รีวิว BlackBerry Playbook

by nrad6949
22 October 2012 - 16:22

BlackBerry Playbook จัดเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พวกแท็บเล็ตรุ่นแรกๆ ของกระแสความนิยมแท็บเล็ตในตลาดยุคปัจจุบัน (iPad เปิดตัวครั้งแรกเมื่อมกราคมปี 2010 ส่วน Playbook เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน แต่ขายจริงเมื่อเมษายนปีที่แล้ว) แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับเสียงตอบรับดีเท่าที่ควร ตลอดจนถึงยอดขายที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักมาตลอด ทำให้ต้องลดราคาลงมาเป็นระยะๆ รวมถึงจัดโปรโมชั่นอยู่บ่อยครั้ง (1,2,3,4,5,6) ตลอดจนถึงการยกเลิกการขายรุ่น 16GB ในตลาดซึ่งคาดกันว่าเป็นเพราะไม่ค่อยมีกำไร นั่นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่า Playbook จะไม่ใช่แท็บเล็ตที่ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิธีการใช้งานและหลังจากที่ได้รับการปรับรุ่นตัว Playbook OS ให้เป็น 2.1 ล่าสุดแล้ว ทำให้ขีดความสามารถของมันเพิ่มขึ้นในหลายมิติ และจะเห็นได้ว่า BlackBerry ไม่ได้ทิ้งผลิตภัณฑ์นี้เลย เพราะนอกจากเพิ่งจะขายรุ่น 4G LTE แล้ว ยังได้รับการยืนยันว่าจะได้ปรับรุ่นเป็น BlackBerry 10 กับเขาด้วย

รีวิวนี้จึงเป็นรีวิวของ BlackBerry Playbook ที่มาพร้อมกับไส้ในที่ใหม่เอี่ยม แม้ว่าตัวเครื่องก็ยังคงมีคุณสมบัติเช่นเดิมเหมือนตั้งแต่แรกที่วางขายก็ตามที ดังนั้นจึงอาจจะเป็นการมาของรีวิวที่เหมือน "ไวน์ใหม่ในขวดเก่า" โดยรีวิวนี้จะพิจารณาจากในภาพรวมและการใช้งานทั่วไป

เหตุผล

แต่แรกเริ่มเดิมทีผมต้องการหาแท็บเล็ตที่จะเอาไว้สำหรับเขียนโปรแกรมเพื่อ BlackBerry 10 ซึ่งก็คงหนีไปไม่พ้นที่จะต้องเขียนบน Playbook และกะจะเอาไว้ใช้สำหรับทำงานทั่วไปที่ไม่ต้องซีเรียสมาก (ซึ่งในตอนท้ายที่สุด ผมกลับใช้ Playbook เครื่องนี้ทำงานแทบจะทุกวันแทนที่ Samsung Galaxy Tab ไปแล้ว)

ราคา

สำหรับเมืองไทย ราคาแรกที่เปิดตัวถือว่าดุเดือดเอาการที่ 16,900 บาท (สำหรับ 16GB) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดราคาก็ตกลงมาจนเหลือเพียง 5,909 บาท สำหรับรุ่น 16 GB ซึ่งผมซื้อจากงาน Thailand Mobile Expo 2012 ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ในงานสำหรับรุ่น 16GB เอง ก็แถมเคสของแท้ให้ด้วยเช่นเดียวกัน

การรับประกัน

เป็นไปตามศูนย์ปกติครับ 1 ปี ไม่ได้มีผิดปกติอะไรจากมาตรฐานทั่วไปครับ

แกะกล่อง

เนื่องจากผมแกะกล่องกระเจิงหมดแล้ว จึงไม่ได้ถ่ายรูปมา แต่ขออนุญาตสรุปว่า ในกล่องประกอบไปด้วย

  • ตัวเครื่อง BlackBerry Playbook
  • ที่ชาร์จ
  • คู่มือและเอกสาร
  • ผ้าเช็ดหน้าจอ
  • เคสผ้า (ผมชอบมาก ไม่ต้องไปซื้อหาเพิ่ม)

สำหรับที่ชาร์จแบบพิเศษที่มาพร้อมกับ Playbook นั้น เป็นของที่ใช้กับ Playbook โดยเฉพาะซึ่งสามารถเอาไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ ของ BlackBerry ได้ด้วย แต่ตัวของ Playbook จะรับเฉพาะที่ชาร์จแบบนี้เท่านั้น เนื่องจากจ่ายพลังงานออกมาสูงกว่าที่ชาร์จทั่วไปของ BlackBerry ดังนั้นโปรดสังเกตให้ดีว่าที่ชาร์จที่จะเอามาใช้นั้นเป็นของ Playbook หรือไม่ (ผมเข้าใจว่าชื่อของมันคือ BlackBerry Premium International Charger) ซึ่งก็มีวิธีสังเกตตรงที่เสียบ สำหรับรุ่นที่มาพร้อมกับ Playbook จะใช้เป็นสีเหลืองแทนสีดำปกติ

สีที่แตกต่างกันของสายชาร์จ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสายแบบปกติกับสายพิเศษ (ซ้าย ที่ชาร์จปกติ; ขวา ที่ชาร์จที่มาพร้อมกับ Playbook)

ตัวเครื่อง

ตัวเครื่องของ BlackBerry Playbook นั้นใช้หน้าจอขนาด 7 นิ้ว ส่วนน้ำหนักอยู่ระหว่าง iPad รุ่นแรก กับ Galaxy Tab รุ่นแรก คือ รู้สึกว่าหนักแต่แน่นพอสมควร (คุณสมบัติอย่างละเอียด) ความรู้สึกที่ใช้คือหนักพอๆ กับหนังสือปกแข็งวิชาการเล่มหนึ่ง ไม่มากไป และก็ไม่น้อยไป

ด้านบนของเครื่อง (ไล่จากซ้ายไปขวา) มีไมโครโฟน ปุ่มเปิดปิดเครื่อง ปุ่มควบคุมการเล่นสื่อ ไมโครโฟน และช่องเสียบหูฟังครับ ซึ่งหลายคนบอกว่า ปุ่มกดเปิดปิดนั้นกดได้ยากมากๆ แต่สำหรับผมไม่ใช่ปัญหาครับหากไม่ใส่เคส (ซึ่งจะเล่าต่อไปในตอนท้ายๆ)

สำหรับด้านล่าง ไล่จากซ้ายไปขวา ประกอบด้วย ขนาดความจุ (ของผมเป็น 16 GB) รหัสประจำเครื่อง พอร์ต MicroHDMI พอร์ต MicroUSB พอร์ตเฉพาะสำหรับตัวชาร์จแบบพิเศษ (คล้ายๆ MagSafe ของแอปเปิล) แล้วก็ข้อมูลของหน่วยงานกำกับทั้งหลาย (Regulatory)

ด้านหลังเครื่องก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากโลโก้ BlackBerry แล้วก็กล้องครับ

สำหรับตัวเครื่องนั้นต้องยอมรับว่าประกอบมาดีถึงดีมากๆ อย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่าค่อนข้างแน่นหนาและมั่นคงอยู่ไม่ใช่น้อย นอกจากนั้นแล้วหน้าจอยังให้สีสันที่สดใสมาก ต้องยอมรับว่าความคมชัดและสีสันของ Playbook กินขาด iPad รุ่นแรกและ Galaxy Tab มากๆ

สำหรับเสียงที่ออกมาจากลำโพงด้านหน้าซ้ายขวาถือว่าคมชัด เสียงดัง ชัดเจน และใสมาก ตั้งแต่ใช้ iPad และ Galaxy Tab รุ่นแรกมา ยังไม่เคยเจอลำโพงที่ดีขนาดนี้มาก่อน

ระบบปฏิบัติการภายในและโปรแกรม

ระบบปฏิบัติการภายในเป็น Playbook OS 2.1 ซึ่งจริงๆ ตอนแรกเมื่อได้รับเครื่องมาแล้วเปิดใช้งาน ผมก็โดนบังคับให้ทำการอัพเดตเป็น 2.1 ภายในทันทีแต่แรก ดังนั้นแล้วจึงไม่ขอกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง OS รุ่นก่อนหน้ากับปัจจุบัน สำหรับโปรแกรมที่มีมาให้ก็ถือว่าครบครันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Facebook โปรแกรมเล่นเพลง ดูหนัง ฯลฯ (ยกเว้น Twitter ที่เป็นเพียง shortcut เท่านั้น)

วิดีโอสรุปคุณสมบัติอย่างเป็นทางการจาก BlackBerry ครับ

การใช้งานโดยรวมถือว่าใช้ได้ดีเลยทีเดียว สำหรับคีย์บอร์ดบนหน้าจอก็สามารถอยู่ในระยะที่กดได้หากใช้แบบถือสองมือแล้วพยายามเอานิ้วชี้ไปจิ้ม

ส่วนคะแนนสำหรับเว็บเบราว์เซอร์ได้ค่อนข้างสูง ทั้งสำหรับ HTML5 Test และ Acid 3 (อันหลังเต็ม)

สำหรับเบราว์เซอร์เอง สามารถเปิดได้หลายแทบในเวลาเดียวกันครับ

นอกจากนั้นสำหรับบางโปรแกรม (ในที่นี้เช่นเบราว์เซอร์) เมื่อจิ้มค้างไว้สักครู่หนึ่งก็จะปรากฏคำสั่งพิเศษออกมา (เทียบเท่าการคลิกเมาส์ปุ่มขวา)

แต่คุณสมบัติที่เยี่ยมที่สุดสำหรับผม คือการสามารถแชร์ไฟล์ต่างๆ ผ่านเครือข่าย Wi-Fi ได้ โดยเราสามารถกำหนดรหัสผ่านให้ได้ และสามารถให้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์รหัสไอพีหรือชื่อเครื่องเข้ามาได้ทันที

โปรแกรม (Apps) อื่นๆ

Calendar

Contact

Message

Document To Go

รูปแบบการใช้งาน

เนื่องจากรูปแบบการใช้งานของ Playbook ค่อนข้างแตกต่างจากแท็บเล็ตทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานที่จะต้องลากจากขอบจอเข้าไป แนวคิดของ Playbook OS มีลักษณะคล้ายๆ กับ webOS ที่จะใช้แนวคิดแบบ card& deck ลองดูวิดีโอสาธิตประกอบจาก CrackBerry ด้านล่างนี้ดูนะครับ อาจจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

เวลาจะสลับโปรแกรมก็สามารถใช้ได้สองวิธี วิธีแรกคือการลากจากขอบจอด้านหนึ่งไปพื้นที่จออีกด้าน (เช่น ปัดจากขอบซ้ายมา เป็นต้น

อีกวิธีก็คือ ปัดขอบจอจากด้านล่างในแนวตั้ง เพื่อเรียกหน้าแรกตอนเปิดเครื่องขึ้นมา จากนั้นเลือกโปรแกรมเอาตามใจชอบที่กำลังเปิดอยู่

เรื่องของกล้อง

แม้ว่าหนึ่งในคุณสมบัติที่ RIM ภูมิใจนำเสนอมากๆ ก็คือกล้องที่ติดมาพร้อมกับ Playbook ซึ่งดูแล้วก็น่าจะดี แต่เอาเข้าจริงแล้ว หากไม่ได้ถ่ายในที่ซึ่งมีแสงเพียงพอ ภาพที่ได้ก็อาจจะไม่ได้ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับที่มืดๆ แล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นใครที่คิดจะซื้อเพื่อมาถ่ายรูป อาจจะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังอีกครั้ง

ภาพจากกล้องด้านหลังที่มีแสงเพียงพอ

ภาพจากกล้องด้านหลังที่มีแสงไม่เพียงพอ

ส่วนด้านหน้าก็สภาพใกล้เคียงกันครับ

ภาพจากกล้องด้านหน้า

BlackBerry App World

แน่นอนว่า BlackBerry ย่อมมี Appstore แบบเดียวกับที่ iOS, Android และเจ้าอื่นๆ มี ซึ่งเรียกว่า "BlackBerry App World" แต่สิ่งที่น่าผิดหวังอย่างหนึ่ง (ซึ่งบอกถึงการไม่ประสบความสำเร็จของทาง RIM เอง) คือมีโปรแกรม (Apps) อยู่น้อยมากๆ แล้วก็ไม่ได้หลากหลายด้วย ซึ่งหวังว่าสถานการณ์คงคลี่คลายเมื่อ BlackBerry 10 ออกสู่ท้องตลาดในปีหน้า

BlackBerry Bridge

พร้อมๆ กับการมาถึงของ Playbook OS 2.1 สำหรับ BlackBerry Bridge ก็มีรุ่นใหม่ 2.1 เช่นเดียวกัน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว จากที่ได้แสดงมาแล้ว Playbook ก็สามารถทำงานได้แล้วโดยที่ไม่ต้องมี BlackBerry ควบคู่กันไป ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อ BlackBerry ใช้ควบคู่อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม Playbook OS 2.1 ก็ยังไม่มี BlackBerry Messenger (BBM) ซึ่งเป็นจุดขายของระบบ BlackBerry (ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่ามีใครนึกถึงบ้าง?) ดังนั้นคนที่ต้องการจะใช้ BBM ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่ง BlackBerry Bridge ต่อไป

ความน่าสนใจก็คือ นอกจากภาพด้านบน ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าบน Playbook ปรากฏเคอร์เซอร์ของเมาส์ให้เห็น ซึ่งเราสามารถแปลง BlackBerry ที่ถูกจับคู่ให้ใช้กับ Playbook กลายมาเป็นเมาส์ของเครื่องได้ครับผ่านคุณสมบัติที่เรียกว่า "Remote Control" นั่นเอง ซึ่งถ้าเรานำ Playbook ไปต่อกับเครื่องฉายภาพ เราสามารถใช้ BlackBerry ของเราควบคุมการนำเสนอได้ด้วยเช่นกัน

เคสที่แถมมาพร้อมกับเครื่อง

สำหรับคราวนี้ คนที่ซื้อในงาน TME จะได้รับแจกเคสของแท้ ซึ่งเป็นแบบที่เหมือนหนังสือ ซึ่งข้อดีก็คือทำมาจากหนังแล้วก็ขนาดกระชับมือ ให้ความรู้สึกที่มั่นคงและเป็นนักธุรกิจมากๆ แต่ก็มีข้อเสียอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่สามารถตั้งได้ เพราะไม่มีขาตั้ง (kickstand) รวมอยู่ในตัว ตลอดจนถึงไม่สามารถพับเก็บฝาปิดได้ และกินพื้นที่มากเวลาชาร์จไฟ (เพราะปิดฝาไม่ได้)

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พอใส่ลงไปในเคสแล้ว ปรากฏว่าการกดปุ่มต่างๆ ทำได้ยากมากๆ ทั้งที่มีการทำช่องให้ปุ่มนูนขึ้นมาและทำงานได้ตามปกติ ต้องใช้แรงกดพอสมควรจึงกดปุ่มต่างๆ ได้ ที่ปวดหัวที่สุดกลายเป็นปุ่มเปิดและปิดเครื่อง ซึ่งหากกดผ่านเคสไม่ดีพอ ก็จะทำให้กดไม่ได้ สร้างความรำคาญใจในระดับหนึ่ง (ในความเห็นตอนนี้คือ RIM ควรแก้ไขเรื่องเคสให้เร็วที่สุด)

ภาษาไทยบน Playbook

คำถามตัวโตๆ ที่สำคัญคือ ภาษาไทยบน BlackBerry Playbook เป็นอย่างไรบ้าง? คำตอบก็คือ ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ นั่นก็คือสามารถที่จะอ่านภาษาไทยได้แล้วแต่ยังไม่สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ ซึ่งทางแก้ก็คือลง App ที่มีชื่อว่า "Thai Input" แก้ขัดไปชั่วคราวก่อนครับ

บทสรุป

วันนี้ผมถือว่า BlackBerry Playbook เอง มีความสามารถที่จะทำงานได้อย่างดี ตลอดการใช้มาเกือบๆ 2 อาทิตย์ ผมค่อนข้างชอบการใช้งานของ Playbook มาก ที่สำคัญคือการตอบสนองและการจัดการหน่วยความจำสามารถทำได้เป็นอย่างดี รูปร่าง หน้าตา วัสดุ และคุณภาพของการผลิตเอง ทำให้แทบไม่น่าเชื่อว่าราคาโปรโมชั่นจะลงไปอยู่ที่ 5,909 บาทได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ RIM ต้องรีบแก้ไข นอกจากการมีบริการ Cloud เป็นของตัวเอง (เช่นเดียวกับ Apple มี iCloud, Google มี Google Drive และ Microsoft มี SkyDrive) แล้ว ก็เป็นเรื่องของ Apps ทั้งหลายบน App World ที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย แน่นอนว่าสำหรับผู้ใช้งานที่เชี่ยวชาญแล้ว สามารถแปลงโปรแกรมของ Android (ที่ใช้บน Gingerbread ได้) ลงมายัง Playbook ได้ แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว นั่นไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แน่นอนว่าความพยายามของ RIM กับ BlackBerry 10 เป็นสิ่งที่มาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูกันในระยะยาวต่อไป

นอกจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งอื่นๆ ที่ควรจะได้รับการแก้ไขมีตั้งแต่การออกแบบเคสใหม่ หรือการรองรับภาษาอื่นให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่า BlackBerry 10 จะมาพร้อมกับการสนับสนุนภาษาไทยอย่างแน่นอน

หากยังสามารถหาในราคา 5,909 บาทได้ ก็ไม่ควรพลาดที่จะลองซื้อครับ (ราคานี้ถูกกว่า Galaxy Tab 2 Wifi 8 GB ที่ขายอยู่ที่ 8,900 บาท [อ้างอิง] และแพงกว่าแท็บเล็ตยี่ห้อล่างๆ อื่นๆ นะครับ) แต่ก็ต้องทำใจกันล่วงหน้าเรื่องภาษาไทย โปรแกรมมีให้ใช้น้อย แล้วก็ "แกะดำ" ครับ

หมายเหตุ ภาพเพิ่มเติมทั้งหมด ดูได้จากที่นี่ครับ

Blognone Jobs Premium