บทวิเคราะห์สินค้าตระกูล iPad – เมื่อแอปเปิลขยายตลาด

by tanersirakorn
24 October 2012 - 05:38

ในคืนนี้หลังจากแอปเปิลเปิดตัวสินค้าชิ้นใหม่อย่าง iPad 4 และ iPad Mini ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในหลายๆ แง่ ดังนั้นผมเลยขอนำมาเขียนเป็นบทความวิเคราะห์ให้อ่านกันครับ

ขอชี้แจงให้ทราบว่าบทความนี้เขียนจากมุมมอง ข้อคิดเห็น และความคิดส่วนตัวเท่านั้นครับ

iPad mini –  เพราะจอ 10" มันใหญ่เกินไป

ท่ามกลางกระแสความนิยมของแท็บเล็ตขนาดจอ 7" ที่ได้รับความนิยมด้วยเหตุผลของความสะดวกในการพกพา ผมคาดว่าแอปเปิลน่าจะเล็งเห็นความสำคัญของตลาดลูกค้าที่ต้องการแท็บเล็ตขนาดพอดีมือที่สามารถทำงานทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันสตีฟ จ็อบส์ก็เชื่อมาโดยตลอดว่าแท็บเล็ตขนาด 7" มีขนาดเล็กไป และมนุษย์จำเป็นต้องมีนิ้วมือที่เล็กลงเพื่อที่จะสามารถสั่งงานบนหน้าจอขนาดนั้นได้

สิ่งที่ออกมาคือ iPad mini ที่มาพร้อมขนาดหน้าจอ 7.9" ซึ่งวิศวกรของแอปเปิลบอกว่ามีพื้นที่มากกว่าจอ 7" อยู่ 35% แต่ยังคงความละเอียดของหน้าจอไว้ที่ 1024x768 หรือเท่ากับ iPad 2 ซึ่งหากมองในมุมมองของนักพัฒนาแล้ว นักพัฒนาสามารถนำแอปที่มีอยู่แต่เดิมมาใช้บน iPad Mini ได้ทันที

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วผมเชื่อว่าขนาดเส้นทแยงมุมหน้าจอที่เล็กลงไปเหลือประมาณ 80% น่าจะทำให้แอปเก่าๆ มีปัญหา และผู้ผลิตก็จำเป็นที่จะต้องอัพเดตแอปกันอยู่ดีครับ

สำหรับนักพัฒนาแอปที่ต้องการทดสอบความสะดวกในการใช้งานแอปบน iPad mini สามารถทำได้โดยเปิดภาพหน้าจอความละเอียด 1024x768 บนโน้ตบุ๊กทั่วไป แล้วตั้งกำลังขยายภาพไว้ที่ 81.44% จะได้ขนาดแอปคร่าวๆ ไว้สำหรับกะประมาณครับ

สิ่งที่แอปเปิลชูเป็นจุดขายของ iPad mini มีอยู่สามอย่างด้วยกัน

  • น้ำหนักที่เบาและความบาง
  • ขนาดของจอที่เล็กกำลังดี แต่ใหญ่กว่า 7"
  • ขนาดที่กำลังพอดีมือ (ในงาน Phil ถือโชว์ด้วยมือเดียว)
  • ราคาที่ถูกลง

คำถามคืองานหลัก (key tasks) ที่สามารถทำงานบน iPad mini ได้คืออะไร?

ผมคิดว่างานที่สามารถทำบนจอขนาด 7.9" ได้ดีที่สุดคือการใช้ด้านความบันเทิง โดยเฉพาะการใช้สังคมออนไลน์, อ่านฟีดจากสำนักข่าว, หรือเข้าเว็บทั่วไป และในขณะเดียวกัน iPad ขนาด 9.7" ก็จะยังคงตีตลาดผู้ที่ต้องการทำงานเกี่ยวกับเอกสาร หรือใช้งานโปรแกรมสำนักงานบน iPad (สังเกตได้จากในงานไม่มีการโชว์โปรแกรมชุด iWork บน iPad mini เลย)

ถึงแม้เราจะไม่เคยบ่นว่า Galaxy Tab 7 เล็กเกินไป แต่ผมว่าแอปเปิลคิดถูกที่ออกแท็บเล็ตขนาดเท่านี้มา (มีอีกวิธีหนึ่งคือการแบ่งรุ่นขนาดจอย่อยไปอีก – แต่นี่คือแอปเปิล)

ในขณะเดียวกัน iPad ก็เป็นแท็บเล็ตแบรนด์เนมราคา ~10,000 บาทที่มีจอขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเมื่อเทียบกับ Nexus 7 รุ่น 16GB ที่ขายในไทยด้วยราคา 9,900 บาท ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่พร้อมเพิ่มเงินอีกไม่กี่บาทเพื่อแลกกับจอที่ใหญ่ขึ้นและ "แบรนด์แอปเปิล"

ถ้าใครดู Keynote จะเห็นว่าในงานมีการนำ iPad mini มาเทียบกับ Nexus 7 ในด้านต่างๆ ทั้งขนาด, น้ำหนัก และหน้าจอ ซึ่งแอปเปิลทำการบ้านมาดีมาก เพราะตัวเครื่องนั้นกว้างกว่า Nexus 7 แค่ 14.7mm (iPad mini 134.7mm – Nexus 7 120mm) แต่สามารถใส่หน้าจอที่ใหญ่กว่า และน้ำหนักที่เบากว่ากัน 36g ครับ

สรุปผมมองว่าการที่แอปเปิลนำ iPad mini ลงสู่ตลาดนั้น เพื่อตีตลาดแท็บเล็ตที่มีราคาถูกและจอเล็กลง และเมื่อมีข่าวว่า Google จะเลิกขาย Nexus 7 รุ่น 8GB ($199) ผมคิดว่า iPad mini สามารถที่จะเบียดตลาดของ Nexus 7 ได้ครับ

iPad 4 – อายุของความใหม่ที่สั้นลง

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการเปิดตัว iPad 4 ไม่ใช่สเปก, หน้าตา หรือสิ่งอื่นใด แต่เป็นช่วง life cycle ที่สั้นลงมาก

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2010 iPad แต่ละรุ่นเปิดตัวในวันที่ดังนี้

  • iPad 1: 3 เมษายน 2010
  • iPad 2: 11 มีนาคม 2011
  • iPad 3: 16 มีนาคม 2012
  • iPad 4: 23 ตุลาคม 2012

อายุความเป็นสินค้าตัวใหม่ที่สุดของแอปเปิล (life cycle) ของสินค้าตระกูล iPad/iPhone นั้นอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ทว่างานเปิดตัว iPad 3 นั้นเพิ่งจัดไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (เจ็ดเดือนก่อน) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดแอปเปิลถึงตัด life cycle ของ iPad 3 เหลือเพียงเจ็ดเดือน


เทคโนโลยีใหม่ใน iPad 4 จะพบว่ามีเพียงซีพียู A6X และ Lightning Port ที่ใหม่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนที่เหลือคือรองรับเครือข่าย LTE มากขึ้น – ส่วนตัวมองว่าแทบไม่มีอะไรใหม่

สิ่งที่ตามมาคือเสียงก่นด่าของลูกค้าที่เพิ่งซื้อ iPad 3 และกลายเป็นของตกรุ่นในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ต่างจากแนวทางของแอปเปิลแต่ก่อนที่ life cycle ของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น

ขณะทุกคนน่าจะกังวลในเวลานี้คืออายุของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ที่สั้นลงอย่างเห็นได้ชัด – ไม่แน่ว่าแอปเปิลอาจนึกอุตริเปิดตัว iPhone ตัวต่อไปในไตรมาสแรกของปีหน้าก็เป็นได้!

ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเท่ากับเป็นการ "ถีบ" ผลิตภัณฑ์เก่า (ที่ยังไม่เก่า) ให้ตกเหวเป็นผลิตภัณฑ์ "เก่าตามวิธีการแบ่งรุ่น" ในทันที (ไม่นับอัพเดตซอฟท์แวร์ที่เแอปเปิลทำได้ดีกว่าผู้ผลิตรายอื่น)

ส่วนตัวมองว่าหลังจากนี้ต่อไปความคิดที่ว่า "ซื้อผลิตภัณฑ์แอปเปิลเก่าเร็ว" จะมีเยอะขึ้น (โดยเฉพาะกับผู้ถือครอง iPad 3) หาเป็นแบบนี้ไปนานๆ นั่นหมายถึงแอปเปิลกำลังสุูญเสียฐานลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้ใช้นานๆ และหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปผมเชื่อว่าลูกค้าพร้อมจะย้ายไปใช้สินค้ายี่ห้ออื่นที่ถูกกว่า, ได้สเปคแรงกว่า และตกรุ่นช้ากว่า (ยกเว้น zealots อย่างเหนียวแน่นที่ให้ตายก็ไม่มีทางย้ายค่าย!)

ผมเชื่อวา่หากแอปเปิลแอบอัพเดตเงียบๆ แบบตอนที่อัพเดตชิปภายใน iPad 2 จะไม่มีกระแสด้านลบมากเท่านี้ครับ

สรุป

หลังจากงานคืนนี้ผมเห็นแนวทางใหม่ของแอปเปิลอยู่สองทาง ได้แก่

  • การพยายามตีตลาดลูกค้าให้มากขึ้น ตามกระแสที่ได้รับความนิยม และ
  • การเปิดตัวของใหม่ ทำผลิตภัณฑ์ไม่เก่าให้กลายเป็นของเก่าเร็วขึ้น

หลังจากนี้เราอาจเห็นแอปเปิลทำตลาดแบบผู้ผลิตหลายๆ ราย (ซอยรุ่นให้เยอะขึ้น อายุความใหม่สั้นลง) ซึ่งส่วนตัวมองว่าแอปเปิลจะสูญเสียความเป็น "แอปเปิล" ไปหากทำแบบนี้

เราต่างเห็นนักวิเคระห์บอกว่าแอปเปิลมีระบบจัดการที่ดีมาก ขายของน้อยรุ่น คนซื้อเยอะและพอใจ ได้กำไรดี – แถมบอกด้วยว่าหลายบริษัทควรใช้วิธีแบบนี้มากกว่าซอยรุ่นเยอะๆ ให้ตรงใจคนมากที่สุด แต่ทุกอย่างตรงกันข้าม แอปเปิลเลือกที่จะซอยรุ่นให้เยอะขึ้น และลด life cycle ของผลิตภัณฑ์ให้สั้นลงเกือบครึ่ง!

วินาทีนี้หลายคนเริ่มออกมาฟันธงอนาคตของแอปเปิลกันแล้ว ซึ่งจะแม่นหรือไม่ก็คงไม่มีใครรู้

ถึงวันนั้นคงต้องรอดูอีกทีครับ

Blognone Jobs Premium