สรุปประเด็นเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของ ITU

by mk
25 October 2012 - 10:13

ข่าวนี้เกี่ยวข้องกับข่าว [สหรัฐฯ ประกาศคว่ำข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศฉบับใหม่](http://www.blognone.com/node/37402) นะครับ ใครยังไม่ได้อ่านควรย้อนไปอ่านข่าวเก่าเสียก่อน

วันนี้ (25 ตุลาคม 2555) กสทช. ได้จัดงานเสวนาในประเด็นข้างต้น (แต่ครอบคลุมหัวข้อกว้างกว่า) ในชื่องานว่า "NBTC Public Forum 9: ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ไทยควรมีท่าทีอย่างไร"

ผมได้ไปร่วมงานนี้มาด้วย เลยสรุปประเด็นที่น่าสนใจของวิทยากรบางท่านมาลง Blognone ครับ

### สรุปประเด็นแบบสั้นๆ

- ที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตไม่เคยมีใครกำกับดูแลเต็มรูปแบบ จะมีองค์กรบางแห่ง เช่น IETF, W3C, ICANN ที่ควบคุมมาตรฐานในบางด้าน แต่องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ - ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมสากล ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติด้าน __โทรคมนาคม__ พยายามเข้ามากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอยู่เรื่อยๆ - ระเบียบ (หรือข้อบังคับ) ที่สำคัญของ ITU มีอยู่ 1 ฉบับ เรียกว่า __ITR__ หรือ International Telecommunication Regulation ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวงการโทรคมนาคมโลก เอกสารฉบับนี้แก้ไขครั้งสุดท้ายในปี 1988 (ก่อนอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดในเชิงพาณิชย์ด้วยซ้ำ) ซึ่งถือว่าเก่ามากแล้ว - ITU มีแผนการแก้ไข ITR ในที่ประชุมใหญ่ [World Conference on International Telecommunications (WCIT-2012)](http://www.itu.int/en/wcit-12/Pages/default.aspx) ที่ดูไบในเดือนธันวาคมนี้ - สมาชิก ITU __บางประเทศ__ ยื่นเสนอแก้ไข ITR ในบางประเด็นที่กลายเป็นข้อขัดแย้ง - ประเทศไทยจะต้องเสนอจุดยืนผ่าน APT (Asia Pacific Telecomminity องค์กรลูกของ ITU โซนเอเชียแปซิฟิกที่มีสมาชิก 38 ประเทศ) โดยข้อเสนอของ APT ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ต และไม่ได้สนับสนุนให้เพิ่มนิยามคำว่า ICT

### วิเคราะห์ประเด็นแก้ไขของ ITR

คุณดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สรุปประเด็นที่มีชาติสมาชิกของ ITU เสนอแก้ไข 6 ประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ดังนี้

1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องจ่ายค่าใช้งานแบบ pay-per-click ซึ่งต่างไปจากการจ่ายเหมาเป็นแพกเกจแบบปัจจุบัน 2. กำหนดให้ผู้ให้บริการสารสนเทศ (information service provider) ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเครือข่าย (sender pay model) เสนอโดยกลุ่มประเทศยุโรป (ตรงกับข่าวเก่า [สหรัฐฯ ประกาศคว่ำข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศฉบับใหม่](http://www.blognone.com/node/37402)) 3. กำหนดให้เปิดเผยประวัติการใช้งานของผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ใช้ทั่วไปและผู้ประกอบการ - เกิดจากความต้องการควบคุม content provider ที่อาจเป็นภัยต่อประเทศต่างๆ เช่น จีน - ถ้าเงื่อนไขข้อนี้ผ่าน อาจมีปัญหาในอนาคตว่ากฎหมายจากประเทศอื่นๆ มีสิทธิเหนือประเทศไทย มานำข้อมูลของผู้ใช้งานในไทยไปได้ - ถ้าข้อเสนอนี้ผ่าน อาจส่งผลให้เกิด 2 network แบบควบคุม (ใหม่) และแบบไม่ควบคุม (ปัจจุบัน) - ไอเดียของอินเทอร์เน็ตแบบควบคุมได้ คือมีองค์กรที่เข้าถึงทราฟฟิกของทุกคน รู้ว่าใครส่งอะไรไปหาใคร 4. กำหนดนิยาม spam และขยายขอบเขตของ cybersecurity ให้ครอบคลุมถึง "สารสนเทศ" (content) ด้วย - การประชุมในปี 2010 เคยตกลงกันไว้ว่าปี 2012 จะไม่คุยกัน 3 ประการคือ content, crime, security แต่ยังมีบางประเทศเสนอประเด็นเข้ามา 5. กำหนดให้มีนิยามของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ "อินเทอร์เน็ต" อยู่ในเอกสาร ITR ฉบับใหม่ เช่น กำหนดนิยามของ ICT, QoS 6. กำหนดให้สนธิสัญญาใหม่เป็นเชิงบังคับ (mandatory) ในขณะที่ของเก่าเป็นสมัครใช้ (non-mandatory) มีข้อยกเว้นเยอะ ของใหม่จะบังคับให้ทำตามทุกอย่าง

__หมายเหตุ mk:__ ในข้อ (1) รายละเอียดเรื่อง pay-per-click ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะตัวแทนของกระทรวงไอซีทีที่เข้าร่วมงานสัมมนานี้ด้วย แย้งว่าไม่มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามา

### การเมืองเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต

โดย อ.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

อินเทอร์เน็ตยุคบุกเบิกไม่มีการควบคุมโดยรัฐ (governance without governments)

- 20 ปีแรก ไม่ยุ่งกับรัฐบาลให้มากที่สุด เพราะรู้ว่าทำงานกับรัฐบาลต้องใช้เวลา และเป็นปัญหากับนวัตกรรม - มีแค่ 2 องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแล - IETF - ดูแลมาตรฐานของเทคโนโลยี - IANA - ดูแลทรัพยากรหลัก (core resources) เช่น name & address ของอินเทอร์เน็ต

ยุคที่สองเริ่มมีองค์กรอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น __Internet Society (ISOC)__ ตั้งปี 1992 โดยกลุ่ม activist ในฐานะเป็น non-profit educational organization เผื่อผลักดันอินเทอร์เน็ตให้พัฒนาขึ้นในวงกว้าง และ __W3C__ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเว็บ

โครงสร้างการกำกับดูแลในยุคที่สอง

- technology - IETF - W3C - resources - IANA - ICANN - จดทะเบียนในปี 1998 ดูแล domain name, address, protocol

โครงสร้างของอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีคิดค่าเชื่อมโยงให้เข้าถึง (access) ขอบของอินเทอร์เน็ตให้ได้เพียงเท่านั้น ส่วนการเชื่อมต่อภายในอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ โมเดลนี้ทำให้ผู้สร้างแอพพลิเคชันหรือเนื้อหาสามารถเติบโตได้ เพราะต้นทุนต่ำ จ่ายแค่ค่าเชื่อมต่อขั้นต้นเท่านั้น

ส่วน ITU เป็นหน่วยงานด้านโทรคมนาคมระดับนานาชาติ กำเนิดมานานเป็นร้อยปี เดิมที ITU กำกับดูแลกิจการไปรษณีย์ และภายหลังก็ขยับขยายมาดูเรื่องรัฐวิสาหกิจหรือบริการโทรคมนาคมของรัฐ การออกข้อตกลง ITR เมื่อปี 1988 ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของ ITU ในการเปิดเสรีภาคโทรคมนาคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ในอดีต ITU ออกมาตรฐานที่แข่งขันกับ "อินเทอร์เน็ต" หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เช่น

- มาตรฐาน ITU-T X.25 เกิดขึ้นมาในยุค 70s แต่แพ้ให้กับ TCP/IP - ITU-T พยายามเสนอ ATM ในยุค 80s ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะกระบวนการออกแบบช้า เทคโนโลยีราคาแพง - ปี 2009 ITU เข้ามาเสนอตัวช่วยดูแล IPv6 และ NGN (Next Generation Network หมายถึงเครือข่ายเดียวที่ใช้โปรโตคอล IP, MPLS, SIP) - ปี 2012 เข้ามาเรื่อง ITR (เตรียมการมาตั้งแต่ปี 2004 แต่เพิ่งผลักดันได้) ไอเดียหลายอย่างสร้างความขัดแย้ง

ความแตกต่างของไอเดียระหว่างฝั่ง "อินเทอร์เน็ต" กับ ITU

- อินเทอร์เน็ต - end-to-end, dumb network, smart device - connectionless ไม่คิดค่าเชื่อมต่อ - ผู้ใช้จ่ายเงินปลายทางเพื่อเชื่อมกับ internet - ควบคุมโดยรัฐบาลมีส่วนร่วม - ITU - dumb end device, smart network (เพราะต้องการเก็บเงิน) - connection-oriented, virtual circuit - จ่ายเงินตามปริมาณข้อมูลที่ใช้ ตามแนวทาง telcos ในอดีต - ควบคุมแบบ intergovernmental organization มีกฎเกณฑ์มากมาย

### เอกสารอ่านประกอบ

เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารให้ข้อมูลของ ITR และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มี 2 ฉบับคือจากกระทรวงไอซีที และจาก กสทช. ครับ

เนื่องจากผมได้มาเฉพาะฉบับกระดาษ ดังนั้นก็ต้องสแกนกลับมาเป็นไฟล์ อาจจะไม่ชัดสักเท่าไรนะครับ

__เอกสารจากกระทรวงไอซีที: ขั้นตอนการพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ__

ขั้นตอนการพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

__เอกสารจาก กสทช: ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITRs)__

ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITRs

Blognone Jobs Premium