งานวิจัยเผย SSL มีความเสี่ยงต่อการแฮกเมื่อไม่ได้ใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์

by EThaiZone
23 October 2012 - 13:33

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ครับว่า SSL คือเทคโนโลยีหนึ่งที่สำคัญมากแบบขาดเสียไม่ได้ ทั้งในด้านธุรกรรมการเงิน การส่งต่อข้อมูลความลับต่างๆ ซึ่งเหตุผลหลักคือเพื่อป้องกันการโจมตีจากเหล่าบรรดาแฮกเกอร์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผยว่า SSL เมื่อถูกใช้งานในบางสถานการณ์นั้นอาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เคยคิดกัน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีงานประชุม ACM Conference on Computer and Communications Security (CCS2012) ที่จัดเสร็จสิ้นในวันที่ 16-18 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานรวมตัวของนักพัฒนาโปรแกรม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทั้งจากภาครัฐ สถานศึกษา และเอกชน ได้เข้ามานำเสนอถึงทฤษฎีหรืองานวิจัยต่างๆ โดยหลังจากจบงานและเปเปอร์งานวิจัยต่างๆ ได้ขึ้นเว็บแล้วที่เว็บของ CCS 2012

ในงานนี้ได้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคซัสในเมืองออสตินและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ระบุว่า SSL ที่ไม่ได้มีการใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์มีความเสี่ยงจะถูกโจมตีแบบ man-in-the-middle attack ได้ (อ่านคำอธิบายเพิ่มได้ที่ท้ายข่าว) โดยการใช้งานที่ไม่ได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ในงานวิจัยได้ยกตัวอย่างดังนี้

  • JAVA library ของ Amazon EC2
  • SDK ระบบซื้อขายของ Amazon และ Paypal (เฉพาะ Paypal นี้ SDK จะถูกใช้เชื่อมกับ osCommerce, ZenCart, Ubercart และ PrestaShop)
  • AdMob ผู้ให้บริการโฆษณาบนมือถือ ที่ Google เป็นเจ้าของ
  • ระบบ Mobile Banking ของ Chase.com
  • โปรแกรมสำหรับทำ web service ที่เขียนด้วยภาษา JAVA รวมถึง Apache Axis, Axis 2,
    Codehaus XFire, และ Pusher library สำหรับ Android
  • รวมถึงโปรแกรมอะไรก็ตามที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อผ่าน SSL

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าโค้ดที่ถูกเขียนบนระบบที่กล่าวมาจะถูกเขียนแบบผิดพลาด ในความเป็นจริงนั้นได้เขียนถูกต้องด้วยซ้ำ แต่เพราะโค้ดดังกล่าวจะมีการติดต่อผ่านไลบรารี่ที่ใช้ควบคุมการส่งข้อมูล เช่น Apache HttpClient หรือ cURL ซึ่งปัญหาเกิดจากนักพัฒนาเกิดความเข้าใจผิดทั้งการกำหนดพารามิเตอร์หรือการตรวจสอบค่าย้อนกลับ ทำให้กระบวนการยืนยัน SSL certificate มักจะล้มเหลวในท้ายที่สุด

เท่าที่ผมอ่านงานวิจัยคร่าวๆ ขอสรุปว่าสำหรับนักพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษา JAVA และ PHP ที่ได้มีการใช้งานระบบใดระบบหนึ่งที่ได้กล่าวถึงไปหรือมีการใช้งาน SSL ในกระบวนการติดต่อเบื้องหลัง สมควรอ่านงานวิจัยนี้เพื่อแก้ไขหรือหาทางออก เพราะในงานได้มีบอกไว้ว่าจุดใดคือความเสี่ยงครับ

งานวิจัยดังกล่าวสามารถโหลดอ่านได้ที่นี้ Full paper

ที่มา - The Applied Crypto Group of Stanford University

คำอธิบายเพิ่ม
man-in-the-middle attack เป็นการโจมตีโดยการเบี่ยงเบนการเดินทางของข้อมูลที่ควรจะเดินทางระหว่างคอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานกับเครื่องแม่ของผู้ให้บริการ ให้เดินทางมายังเครื่องของแฮกเกอร์แทนด้วยการหลอกทั้งเครื่องผู้ใช้งานและเครื่องแม่ว่าเครื่องตัวเองเป็นเครื่องของอีกฝ่ายที่กำลังติดต่อด้วย เป้าหมายคือการดักจับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้หรือการปลอมแปลงข้อมูลให้ผิดไปจากเดิม

Blognone Jobs Premium