รีวิว Acer Iconia W700 แท็บเล็ตลูกผสมพีซีตั้งโต๊ะ

by mk
28 November 2012 - 15:31

การเปิดตัว Windows 8 ทำให้เราเห็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบ (form factor) ใหม่ๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแท็บเล็ตแบบไฮบริดผสมกับโน้ตบุ๊ก และมีวิธีการเชื่อมต่อจอกับคีย์บอร์ดที่แตกต่างกันไป เช่น แยกจอกับคีย์บอร์ดออกจากกัน หมุนจอ เลื่อนจอ หรือพับจอ ฯลฯ

แต่อุปกรณ์ที่ว่ามาทั้งหมดเป็นลูกผสมระหว่าง "แท็บเล็ต" กับ "โน้ตบุ๊ก" ซึ่งในตลาดก็ยังมีแนวคิดแหวกแนวแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเช่นกัน และผลิตภัณฑ์ที่ผมนำมารีวิววันนี้เป็นลูกผสมระหว่าง "แท็บเล็ต" กับ "พีซีแบบตั้งโต๊ะ" ครับ

รีวิวนี้เน้นหนักไปที่ฮาร์ดแวร์ ส่วนซอฟต์แวร์อ่านได้จาก รีวิว Windows 8 ฉบับแท็บเล็ต ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2

ชื่อและตำแหน่งของผลิตภัณฑ์

ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลของตัวผลิตภัณฑ์เล็กน้อยนะครับ อย่างแรกคือชื่อรุ่น เท่าที่ผมเช็คข้อมูลดู Acer เรียกมัน 2 ชื่อคือ Acer Iconia W7 หรือ W700 ซึ่งเข้าใจว่าเรียกให้แตกต่างไปแต่ละประเทศ (บนกล่องผลิตภัณฑ์ที่ได้มาก็มีทั้งคำว่า W7 และ W700 เช่นกัน)

ในรีวิวนี้จึงขอเรียกตามโบรชัวร์ของ Acer ประเทศไทยว่า W700 ครับ

ส่วนตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ ในเวลาขณะที่เขียนบทความนี้ Acer มีผลิตภัณฑ์แท็บเล็ต Windows 8 ทำตลาดสองตัวคือ W510 ซึ่งเป็นแท็บเล็ตขนาดมาตรฐาน 10.1 นิ้ว ใช้วิธีต่อคีย์บอร์ดประกอบร่างเป็นโน้ตบุ๊กได้ กับ W700 แท็บเล็ตขนาดใหญ่ 11.6 นิ้ว ที่จะรีวิวในวันนี้

สเปก

สเปกคร่าวๆ ของรุ่นที่ได้มาทดสอบ

  • หน้าจอ IPS ขนาด 11.6 นิ้ว ความละเอียด 1920x1080
  • ซีพียู Core i5-3317U 1.7GHz ดูอัลคอร์
  • แรม 4GB
  • จีพียู Intel HD 4000
  • SSD 128GB
  • กล้องหลัง 5MP, กล้องหน้า 720p
  • USB 3.0 1 พอร์ต, Micro HDMI
  • น้ำหนัก 2.3 ปอนด์ หรือ 1.04 กิโลกรัม
  • แบตเตอรี่อยู่ได้ 8 ชั่วโมง (หาสเปกละเอียดไม่เจอครับ)
  • เชื่อมต่อเน็ตแบบ Wi-Fi (มีรุ่น 3G ด้วย)
  • ที่เหลือดูใน Acer Press

อุปกรณ์เสริมที่มีให้ในชุดได้แก่

  • สายชาร์จ
  • ชุด dock
  • หัวแปลง Micro HDMI to VGA
  • เคสหนัง
  • ไม่มีคีย์บอร์ดมาให้ในชุด (ในรีวิวต่างประเทศบางชิ้น มีคีย์บอร์ด Bluetooth มาให้ด้วย)

ราคาขายตามโบรชัวร์ของ Acer อยู่ที่ 25,900 บาทสำหรับรุ่น Wi-Fi และ 29,900 บาทสำหรับรุ่น 3G

แท็บเล็ต

ดูสเปกกันจบแล้วก็มาดูตัวฮาร์ดแวร์กันเลยนะครับ เริ่มจากตัวแท็บเล็ตชิ้นหลักก่อน W700 ถือเป็นแท็บเล็ตที่มีขนาดใหญ่มากคือ 11.6 นิ้ว (เกือบเท่าโน้ตบุ๊กขนาด 12 นิ้วเลยทีเดียว) และหนักถึง 1 กิโลกรัม ถือกันเกร็งเลยเหมือนกัน

ตัวแท็บเล็ตเป็นทรงสีเหลี่ยมขอบโค้งมนเล็กน้อย แต่ลักษณะสมมาตรกันหมดทุกด้าน (ไม่เหมือน iPad ที่หลังโค้งเยอะกว่าด้านหน้า) ลีลาการดีไซน์ตามแบบฉบับ Acer คือกระจกสีดำตัดกับโลหะสีเงิน

ขอบด้านซ้ายมือเป็นพอร์ตเชื่อมต่อ ได้แก่ Micro HDMI, USB 3.0, ช่องเสียบสายชาร์จ ทั้งหมดตกแต่งด้วยข้อความของ Acer ดังภาพ

ขอบขวามีปุ่ม power, volume, ช่องเสียบหูฟัง และข้อความ ICONIA

ขอบด้านบนเป็นช่องระบายความร้อน (ข้างในมันเป็น Core i5 นะครับ อย่าลืม) และปุ่ม rotation lock

ขอบด้านล่างเป็นลำโพง 2 ฝั่ง

ด้านหน้าของตัวเครื่อง ใต้จอมีปุ่ม Start ตามสไตล์ Windows 8 สำหรับเรียก Start Screen ครับ (เอาจริงแทบไม่ได้ใช้)

ด้านหลังของเครื่อง แบตถอดไม่ได้นะครับ

โลโก้ Core i5 พร้อม Windows 8

เปรียบเทียบขนาด

เพื่อให้เห็นภาพก็ขอเทียบกับแท็บเล็ตมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่าง iPad นะครับ (ในภาพคือ iPad 3)

ความกว้างของตัวเครื่องใกล้เคียงกันมาก แต่ความยาวต่างกันเยอะเลย

ความหนาก็ต่างกันพอสมควรครับ

โดยสรุปแล้ว W700 ใหญ่และหนักกว่าแท็บเล็ตทั่วไปในท้องตลาดมาก ถือยากและหนักทีเดียว แต่มันก็มีเหตุผลของความใหญ่โตอยู่ เพราะมันออกแบบมาสำหรับ dock นั่นเอง

Dock

จุดสำคัญของ W700 อยู่ที่การประกอบร่างเข้ากับ docking station เพื่อแปลงร่างจากแท็บเล็ตมาเป็นพีซีตั้งโต๊ะ

ย้ำว่าเป็น "พีซีตั้งโต๊ะ" เลยนะครับ ไม่ใช่โน้ตบุ๊กแต่อย่างใด

เพื่อให้เห็นภาพก็ขอแปะภาพแบบจัดเต็ม ต่อทุกอย่างที่เป็นไปได้เลยนะครับ ออกมาหน้าตาแบบนี้

กลุ่มเป้าหมายของ W700 คือผู้ใช้ภาคธุรกิจที่นั่งอยู่กับโต๊ะเป็นหลัก วาง dock ไว้บนโต๊ะทำงาน ต่อคีย์บอร์ดขนาดเต็ม ต่อเมาส์ ต่อจอแยก ซึ่งคนกลุ่มนี้ใช้งานคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้กับโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว (ใช้โน้ตบุ๊กในฐานะพีซี)

แต่สิ่งที่ W700 ตอบโจทย์ให้ได้มากกว่าคือเวลาที่ต้องออกนอกสถานที่ ก็ดึงแท็บเล็ตออกมาจาก dock และพกใส่กระเป๋าออกไปได้เลย สิ่งที่พกออกไปในสำนักงานคือแท็บเล็ตที่มีความสามารถเท่ากับพีซี ไฟล์งานเดิมอยู่ครบ แต่ออกแบบมาสำหรับนิ้วสัมผัสเป็นหลัก ดังนั้นการอ่านเอกสารบนยานพาหนะ จึงทำได้ง่ายกว่าการพกพาโน้ตบุ๊กแบบเดิมๆ มาก

แนวคิดของ W700 จึงพยายามตอบโจทย์ลูกค้าที่เคยพกทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตออกนอกสถานที่ ให้เหลือแท็บเล็ตเพียงตัวเดียว และเมื่อกลับมาถึงโต๊ะทำงานก็เสียบเข้ากับ dock กลายเป็นพีซีตัวเต็ม มีพลังประมวลผลสูง และต่อพ่วงอุปกรณ์เสริมได้เยอะ

ทีนี้มาดูตัว dock กันละเอียดๆ สักหน่อย กลไกของมันไม่มีอะไรซับซ้อนครับ เป็นกรอบขนาดใหญ่ครอบครึ่งหนึ่งของตัวเครื่อง และมี "ขาตั้ง" เป็นแผ่นพลาสติกมายันกับพื้นเอาไว้

ขาตั้งที่ว่านี้มีลูกเล่นเล็กน้อยคือถอดออก เพื่อเสียบเป็นขาตั้งในแนวตั้งได้ (dock แนวตั้งสำหรับอ่านเอกสารยาวๆ) ผมลองแล้วไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร เลยไม่ได้ถ่ายภาพมาด้วย

ตัว dock เปล่าๆ หน้าตาเป็นแบบนี้ ขอบด้านล่างเป็นรางสำหรับสไลด์แท็บเล็ตเข้ากับพอร์ตด้านซ้ายมือ

อธิบายเป็นคำพูดยากเล็กน้อย แต่ดูภาพน่าจะเข้าใจกันดี วางแท็บเล็ตบนรางแล้วดันเข้าไปจนสุด

จุดเชื่อมต่อของ dock กับแท็บเล็ตคือพอร์ต USB กับช่องเสียบสายชาร์จ จากมุมนี้จะเห็นว่าขอบด้านซ้ายมือของ dock สูงไม่เท่ากับตัวแท็บเล็ต อันนี้เขาทำมาเพื่อให้เราเสียบสาย Micro HDMI กับแท็บเล็ตได้โดยตรง (ไม่ต้องผ่าน dock)

แปลงร่างสมบูรณ์ ต่อสายกันแบบนี้ครับ ด้านหลังมี USB ให้ 3 พอร์ต พร้อมสายชาร์จของ dock (ให้สายเดียวกับของแท็บเล็ต) และมีช่องเหลื่อมให้สาย Micro HDMI ต่อไปที่ตัวแท็บเล็ตได้โดยตรง

การใช้งานจริง

ผมพยายามใช้งาน Acer W700 ตามคอนฟิกที่ Acer อยากให้เราใช้ นั่นคือวาง dock และอุปกรณ์เสริมไว้บนโต๊ะทำงานตลอดเวลา และถอดแท็บเล็ตกลับบ้านตอนเย็นหลังเลิกงาน

หลังใช้มา 2-3 วัน พบว่าไอเดียการออกแบบระบบปฏิบัติการ Windows 8 ของไมโครซอฟท์ทำมาดีมาก นั่นคือ ตอนที่เป็นแท็บเล็ตเราก็ใช้มันในโหมด Metro เป็นหลัก แต่เมื่อประกอบร่างเป็น dock มีเมาส์และคีย์บอร์ด มันจะกลายร่างเป็นพีซีทันที งานเกือบทั้งหมดทำในโหมดเดสก์ท็อป แทบไม่ต้องยุ่งกับ Metro เลย เหมือนการใช้ Windows 8 บนโน้ตบุ๊กจอไม่สัมผัสทั่วไป

พอโน้ตบุ๊กกับแท็บเล็ตกลายเป็นอุปกรณ์ตัวเดียวกัน ทุกอย่างก็ง่าย เพราะใช้ข้อมูลชุดเดียวกันเสมอ รันโปรแกรมของพีซีได้ในยามที่ต้องใช้งาน (ถึงแม้การใช้โปรแกรมเดสก์ท็อปด้วยนิ้วจะยากไปบ้าง) เบื่อๆ ก็สามารถเล่นเกมของพีซีได้โดยไม่ต้องพยายามอะไรเป็นพิเศษ

แท็บเล็ตที่เล่นเกมพีซีได้ (ผมลงเกมผ่าน Steam ในภาพคือเกม Serious Sam ที่ 1920x1080 @ 30FPS) นี่ถือเป็นจุดขายมากๆ ของแพลตฟอร์ม Windows 8 เลยนะครับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แนวคิดดีจริงแต่ในการใช้งานจริงก็ยังมีจุดอ่อนอยู่มาก เช่น

  • หน้าจอขนาด 11.6 นิ้ว ใหญ่มากไปสำหรับแท็บเล็ต แต่พอมองมันเป็นพีซีเดสก์ท็อป กลับเล็กไปเสียอีก (ปัญหานี้บรรเทาได้โดยการต่อจอนอก)
  • หน้าจอความละเอียด 1920x1080 ใช้งานดีมากสำหรับโหมด Metro เพราะขยายขนาดของ UI เท่ากับความละเอียดจออัตโนมัติ แต่พอรันโหมดเดสก์ท็อปด้วยความละเอียด 1920x1080 ในหน้าจอขนาด 11.6 นิ้ว ผลออกมาแย่มาก เพราะตัวหนังสือเล็กจิ๋วจนแทบอ่านไม่ออก และการเปลี่ยนความละเอียดทุกครั้งเมื่อสลับโหมดก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก
  • ผมค้นพบโดยบังเอิญว่า dock รุ่นนี้ถ้าไม่ต่อไฟ มันใช้งานไม่ได้เลยครับ (คือใช้ไฟเลี้ยงจากตัวแท็บเล็ตไม่ได้) ถ้าไฟดับด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คีย์บอร์ดกับเมาส์ที่ต่อผ่าน USB หยุดทำงานทันที (แต่ถ้าใช้ผ่าน Bluetooth คงไม่มีปัญหา)
  • dock ทำมาเสียใหญ่โต แต่กลับไม่มีช่องสำคัญที่ควรมีอย่าง SD reader
  • อย่างที่เคยเขียนในส่วนของรีวิว Windows 8 ไปแล้วว่า โหมด Metro ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของตัวระบบเองและแอพที่มีให้ใช้ การใช้งาน W700 ในฐานะแท็บเล็ต (จริงๆ คงรวมถึงแท็บเล็ต Windows 8 ทุกตัวในตอนนี้) จึงด้อยกว่าคู่แข่งแพลตฟอร์มอื่นอยู่พอตัว

ซอฟต์แวร์

ตัวระบบปฏิบัติการเป็น Windows 8 ตามมาตรฐานของไมโครซอฟท์อยู่แล้ว แต่ Acer ก็แถมแอพ และปรับแต่งตัวระบบมาให้อีกเล็กน้อย

เริ่มจากแอพที่แถมมาก็ตามภาพ ที่ตกขอบจอไปคือ McAfee Internet Security (แอพเดสก์ท็อป) และ Acer Cloud (แอพเดสก์ท็อป ตัวเดียวกับในรีวิว Acer CloudMobile)

แอพ Acer Explorer ที่เป็น Metro ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นแค่แหล่งแนะนำแอพใหม่ๆ ใน Windows Store เท่านั้นเอง

นอกจากแอพแถมแล้ว Acer ยังปรับแต่งตัวระบบปฏิบัติการอีกเล็กน้อย โดยเพิ่ม gesture สัมผัสหน้าจอด้วย 5 นิ้ว จะเปิดโปรแกรม AcerRing ขึ้นมาเต็มหน้าจอ (เป็นแอพแบบเดสก์ท็อป) หน้าที่ของมันคือเข้าถึงส่วนต่างๆ ภายในเครื่อง แบบเดียวกับ Ring บนแท็บเล็ต Android ของ Acer

ส่วนของการควบคุมเครื่องก็มีรายละเอียดเยอะพอสมควร เช่น ตั้งค่า Wi-Fi, ความสว่างหน้าจอ, การล็อกเครื่อง, วิธีการแสดงผลบนจอนอก เป็นต้น

ประสิทธิภาพ

คะแนน Windows Experience Index ก็ตามภาพครับ (หน้าตาแท็บเล็ต แต่ข้างในมันก็พีซีดีๆ นี่เอง)

ผมไม่ได้ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี่จริงจังนัก แต่เท่าที่ตัวเลขสถานะแบตเตอรี่รายงานก็อยู่ได้ตามที่โฆษณา คือประมาณ 7 ชั่วโมงนิดๆ ส่วนความร้อนของตัวเครื่องไม่ถือว่าเย็น แต่ก็ไม่ร้อนจนลวก ถือว่าใกล้เคียงกับ iPad 3

จุดที่เป็นปัญหานิดๆ คือเวลาที่ปลุกเครื่องให้ตื่น ซึ่งข้อจำกัดของแท็บเล็ต x86 ปลุกช้ากว่าอุปกรณ์สาย ARM อยู่บ้าง ผมลองถ่ายเป็นวิดีโอมาให้ดู จะเห็นว่ากดปุ่ม Power แล้วต้องรออีกสักอึดใจหนึ่งกว่าจะมา

ในขณะที่การบูตและการรีบูตกลับรวดเร็วมาก ไวกว่าคู่แข่งมากมาย

คลิปแรกเป็น cold boot

คลิปที่สองเป็นการรีบูตเครื่อง

ประเด็นเรื่องกล้องยังไม่ได้ทดสอบนะครับ

สรุป

แนวทางลูกผสมระหว่างแท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของ Acer W700 ถือว่าน่าสนใจและมีศักยภาพในอนาคต แต่ถ้าเอา ณ ตอนนี้ ผมยังไม่แนะนำให้ซื้อด้วยเหตุผลว่า Windows 8 โหมดแท็บเล็ตยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ตามที่เคยเขียนไปแล้วในรีวิวส่วนของระบบปฏิบัติการ

ข้อดี

  • ใช้เป็น desktop replacement ได้เต็มรูปแบบ ต่อจอนอกได้ ต่ออุปกรณ์เสริมได้ผ่าน USB
  • สเปกจัดเต็ม จอละเอียด ซีพียูแรง แรมเยอะ พื้นที่เก็บข้อมูลมาก
  • ระบบเสียง Dolby
  • ลงโปรแกรมของพีซีได้สบาย ไม่มีปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ ใช้งานได้ทั้งโหมดแท็บเล็ตและพีซี

ข้อเสีย

  • ไม่แถมคีย์บอร์ดมาให้ในชุด
  • ไม่มีช่องเสียบ SD card ใน dock
  • dock ทำงานไม่ได้ถ้าไม่เสียบสายชาร์จ
  • งานประกอบของ dock ยังไม่ค่อยเนี้ยบนัก
  • ตัวแท็บเล็ตใหญ่มาก หนัก พกลำบาก และ Windows 8 แบบแท็บเล็ตยังไม่ดีเท่าไร
  • การปลุกให้ตื่นจากหลับยังช้ากว่าผลิตภัณฑ์สาย ARM
Blognone Jobs Premium