รีวิว Windows 8 ฉบับการใช้งานบนแท็บเล็ต ตอนที่ 1

by mk
23 November 2012 - 15:17

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone จำนวนมากทดลองใช้ Windows 8 แล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่น่าจะใช้บนพีซีแบบดั้งเดิมที่ไม่มีจอสัมผัส และการใช้งานเกือบทั้งหมดอยู่ในโหมดเดสก์ท็อป (ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ Windows 7 มากนัก)

คนที่ติดตาม Windows 8 คงทราบดีว่ามันออกแบบมาสำหรับนิ้วสัมผัส แต่ฮาร์ดแวร์จอสัมผัสทั้งแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก และเดสก์ท็อปเองก็เพิ่งวางขายได้ไม่นานนัก ดังนั้นคนที่มีโอกาสใช้งาน Windows 8 บนจอสัมผัสน่าจะยังมีไม่เยอะเท่าไรนัก

ในโอกาสที่ค่าย Acer ส่งแท็บเล็ต Windows 8 มาให้ผมลองหนึ่งตัว ก็ได้ฤกษ์รีวิวการใช้งาน Windows 8 บนจอสัมผัสให้สมกับความตั้งใจของไมโครซอฟท์สักที (ส่วนรีวิวของตัวแท็บเล็ตจะเขียนแยกเป็นอีกตอนหนึ่งทีหลัง)

__หมายเหตุ:__

- ระหว่างการทดสอบอุปกรณ์ ผมวางกติกาให้ตัวเองว่าจะใช้มันในฐานะ "แท็บเล็ต" คือใช้นิ้วสั่งงานเพียงอย่างเดียว ไม่ต่อเมาส์และคีย์บอร์ด และพยายามทำงานในโหมด Metro เท่านั้น เพื่อให้เข้าใจมันในฐานะ "แท็บเล็ต" มากที่สุด - ไมโครซอฟท์เลิกใช้คำว่า Metro แต่ไม่ได้ประดิษฐ์คำใหม่ขึ้นมาเรียกแทน (ที่ใช้ในเอกสารของไมโครซอฟท์คือ Windows 8 UI หรือ Windows Store app) เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ก็ขอเรียกว่า Metro แบบเดิมล่ะนะครับ - รีวิวตอนแรกจะกล่าวถึงระบบการทำงานของ Metro ในภาพรวม ส่วนตอนหน้าจะเป็นเรื่องแอพมาตรฐานที่ติดมาพร้อมกับ Windows 8

### 1) วิธีการสั่งงาน Windows 8 แบบ Metro

สมาชิก Blognone คงรู้จักแนวคิดพื้นฐานของ Windows 8 กันพอสมควรแล้ว คงไม่ต้องอธิบายซ้ำว่า Start Screen หรือ charms คืออะไร ดังนั้นเราเข้าสู่ประเด็นว่าจะใช้งานหน้าจอเหล่านี้ด้วย "นิ้วมือ" อย่างไรกันดีกว่า

__การเรียกหรือกลับไปยังหน้า Start Screen__

อุปกรณ์ที่ใช้ Android/iOS ต้องเริ่มต้นที่หน้า homescreen ฉันใด เจ้าแท็บเล็ต Windows 8 ก็ต้องเริ่มที่หน้าจอ Start Screen ฉันนั้นครับ

หน้าจอ Start Screen ทำหน้าที่

- เรียกแอพให้ทำงาน (launcher) - แสดงสถานะและการแจ้งเตือนต่างๆ (notification) ผ่าน Live Tiles

การเรียก Start Screen ทำได้ทั้งหมด 3 วิธี

1. กดปุ่ม Start บนฮาร์ดแวร์แท็บเล็ต (แบบเดียวกับการกด Home บน iPad/iPhone) เอาเข้าจริงวิธีนี้แทบไม่ได้ใช้เลย 2. ปัดซ้ายเรียกรายการแอพ แล้วเลือก Start ที่อยู่มุมซ้ายล่างสุด 3. ปัดขวาเรียก charms แล้วเลือก Start ที่อยู่ตรงกลาง

ผมพบว่าใช้แบบที่ 2 และ 3 บ่อยพอๆ กัน

__Touch Gesture__

ส่วนหน้าที่อื่นที่เหลือจะอยู่ในเมนูปัด (touch gesture) ทั้ง 3 แบบ ซึ่งเรียกใช้งานได้จากทุกหน้าจอ

- การสลับแอพ (task switching) อยู่ในเมนูปัดซ้ายซึ่งเรียกใช้ได้ตลอดเวลา - การสั่งงานของระบบ (system functions) เรียกใช้ได้จากเมนูปัดขวาหรือ charm - การสั่งงานของแอพ (app functions) เรียกใช้จากเมนูปัดบน-ล่างหรือ app bar

__การสลับแอพ__

มี 2 กรณีคือ

- สลับไปยังแอพตัวก่อนหน้านี้ ใช้วิธีปัดขอบจอด้านซ้ายมือเข้ามาตรงกลางจอ ปัดไปเรื่อยๆ จะไล่แอพตัวก่อนหน้าไปเรื่อยๆ - สลับไปยังแอพตัวอื่นๆ ที่เปิดทิ้งไว้ ใช้วิธีปัดขอบจอด้านซ้ายมือเข้ามาตรงกลางจอ แต่ไม่ต้องปัดมาจนสุด ให้หยุดสักเล็กน้อย เราจะเห็นแถบแสดงรายชื่อแอพโผล่ขึ้นมาที่ขอบจอ จากนั้นก็เลือกแอพที่ต้องการ (ตามภาพประกอบ)

บนหน้าจอแบบแท็บเล็ตจะใช้การสลับแอพด้วยวิธีนี้ ส่วนวิธีการสลับแอพแบบอื่นอย่าง Alt+Tab นี่ลืมไปได้เลย ส่วนทาสก์บาร์ก็ใช้เมื่อเปิดโหมดเดสก์ท็อปเท่านั้น

__การเรียก Charms__

charms คือเมนูพิเศษสำหรับงานเฉพาะเรื่องบางอย่าง ใช้วิธีปัดจากขอบด้านขวามือเพื่อเรียก charms bar ขึ้นมาบนหน้าจอ

ส่วนองค์ประกอบย่อยของ charms จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดๆ ไป

__การเรียกทูลบาร์ของแอพ__

ใช้วิธีปัดขึ้นจากขอบล่าง หรือปัดลงจากขอบบน เพื่อเรียกทูลบาร์ของแอพที่เปิดอยู่ในตอนนั้น (ไมโครซอฟท์เรียกมันว่า app bar แต่ผมขอใช้คำว่าทูลบาร์เพื่อให้เข้าใจง่าย) ทูลบาร์อาจอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของแอพ หรือจะมีทั้งบน-ล่างพร้อมกันก็ได้ ซึ่งไม่ว่าเราจะปัดท่าไหน บนหรือล่าง ก็จะเห็นทูลบาร์ทั้งหมดของแอพตัวนั้นๆ

__การปิดแอพที่ไม่ใช้__

ในกรณีปกติไม่ต้องปิดครับ (แบบเดียวกับ Android/iOS) ยกเว้นแต่บางทีผมเจอแอพค้าง ก็ลากจากขอบบนลงมาด้านล่าง เพียงแต่ต้องลากกันไกลหน่อยเพื่อยืนยันว่าเราจะปิดแอพตัวนี้จริงๆ

### 2) ประสบการณ์การใช้งานจริงในโหมด Metro

__การสลับแอพ__

ในการใช้งานจริง การสลับแอพเป็นเรื่องสำคัญมาก ตรงนี้ต้องใช้เมนูปัดซ้ายให้คล่องๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาปรับตัวพอสมควร แต่พอคล่องแล้วเราจะสลับกลับไปยังแอพตัวก่อนหน้านี้ได้เร็วมากๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเลือกรายการ ใช้วิธีปัดๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแอพที่ต้องการ

จุดที่เป็นปัญหาของวิธีนี้คือ ไมโครซอฟท์ไม่ถือว่า Start Screen เป็นแอพตัวหนึ่ง ดังนั้นสมมติว่า

- เราอยู่ที่หน้าจอ Start - เปิดแอพ A ขึ้นมาทำงาน - ต้องการกลับไปยังหน้า Start

ผมไม่สามารถใช้วิธีปัดซ้ายเพื่อกลับไปยัง Start ได้ ต้องปัดซ้ายครึ่งหนึ่งแล้วหยุด แล้วจิ้มไอคอนของ Start ที่มุมซ้ายล่างเท่านั้น (การปัดจะเป็นการเรียกแอพตัวก่อนหน้านั้นแทน ข้ามลำดับของ Start ไปเลย) ทำให้การกลับมายังหน้า Start สะดุดพอสมควร เพราะเราต้องเสียเวลามา "คิด" สักหน่อยก่อนว่าจะกลับไป Start ได้อย่างไร

__การใช้งาน Start Screen__

ทุกอย่างในโหมด Metro ใช้การเลื่อนหน้าจอแนวขวาง (เลื่อนซ้าย-ขวา) ไม่มีการเลื่อนหน้าจอแนวตั้ง (บน-ล่าง) อีกต่อไป ซึ่งก็รวมถึงการเลื่อน Start Screen ด้วย

โดยทั่วไปแล้วผมใช้งาน Start Screen ได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่การ "ค้นหา" แอพที่ต้องการเรียกจะต่างออกไปจากการใช้งานด้วยคีย์บอร์ดและเมาส์ (กดปุ่ม Win แล้วพิมพ์ชื่อแอพที่ต้องการเรียก) บนพีซี

การค้นหาแอพบน Start Screen บนแท็บเล็ตจึงเหลือเพียง 2 วิธี คือ

- เลื่อนไปทางขวาเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแอพที่ต้องการ - ปัดขวา เปิด charms ขึ้นมา เลือก search แล้วพิมพ์ชื่อแอพที่ต้องการด้วยคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอ

ผมพบว่าตัวเองใช้วิธีแรก (เลื่อนจอไปเรื่อยๆ) มากกว่า ยกเว้นหาไม่เจอจริงๆ ก็ค่อยเปิด charms มาค้นหา

ปัญหาจะเกิดเวลาเราลงแอพเริ่มเยอะ การเลื่อนจอไปเรื่อยๆ นั้นเสียเวลามาก (และเปิด Start ขึ้นมาทุกครั้งมันจะเลื่อนตำแหน่งกลับมาที่ขอบซ้ายสุด) ในขณะที่การพิมพ์ชื่อแอพด้วยคีย์บอร์ดเสมือนก็ไม่สะดวกเท่าไรเช่นกัน สุดท้ายแล้วเราจะทนไม่ไหวเอง และพยายามจัดลำดับของ tile ให้แอพที่ใช้บ่อยอยู่หน้าซ้ายสุดหรือเกือบซ้ายสุดแทน

จุดอ่อนอีกอย่างของหน้า Start Screen คือข้อมูลมันน้อยไปนิดครับ ไม่มีทั้งนาฬิกา สัญญาณไร้สาย และแบตเตอรี่ (อันหลังนี่สำคัญมากสำหรับแท็บเล็ต) ต้องใช้วิธีปัดขวาเปิด charms ขึ้นมาดูทุกครั้ง ซึ่งน่ารำคาญเหมือนกัน ผมคิดว่าที่ว่างใน Start Screen มีเหลือเฟือ เอาข้อมูลสำคัญๆ พวกนี้มาใส่เพิ่มให้แสดงผลตลอดเวลาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

__Search__

ระบบ search ของ Windows 8 (ส่วนของ Metro) เป็น universal search คือช่องค้นหาเดียวค้นได้ทุกเรื่องในระบบ ซึ่งตรงนี้ฝั่งคนทำแอพเองต้องเตรียมระบบ search contract รอรับไว้ให้ด้วยเช่นกัน

วิธีการเปิดหน้าค้นหาของ Windows 8 ต้องสั่งผ่าน charms เท่านั้น โดยแยกเป็น 2 กรณีคือ

- ถ้าเปิด search charms จากหน้า Start Screen ค่าดีฟอลต์จะเป็นการค้นหาแอพ (เปลี่ยนเป็นการค้นหาส่วนของตั้งค่าและไฟล์ได้ด้วย) - ถ้าเปิด search charms จากหน้าแอพที่รองรับ ค่าดีฟอลต์จะเป็นการค้นข้อมูลภายในแอพ

สำหรับแอพบางตัวที่ไม่รองรับระบบ search (เช่น Calendar) เมื่อเราเปิด search charms ขึ้นมา จะให้ผลแบบเดียวกับหน้า Start คือเริ่มจากค้นแอพก่อน

__Share__

องค์ประกอบชิ้นที่สองของ charms คือปุ่ม share ซึ่งการทำงานของมันเหมือนกับเมนู share ของ Android ทุกประการ

ปุ่ม share มีหน้าที่ส่งต่อข้อมูลจากแอพตัวที่ใช้งานอยู่ไปยังแอพตัวอื่นๆ ในระบบ เช่น แชร์ภาพลงเว็บ แชร์เว็บผ่านเมล ฯลฯ ตรงนี้ฝั่งของคนทำแอพก็ต้องเขียนแอพให้ลองรับ share contract ของระบบอีกเหมือนกัน

ในการใช้งานจริง นอกจาก share จะแสดงรายชื่อแอพที่สามารถแชร์ไปหาได้แล้ว มันจะยังจำด้วยว่าเราเคยแชร์ข้อมูลไปหาใครหรือไปยังแอพตัวไหนบ้าง เพื่อให้เลือกกดง่ายๆ ในกรณีที่มีรายการแอพยาวๆ

ปัญหาเล็กๆ ของ share บน Windows 8 คือมันเป็นปุ่มที่อยู่บน charm และเข้าถึงได้เสมอจากทุกหน้าจอครับ ดังนั้นเราจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าหน้าจอปัจจุบันที่ใช้งาน มันมีอะไรให้กดแชร์ได้หรือไม่ ตรงนี้จะต่างกับ Android ที่มีเมนู share ให้ผู้ใช้เห็นก็ต่อเมื่อแอพนั้นสามารถแชร์ข้อมูลไปให้แอพอื่นๆ ได้เท่านั้น

มันเลยเกิดกรณีว่าแอพบางตัว "น่าจะ" แชร์ข้อมูลได้ในความรู้สึกของผู้ใช้ แต่เอาเข้าจริงกลับแชร์ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ผมไม่สามารถเลือกไฟล์ใน Explorer โหมดเดสก์ท็อปแล้วกดแชร์ได้ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ไม่มีหลักการอะไรบอกเลยว่ามันทำได้หรือไม่ ต้องลองเองสถานเดียวเท่านั้น

แต่โดยทั่วไปแล้ว การแชร์ข้อมูลของ Windows 8 ก็ทำงานได้ราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร ถือเป็นกรรมวิธีที่ตรงไปตรงมาและทรงประสิทธิภาพ ตามที่ Android พิสูจน์ให้เห็นมาก่อนแล้ว

ถ้ารายการแอพที่สามารถแชร์ได้ยาวเกินไป เราสามารถเลือกปิดได้ตามต้องการในหน้าจอ Settings

__Devices__

ปุ่ม devices เป็นปุ่มที่สามใน charms หน้าที่ของมันจะคล้ายกับ share แต่ต่างกันเล็กน้อย

- share คือการแชร์ข้อมูลจากแอพไปสู่แอพ - devices คือการแชร์ข้อมูลจากแอพไปสู่อุปกรณ์อื่นๆ

คำว่า "อุปกรณ์อื่น" ในที่นี้มีความหลากหลายมาก แต่ที่ใช้บ่อยที่สุดย่อมเป็นพรินเตอร์ครับ

ดังนั้นการสั่งพิมพ์บนโหมด Metro คือการเปิด devices charm แล้วเลือกเครื่องพิมพ์ที่ต้องการนั่นเอง วิธีการจะผิดไปจากโปรแกรมบนวินโดวส์เดิมอยู่บ้าง แต่หลักการก็ใกล้เคียงกัน

ปัญหาของ devices charm ก็คล้ายกับ share charm ที่ผมเขียนถึงไปแล้ว นั่นคือไม่รู้ว่าเมื่อไรบ้างที่เราสามารถแชร์ข้อมูลไปยังอุปกรณ์อื่นได้

เท่าที่ผมลอง ผมสามารถสั่งพิมพ์แผนที่จากแอพ Maps, รูปภาพจาก Photos, อีเมลจาก Mail ได้ แต่กลับไม่สามารถพิมพ์ข่าวจาก News/Sports หรือพิมพ์ปฏิทินจากแอพ Calendar ได้ ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางรู้อีกเช่นกันจนกว่าจะลองไล่กดไปทีละแอพ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ devices charm ไม่สามารถแชร์ไฟล์ไปยังหน่วยความจำภายนอก (เช่น แฟลชไดรฟ์) แบบเดียวกับ Send to ใน Windows Explorer ได้นะครับ ผมพยายามส่งไฟล์ภาพในเครื่องจากแอพ Photos ไปยังแฟลชไดรฟ์ที่เสียบเอาไว้ (และใช้งานได้ในโหมดเดสก์ท็อป) กลับไม่มีแฟลชไดรฟ์อันนี้โผล่มาให้เห็นในรายการ devices charm

ผลจากปัญหาเหล่านี้ทำให้เอาเข้าจริงแล้ว เราแทบไม่ได้ใช้ devices charm เลย ยกเว้นตอนสั่งพิมพ์ลงกระดาษเท่านั้น

__Settings__

ปุ่ม Settings เป็นปุ่มที่อยู่ด้านล่างสุดของ charms bar หน้าที่ของมันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

- ครึ่งบน คือการตั้งค่าแอพตัวนั้นๆ - ครึ่งล่าง คือการตั้งค่าของระบบ

สำหรับการตั้งค่าแอพคงไม่มีอะไรซับซ้อน โดยนักพัฒนาแอพต้องเตรียมเมนู Options และเมนูอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ให้อยู่แล้ว

กรณีของการตั้งค่าระบบ ประกอบด้วยเมนู 6 อันตามภาพ และลิงก์ตัวเล็กๆ สำหรับเข้าไปยัง PC Settings หรือแอพตั้งค่าของ Windows 8 (ซึ่งการทำงานในโหมด Metro แทบไม่ต้องใช้ Control Panel เลย)

แอพ Settings ใช้งานได้ง่ายมาก ตรงไปตรงมา กดง่ายด้วยนิ้วสัมผัส และเมนูไม่เยอะเกินความจำเป็น ครอบคลุมการใช้งานบนแท็บเล็ตได้เกือบหมด แต่ถ้าอยากได้อะไรเกินนี้ต้องเข้าไปหาใน Control Panel กันเอง ซึ่งแน่นอนว่าใช้นิ้วมือกด Control Panel ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไรครับ

__การปิดเครื่อง__

คนที่ใช้ Windows 8 บนพีซีคงรำคาญใจไม่น้อย เพราะไมโครซอฟท์เอาปุ่ม Power ไปซุกไว้ซับซ้อนมาก (อยู่ใน settings charms) แต่พอมาใช้งานบนแท็บเล็ต มันกลับไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเราไม่ต้องปิดเครื่องนั่นเองครับ

วิธีการเปลี่ยนจากการสั่งปิดเครื่องด้วยคำสั่งบนหน้าจอ มาเป็นการกดปุ่ม Power ที่ตัวแท็บเล็ต (แบบเดียวกับ iPad/Android) หรือปล่อยให้มันหลับไปเอง เวลาจะใช้งานก็เหมือนกันคือกด Power อีกทีหนึ่ง

สิ่งที่ผมพบว่าจำเป็นมากคือ Picture Password ที่ไมโครซอฟท์เอามาโฆษณาบ่อยๆ เพราะการป้อนรหัสผ่านทุกครั้งเมื่อปลุกเครื่องให้ตื่น แล้วต้องป้อนด้วยคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอไม่ใช่งานที่สนุกเลย คนที่ใช้ Windows 8 บนแท็บเล็ต "สมควรอย่างยิ่ง" ที่จะตั้งค่า Picture Password เพื่อให้ชีวิตสะดวกขึ้น

ในการใช้งานจริง Picture Password ยังไม่ค่อยแม่นเท่าไรนัก เพราะบางครั้งเราอาจลากนิ้วสั้นกว่าที่ตั้งไว้ไปหน่อย (มันไม่มีระยะเป๊ะๆ แบบ pattern unlock ของ Android) การปลดล็อคไม่ได้หลายๆ ทีจึงน่าหงุดหงิดเหมือนกัน (แต่เราสามารถสลับกลับไปป้อนรหัสผ่านแบบเดิมได้เสมอ)

__Windows Store__

การติดตั้งแอพในโหมด Metro ต้องทำผ่าน Windows Store ทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ไม่ต่างอะไรกับที่แพลตฟอร์มมือถืออื่นๆ กรุยทางมาก่อนแล้ว

การค้นหาและติดตั้งแอพใน Windows Store ตรงไปตรงมาและทำงานได้ตามที่คาดหวัง ปัญหาอยู่แค่ว่าหน้าตาของ Windows Store มันโล่งมากไปหน่อย และข้อความแสดงว่ามีแอพอัพเดตตัวเล็กมาก อาจพลาดมองไม่เห็นได้ในบางที

__คีย์บอร์ด__

คีย์บอร์ดบนหน้าจอหรือ on-screen keyboard ของ Windows 8 จะกินพื้นที่ประมาณครึ่งจอภาพ เป็นคีย์บอร์ดแบบ 4 แถว (นับรวมแถวล่าง) ไม่มีปุ่มตัวเลขมาให้ ต้องกดเปลี่ยนโหมดสัญลักษณ์ถึงจะโผล่มาให้เห็น ตรงนี้ทำให้ป้อนค่าตัวเลขได้ยากพอตัว

จุดที่น่าสนใจคือ

- เป็นคีย์บอร์ดเสมือนที่มีปุ่ม Ctrl มาให้ด้วย สามารถใช้กดปุ่มลัดแบบ Ctrl+V ได้ (กด Ctrl ก่อนหนึ่งที ไม่ต้องกดค้าง แล้วค่อยกด V) - การสลับภาษาต้องกดสองที คือกดที่ปุ่มรายการภาษามุมขวาล่าง แล้วเลือกภาษาที่ต้องการเปลี่ยน ตรงนี้ทำให้สลับภาษาลำบากอีกเหมือนกัน

ข่าวร้ายที่น่าเศร้าคือ คีย์บอร์ดเสมือนภาษาไทยใช้แป้นแบบ 4 แถวเท่ากับภาษาอังกฤษ และเป็นแป้นเวอร์ชันดัดแปลงโดยไมโครซอฟท์เอง (ตัวอักษรในแถวบนอย่าง ค ต จ กระจัดกระจายไปยังตำแหน่งต่างๆ เท่าที่มีว่าง) ใครที่คิดจะพิมพ์ภาษาไทยด้วยคีย์บอร์ดบนหน้าจออย่างเดียว ต้องฝึกกันเยอะพอสมควรครับ

การกดที่กล่องข้อความในโหมด Metro จะเรียกคีย์บอร์ดเสมือนขึ้นมาทันที (เช่นเดียวกับ Android/iOS) แต่ในโหมดเดสก์ท็อป การกดที่กล่องข้อความ คีย์บอร์ดจะไม่เด้งขึ้นมา เราต้องกดที่ไอคอนคีย์บอร์ดตรง system tray อีกทีนึงก่อนถึงจะแสดงคีย์บอร์ด ตรงนี้ผมว่าลำบากอีกเหมือนกัน

### 3) การทำงานในโหมดเดสก์ท็อป

รากเหง้าของวินโดวส์คือเดสก์ท็อป ต่อให้ตั้งใจใช้ Windows 8 ในโหมด Metro เพียงอย่างเดียว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานบางอย่างในโหมดเดสก์ท็อปอยู่ดีครับ

ตัวอย่างงานที่ต้องทำในโหมดเดสก์ท็อปแน่ๆ

- การจัดการไฟล์ผ่าน File Explorer (ชื่อใหม่ของ Windows Explorer) - การติดตั้งโปรแกรมที่จำเป็นแต่ยังไม่มีเวอร์ชัน Metro (เช่น Office 2013) - เข้าเว็บบางเว็บที่ต้องการความซับซ้อน เช่น Silverlight, Flash หรือ ActiveX - การตั้งค่าขั้นสูงที่ต้องพึ่ง Control Panel - ลงฟอนต์

ผมคิดว่าในอนาคตไมโครซอฟท์จะค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนโปรแกรมบางตัวเป็น Metro (เช่น Explorer หรือ Office) แต่ในเบื้องต้นเราก็ต้องอยู่กับโปรแกรมเวอร์ชันเดิมไปก่อนครับ

ปัญหาก็แน่นอนว่ามันไม่ได้ออกแบบมาสำหรับนิ้วสัมผัส การกดปุ่มหรือเมนูแต่ละอย่างเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก

ถึงแม้ File Explorer จะเพิ่ม Ribbon เข้ามาให้กดด้วยนิ้วได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายทั้งหมดเพราะปุ่มบางอย่างก็เล็กจิ๋วอยู่ดี

- การคลิกขวาใช้วิธีคลิกซ้ายค้างไว้สักพักหนึ่งจนมีเมนูโผล่ขึ้นมา - การเลือกไฟล์หลายๆ ไฟล์กลายเป็นเรื่องใหญ่ และทำไม่ได้ในหลาย view ของ Explorer - การคัดลอกหรือย้ายไฟล์ ต้องใช้เมนู Move to หรือ Copy to ใน Ribbon เข้าช่วย

มองโลกในแง่ดี ผมสามารถทำงานขั้นสูงหลายๆ อย่างด้วยแท็บเล็ต Windows 8 ได้เทียบเท่ากับการใช้พีซี Windows 7 เดิม เช่น ได้เอกสารที่ใช้ฟอนต์แห่งชาติ TH Sarabun New ผมสามารถดาวน์โหลดฟอนต์นี้เป็นไฟล์ .zip มาแตกไฟล์ ติดตั้งฟอนต์ แล้วเปิดเอกสารให้ออกมาตรงตามต้นฉบับได้ (ซึ่งแท็บเล็ตแพลตฟอร์มอื่นอาจทำไม่ได้เลย) เพียงแต่ประสบการณ์ใช้งานระหว่างทาง กว่าจะทำได้สำเร็จด้วยนิ้วเพียงอย่างเดียวก็ไม่ง่ายเช่นกัน

### สรุป

โดยสรุปแล้ว ประสบการณ์การใช้งาน Windows 8 บนแท็บเล็ตของผมพบว่า มันแทบจะเป็น "ระบบปฏิบัติการคนละตัว" กับการใช้ Windows 8 บนพีซีจอไม่สัมผัสเลย (อธิบายง่ายๆ ว่ามันคือระบบปฏิบัติการ Metro 1.0 ที่ดันมีเดสก์ท็อปของวินโดวส์แถมมาให้)

ตอนหน้ามาว่ากันต่อด้วย "แอพของ Windows 8" ว่ามันทำอะไรได้บ้าง และใช้งานดีมากน้อยแค่ไหนครับ

[ตอนที่ 2](http://www.blognone.com/node/38402)

Blognone Jobs Premium