และ รีบให้ใบอนุญาตโดยพิรุธ ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนก็เห็นแล้วว่าเราได้มีการถ่ายทอดเสียงในวันพิจารณาผลการประมูล โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ได้มุบมิบแอบทำ และไม่ได้ลุกลี้ลุกลนแต่ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้มีการกล่าวหาว่า กสทช. เร่งรัดออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังจะเห็นได้จากวันนี้ที่ กทค. ได้แถลงการณ์ยืนยันว่ามีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการก่อนให้บริการ 3 จี ซึ่งเราต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ประกอบการต้องทำตามเงื่อนไขที่เรากำหนดก่อนว่าประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด

จึงขอวิงวอนให้ประชาชนชาวไทยรับฟังข้อมูลต่างๆ อย่างมีสติ ไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าให้การยั่วยุใดๆ อยู่เหนือเหตุผลจนทำให้คนไทยเกลียดชังกัน และมองข้ามประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการประมูล 3 จี บทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตที่เกิดความเสียหายอย่างเจ็บปวดต่อประเทศชาติ จึงคงไม่มีใครต้องการให้เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งผมขอยืนยันว่าการเมืองไม่ได้มาเกี่ยวข้องในการที่ กสทช. จัดประมูล 3 จี ในครั้งนี้ โดยบอร์ดกระทำการโดยบริสุทธิ์ใจและทำเพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจว่า กสทช. จะสานต่อภารกิจเพื่อชาติให้สำเร็จให้ได้ เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 3 จี ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: เน้นตัวหนาเล็กน้อยโดย Blognone

Blognone Jobs Premium