รีวิว Sony VAIO Duo 11 แท็บเล็ต Windows 8 ทรงพลัง

by at1987
24 November 2012 - 13:43

เนื่องจากผมได้ถูกคนแถว ๆ นี้ยุให้ซื้อเจ้าแท็บเล็ต Windows 8 แปลงร่างที่หลาย ๆ คนกำลังสนใจนี้มา และสัญญาว่าจะเอามาลงเป็นรีวิวที่นี่ หลังจากการใช้งานไปได้เกือบเดือน ก็เลยขอนำรีวิวของเจ้า VAIO Duo 11 มาให้เพื่อน ๆ Blognone ได้อ่านกันครับ

รีวิวตัวนี้ผมสรุปเอาใจความมาจากที่ผมเขียนไว้ที่บล็อกอีกที ใครอยากดูรูปเยอะ ๆ อยากอ่านบทความยาว ๆ ก็ขอเชิญที่บล็อกได้นะครับ

Sony VAIO Duo 11 นี้ก็เป็น Convertible PC อีกรุ่นที่เป็นหัวหอกให้กับ Windows 8 ในการบุกยึดตลาดพีซีและแท็บเล็ตกลับมาจากคู่แข่งทั้ง iOS และ Android อีกครั้งหนึ่ง แต่ข้อแตกต่างระหว่าง Duo 11 กับ Convertible PC เจ้าอื่น ๆ คือเรื่องของการออกแบบ ซึ่งทาง Sony เองได้มองแตกต่างจากเจ้าอื่น ๆ ไป

การออกแบบ Convertible PC ของหลาย ๆ เจ้านั้นส่วนมากมักจะเริ่มจากฟอร์มของแล็ปท็อปก่อนเสมอ เราจึงจะเห็นว่าพีซีพวกนี้จะใช้งานในรูปแบบของแท็บเล็ตไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ Duo 11 นั้นตั้งโจทย์เริ่มต้นเลยว่าเป็นแท็บเล็ตก่อน แล้วจึงเพิ่มในส่วนของคีย์บอร์ดเข้ามาทีหลังตามโจทย์ที่ตั้งไว้

สำหรับโจทย์ในการออกแบบ VAIO Duo 11 นั้นมีอยู่ 3 ข้อคือ ประสิทธิภาพของเครื่องต้องสูง สามารถใช้งานการเขียนเหมือนกระดาษ และต้องสามารถเอามาพิมพ์งานได้เหมือนพีซีด้วย จาก 3 ข้อนี้ จึงได้เจ้า VAIO Duo 11 ที่มีลักษณะอย่างที่เห็นครับ

สำหรับรุ่นที่นำมารีวิวนั้นเป็นรุ่นรหัส SVD11215CHB ซึ่งเป็นรุ่น Oversea Model สำหรับขายในไทย โดยมีสเปกดังนี้ครับ

  • CPU: Intel Core i5-3317U ความเร็ว 1.70 GHz
  • GPU: Intel HD Graphics 4000
  • SSD: 128 GB จาก Toshiba
  • RAM: DDR3 ขนาด 4 GB เป็นบัดกรีลงบอร์ด 2 GB และใส่เป็นการ์ดแบบพิเศษ 2 GB (สรุปง่าย ๆ คือยังไงก็อัพเกรดไม่ได้)
  • Wireless: Intel Centrino Advanced-N 6235 รองรับ WiFi a/b/g/n ความเร็วสูงสุด 300 Mbps พร้อม Bluetooth 4.0 + HS
  • GPS, NFC
  • Windows 8 64 bit Single Language (เลือกได้ระหว่างภาษาอังกฤษและไทยเท่านั้นตอนเปิดเครื่องครั้งแรก ถ้าอยากได้ Language Pack เพิ่มจากที่เลือกตอนแรก ต้องซื้อ Pro pack มาอัพเกรดเป็น Windows 8 Pro ก่อน ถึงจะโหลด Language Pack อื่นมาใช้ได้)
  • ปากกา และหูฟังตัดเสียงรบกวน

สำหรับ Oversea Model อีกตัว ที่เป็นตัวท็อปสุดจะเป็น Core i7-3517U ความเร็ว 1.9 GHz, SSD 256 GB, RAM 8 GB และ Windows 8 Pro ซึ่งตัวนี้ทาง Sony ไทยไม่ได้นำเข้ามา เนื่องจากราคาจะสูงไปจนไม่มีคนซื้อ เหมือนกับ ThinkPad X1 Carbon ครับ

ในประเทศที่สามารถปรับแต่งสเปกได้ จะมีซีพียูให้เลือกตั้งแต่ Intel Core i3 ไปถึง Core i7-3517U ขนาด SSD ตั้งแต่ 64 GB – 256 GB และ RAM ตั้งแต่ 4, 6 และ 8 GB แต่ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดนั้นจะมีซีพียู Core i7-3667U ความเร็ว 2.0 GHz และ WiMAX ให้เลือกด้วย

Duo 11 จะมาในกล่องลังอย่างที่เห็น การออกแบบดูเรียบง่ายดี แต่เปิดออกมา ด้านในจะเป็นกระดาษลังน้ำตาล ใครหวังแพ็คเกจหรู ๆ เหมือน Apple ก็อาจจะผิดหวังกันหน่อย

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง ที่ชาร์จ 10.5 V พร้อมปลั๊กหัวกลมมาตรฐานมอก. ปากกาสไตลัส พร้อมหัวปากกาแบบแข็งและแบบอ่อน ปลอกปากกา ถ่านขนาด AAAA และหูฟังรุ่น MDR-NC033L2 พร้อมจุกยาง 3 ขนาด

เอาเครื่องออกมา ก็จะเจอหน้าจอขนาด 11.6″ แบบ TFT ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล ไฟส่องหลังแบบ LED หน้าจอปิดด้วยกระจกที่ทนต่อรอยขีดข่วน และใช้เทคโนโลยี OptiContrast ซึ่งเป็นการแทรกช่องว่างระหว่างพาเนลจอกับกระจกด้วยเรซิน ทำให้สีสัน และความคมชัดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดเงาสะท้อนบนหน้าจออีกด้วย

ตัวหน้าจอรองรับมัลติทัชถึง 10 จุด และการเขียนหน้าจอด้วยปากกา สำหรับพื้นผิวของกระจกนั้นทำมาลื่นมาก ทำให้เวลาทัชบนหน้าจอนั้นสะดวกและคล่องแคล่ว และช่วยในการทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น

จากการใช้งานจริง ยอมรับว่าเป็นหน้าจอที่ดีมากตัวนึง ภาพคม สีสด มุมมองกว้าง ตัวพาเนลจอกับกระจกแทบจะมองเห็นเป็นชิ้นเดียวกัน ส่วนเรื่องเงาสะท้อน ถึงแม้ว่าจะทำได้ดีกว่าจอกระจกตัวอื่น แต่ก็ยังมีการสะท้อนอยู่ดี

การออกแบบตัวเครื่องยังยึด flat design เหมือนในพี่น้อง VAIO ตัวอื่นในช่วง 1 - 2 ปีนี้ วัสดุส่วนมากเป็นโลหะ จะมีกรอบจอด้านบน - ล่าง และด้านล่างเครื่องที่เป็นพลาสติก ตัวพลาสติกที่ใช้ขอบจอนั้นเป็นรอยขนแมวง่ายมาก

ขนาดตัวเครื่องจัดว่าใหญ่มาก ความกว้างของเครื่องเท่ากับ HP Folio 13 เลย แต่หนา 19.9 มม. บางกว่ามาตรฐาน Ultrabook แบบ Convetible ของ Intel ที่กำหนดไว้ที่ 23 มม. ซึ่งในงานเปิดตัว ทาง Sony เคลมว่าทำได้บางกว่าใครเพื่อน สำหรับน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 1.3 กก. ไม่สามารถถืออย่างมั่นคงได้ด้วยมือเดียวเหมือนแท็บเล็ตทั่ว ๆ ไปครับ

กล้องหน้าใช้เซนเซอร์ Exmor R for PC ความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล โฟกัสคงที่ และเซนเซอร์วัดแสง ภาพที่ได้ก็กล้องเว็บแคมแบบที่ใส่มาให้กับแล็ปท็อปทั่วไป เรื่องสีสันผมว่าโอเค แต่น็อยส์เยอะมากครับ

ด้านล่างเครื่องออกแบบมาเรียบ ๆ ไม่มีช่องรับลมหรือระบายอากาศเลย แต่มีกล้องหลัง เสาของ NFC และช่องเชื่อมต่อกับ Sheet Battery ที่เป็นอุปกรณ์เสริมอยู่

เนื่องจากน้ำหนักตัวของมันที่จัดว่าเยอะในการใช้งานเป็นแท็บเล็ต การวางตำแหน่งเสา NFC แบบนี้ ใช้งานจริงยากมากครับ

ด้านล่างยังเป็นที่อยู่ของปุ่มควบคุมเสียง ปุ่มเปิด – ปิด autorotate หน้าจอ และปุ่ม Assist สำหรับเรียกโปรแกรม VAIO Care บอกตามตรงว่าออกแบบมาได้กดยากมาก ๆ ในการใช้งานแนวนอนครับ ถ้าใช้งานแนวตั้งจะกดง่ายกว่านิดนึง เพราะมันจะอยู่ตรงบริเวณที่มือเราไปจับพอดี แต่เนื่องจากปุ่มทำมาเตี้ยมาก ทำให้คลำหาลำบากอีก

จุดเด่นของ Duo 11 คือการซ่อนคีย์บอร์ดไว้ด้านล่างของหน้าจอ ซึ่งเวลาใช้ก็ดึงหน้าจอขึ้น แล้วกลไก Surf Slider จะเลื่อนจอต่อไปจนสุดให้เอง โดยตัวจอจะเอนไป 60 องศา

เนื่องจากความซับซ้อนของกลไก Surf Slider จึงทำให้ Duo 11 ทุกเครื่องนั้นต้องถูกผลิตที่ญี่ปุ่นเท่านั้น เข้าใจว่าจะผลิตที่โรงงาน Sony Nagano TEC ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ VAIO ทุกรุ่นครับ

ส่วนเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อ มีมาให้อย่างครบครัน ทั้ง VGA, HDMI, USB 3.0, Gigabit LAN และตัวอ่าน SD card และ Memory Stick

ด้านหลังจะมีโลโก้ VAIO ชุบโครเมียมอยู่ และมีโลโก้ Windows และ Intel สกรีนอยู่ ซึ่งเรื่องโลโก้ Windows ที่สกรีนอยู่ ทำเอาคนของไมโครซอฟท์ไทยที่เห็นแปลกใจ เพราะใน Windows 8 คอมพิวเตอร์ที่ OEM ซอฟต์แวร์ไปใช้ จะถูกให้ติด Genuine Microsoft Label แทน COA แบบเก่า (ส่วน Product Key จะถูกเก็บใน BIOS แทน) ตรงนี้ผมก็ไม่ทราบว่าทาง Sony มีได้สิทธิ์อะไรพิเศษแตกต่างจากเจ้าอื่น ๆ หรือเปล่านะครับ

สำหรับคีย์บอร์ดด้านล่างนั้นเป็นแบบ 6 แถว มีไฟส่องสว่างที่ทำงานแบบอัตโนมัติ พร้อม Optical Track Pad ตัวแป้นนั้นมีขนาดเล็กและมีช่วงกดที่สั้นมากกว่า Ultrabook ทั่ว ๆ ไป ทำให้เกิดปัญหากดคีย์ไม่ติดหรือพิมพ์เกินเวลาพิมพ์เร็ว ๆ ซึ่งแก้ได้โดยการกดคีย์ให้หนักมือมากขึ้น นอกจากนี้ปุ่มแถวที่ 5 ทางขวาก็มีการลดขนาดแป้นให้เล็กกว่าปกติ เพื่อให้ใส่คีย์ทิศทางได้ ทำให้อาจจะกะปุ่มที่จะกดเวลาพิมพ์พลาดเหมือนกัน

ส่วน Optical trackpad นั้นมันแทบจะยกมาจากเคสคีย์บอร์ดของ ThinkPad Tablet รุ่นแรกเลย ใครใช้แล็ปท็อปธุรกิจบ่อย ๆ ก็น่าจะคุ้นเคยการใช้งานไม่ยากอะไร เพราะใช้งานเหมือนกัน

จากการใช้งานของผมยอมรับว่าคีย์บอร์ดตัวนี้ไม่เหมาะกับการใช้พิมพ์เป็นเวลานาน ๆ และคนที่ใช้ optical trackpad ไม่เป็น จะเสียเวลาในการละมือจากคีย์บอร์ดเพื่อไปจิ้มหน้าจอครับ

ส่วนตัวปากกานั้น เป็นแบบใส่ถ่าน ตัวปากกามีน้ำหนักเหมือนพวกปากการาคาแพง จับการเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและแม่นยำ มีปุ่มสำหรับเรียกโปรแกรม Active Clip และปุ่มยางลบ (เพราะก้นของปากกาตัวนี้เป็นที่ร้อยสาย) ปุ่มยางลบถ้ากดสองทีจะเรียกแอพ Note Anytime ได้

เวลาใช้งานปากกาเขียนลงหน้าจอ Duo 11 จะไม่รับการป้อนค่าจากหน้าจอสัมผัสด้วย ทำให้เราสามารถเขียนหน้าจอในลักษณะที่คุ้นเคยได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากหน้าจอมันลื่นมาก อาจจะทำให้เวลาใช้ปากกาเขียนมันจะไม่มีแรงต้านเหมือนเขียนบนกระดาษ ซึ่งก็แก้ไขได้โดยการติดฟิล์มกันรอยแบบด้านที่เป็นอุปกรณ์เสริม โดยนอกจากจะเพิ่มความฝืดให้หน้าจอแล้ว ยังลดแสงสะท้อนของหน้าจอลงอีกด้วย

ในเรื่องของวิธีการใช้งานนั้น ใครเคยใช้ Tablet PC ของ Microsoft เมื่อก่อน มันใช้งานอย่างไร กับ Duo 11 ก็ใช้งานเหมือนกัน ฟีเจอร์ทุกอย่างยังอยู่ครบ แค่จับมาแต่งหน้าทาปากบน Windows 8 เท่านั้นเอง แต่แนวทางการใช้ปากกากับการใช้มัลติทัชควบคุมบน Windows 8 นั้นไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง อะไรที่ทำในการทัชได้ ไม่จำเป็นว่าต้องทำได้เวลาใช้ปากกา เท่ากับว่าในการใช้งาน Duo 11 เราจะต้องเรียนรู้การใช้งาน Windows 8 จากการอินพุตสามแบบที่มีให้ ซึ่งตรงนี้คงไม่ใช่ความผิดของ Sony แต่เป็นทาง Microsoft ที่ต้องจัดการตรงจุดนี้

โปรแกรมที่รองรับการใช้ปากกาตัวนี้นั้น หากมันรองรับระบบ Tablet PC ของ Microsoft ก็รองรับการใช้งานทั้งหมด แต่ก็มีบางแอพเช่น Reader ที่ยังใช้ยางลบไม่ได้ หรือโปรแกรม Adobe Photoshop Element 10 ที่แถมมาให้ ไม่สามารถใช้งานเป็นปากกาได้เลย

ส่วนเรื่องเสียงของ Duo 11 เสียงของลำโพงที่ติดมาจะเน้นในส่วนของเสียงกลาง ซึ่งดัง ชัดเจน แต่ก็ยังฟังกลวง และไม่มีเบสออกมาเหมือนกับลำโพง Ultrabook อื่น ๆ แต่ในส่วนของแจ็คหูฟังนั้นเรียกว่าจัดเต็ม เสียงที่ออกจากแจ็คหูฟังซึ่งใช้แอมป์ดิจิตอล S-Master ตัวเดียวกับที่ใช้ใน Walkman รุ่นสูง ๆ ในการขับนั้นหนา ชัดเจน ไม่มีเสียงจี่รบกวนเหมือนในแล็ปท็อปทั่ว ๆ ไป ผมลองเอาหูฟังที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันทั้ง ue super.fi 3 studio และ XBA-1 มาลองดู เสียงที่ได้นั้นหนาและมีพลังกว่า iPOD nano ที่ใช้ฟังเป็นประจำซะอีก

ตัวหูฟัง MDR-NC033L2 ที่ให้มานั้น คือตัวเดียวกันกับที่แถมให้ใน Walkman Z ที่ขายในญี่ปุ่น ด้านสเปกนั้นมันเหมือนกับรุ่น MDR-NC33 เลย แต่ตัดส่วนประมวลผล Noise Canceling ออกไป ใช้การประมวลผลจาก Duo 11 แทน เสียงที่ออกมาในแนวเหมือนหูฟังตัวขับแบบไดนามิค คือเน้นเสียงกลางและเบสมากกว่าเสียงแหลม เสียงเบสลงได้ลึกกว่าหูฟังประจำผมทั้งสองตัว แต่ไม่ถึงขนาดดังเหมือนฟังกับลำโพงที่มีซับ การแยกรายละเอียดเสียงทำออกมาได้ดี มิติเสียงกว้าง ไม่อุดอู้

ส่วนระบบตัดเสียงรบกวน เนื่องจากตัวหูฟังมันเป็นแบบสอดหูอยู่แล้ว เลยสามารถกันเสียงเข้าออกได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เจอปัญหาเหมือนกับ XBA-1 คือกันเสียงต่ำ ๆ ได้ไม่ค่อยดี แต่รอบนี้สามารถกันได้ด้วยการเปิด Noise Canceling แทน ซึ่งยอมรับว่าพอเปิดแล้วมันเงียบจริง ตัดได้แม้กระทั่งคนคุยกันที่ไม่ดังมากได้

ส่วนของซอฟต์แวร์นั้น ยังแถมให้เหมือนกับ VAIO รุ่นอื่น ๆ แต่ตัวที่น่าสนใจคือแอพเฉพาะของ Sony ในส่วนของ Modern UI คือ Album, Music และ Socialife ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับใน Xperia Tablet S ครับ สามารถโหลดได้จากหมวด VAIO Picks บน Windows Store

แต่จากการใช้งานมา ไม่ประทับใจครับ เพราะฟีเจอร์ไม่ได้แตกต่างกับแอพของ Windows 8 และยังทำงานได้ช้าอยู่ จริง ๆ โปรแกรมที่ให้มาตัวที่ผมประทับใจที่สุดคือ vMUSIC ที่ให้เราฟังเพลงจากค่าย BEC Tero ฟรี และ Photoshop Element 10 ตัวเต็มที่มีมูลค่าประมาณ 5,000 กว่าบาทถ้าต้องออกเงินซื้อเองครับ

สำหรับความเร็วการใช้งานและตอบสนองของเครื่อง ต้องขอบคุณ SSD และ Windows 8 ด้วยที่ทำให้การเปิด – ปิด sleep – wake การหมุนหน้าจอตามแนวการถือเครื่องนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เหมือนกับการใช้แท็บเล็ตใน OS ยอดนิยมอื่น ๆ สำหรับความเร็วในการใช้งานนั้น ในงานที่ผมทำอยู่ ถือว่าสเปกเครื่องที่ได้มานั้นเพียงพอต่อการใช้งาน คะแนน Windows Experience Index ซึ่งคะแนนต่าง ๆ ที่ได้ก็ออกมาตามคาด สำหรับ Ultrabook ที่เป็น Core i5 ครับ

จุดเด่นอีกจุดที่น่าพูดถึงคือตัว Rapid Wake ซึ่งเป็นการสั่งให้เครื่อง VAIO ทำการเก็บข้อมูลลง SSD ของเครื่องก่อนการ sleep ซึ่งช่วยตัดปัญหาที่จะต้องใช้ไฟเลี้ยงเครื่องขณะเครื่องกำลัง sleep อยู่ ฟังดูอาจจะคล้าย ๆ การสั่ง hibernate ของตัว Windows เอง แต่ความเร็วของ Rapid Wake นั้นเร็วพอ ๆ กับการสั่ง sleep – wake แบบปกติครับ

สรุป จากการใช้ชีวิตร่วมกับมันมา ยอมรับว่ามันช่วยให้ผมทำอะไรได้มากกว่าแล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตอื่นจริง ๆ Sony ทำได้ดีกับการนำข้อดีของอุปกรณ์ทั้งสองชนิดมารวมกัน แล้วใส่เทคโนโลยีดี ๆ ที่ตัวเองมีอยู่แล้วลงไป ทำให้ตอนนี้มันเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ Windows 8 ไม่กี่ตัว ที่รองรับอินพุตควบคุม การเชื่อมต่อ เซนเซอร์ที่ครบเครื่องมากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวมันเองก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ทั้งเรื่องขนาดที่ไม่ได้กะทัดรัดอย่างที่คิด น้ำหนักที่จัดว่าหนักสำหรับการใช้งานเป็นแท็บเล็ต

โดยรวมแล้ว Sony VAIO Duo 11 เป็นอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน Windows 8 ทั้งสองโลก คือ เรื่องความบันเทิงและเรื่องงานได้ดีที่สุดในขณะนี้ครับ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ไม่เคยใช้ Windows 8 แล้วไปเริ่มต้นลองเล่นกับเครื่องนี้เป็นเครื่องแรก คุณจะต้องหลงรักทั้ง Duo 11 และ Windows 8 อย่างแน่นอน

Like

  • วัสดุและงานประกอบเนี้ยบ
  • หน้าจอพาเนล OptiContrast สีสด คมชัด มุมมองกว้าง
  • รองรับการอินพุทอันหลากหลาย ทั้งหน้าจอสัมผัส ปากกา คีย์บอร์ด และ optical trackpad
  • ฟีเจอร์เสริมของปากกาใช้งานได้จริง ทั้ง Active Clip , Note Anytime และแอพอื่น ๆ ที่รองรับ Tablet PC
  • รองรับการเชื่อมต่ออย่างครบถ้วน ทั้ง USB 3.0, VGA, HDMI, Gigabit LAN, a/b/g/n WiFi, Bluetooth 4.0 + HS และ NFC
  • แจ็คหูฟังพร้อมแอมป์ S-Master หูฟัง Noise Canceling
  • มันเกิดมาเพื่อ Windows 8 จริง ๆ

Don’t like

  • ขอบจอที่เป็นพลาสติกเป็นรอยขนแมวง่าย
  • ขนาดและน้ำหนักเยอะไปเมื่อเทียบกับแท็บเล็ต
  • คีย์บอร์ดไม่เหมาะกับการพิมพ์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ
  • กล้องคุณภาพไม่ดีอย่างที่คิด
  • การใช้งานบางฟีเจอร์นั้นออกแบบมาไม่ดี เช่น การใช้งาน NFC หน้าจอที่ไม่ยอมกลับตำแหน่งเดิมเมื่อสไลด์คีย์บอร์ด
  • แอพเฉพาะของ Sony ฝั่ง Modern UI ยังไม่มีฟีเจอร์ที่แตกต่างจากแอพของ Microsoft และยังมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร

ลิงก์เพิ่มเติม

รีวิว Sony VAIO Duo 11 ตัวขายจริง ภาคฮาร์ดแวร์

รีวิว Sony VAIO Duo 11 ตัวขายจริง ภาคซอฟต์แวร์และการใช้งานจริง

Blognone Jobs Premium