กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ผ่านครม. สองฉบับเตรียมเข้าสภา

by lew
28 November 2012 - 20:01

ข่าวนี้รวมสองข่าวเก่าเข้าด้วยกันเพราะคิดว่าอย่างไรเสียผู้อ่าน Blognone ควรรับรู้ครับ

ข่าวแรกคือร่างพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ แก้ไขจากฉบับ 2537 ได้ผ่านครม. แล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยส่วนสำคัญอยู่ที่ร่างใหม่นี้จะรองรับการใช้งาน DRM (Digital Rights Management) เช่น ส่วนห้ามทำสำเนาของเกมหรือเพลงทั้งหลาย หากร่างนี้ผ่านสภาจะทำให้การฝ่าฝืน DRM มีโทษของมันเองอีกส่วนหนึ่ง

นอกจากเพิ่มโทษแล้วยังมีการแก้ไขเพิ่มข้อยกเว้นการทำสำเนาที่จำเป็น และยกเว้นการละเมิดของผู้ให้บริการ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ผู้ให้บริการถูกกันออกจากประเด็นลิขสิทธิ์ไปแล้วเรื่องหนึ่ง

ความเห็นของผม: การเพิ่มข้อยกเว้นเป็นเรื่องที่ดี แม้จะได้มาประเด็นเดียว เพราะที่ควรเป็นคือ ผู้ให้บริการควรมีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน เช่น ต้องตอบกลับเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด, ต้องทำตามคำสั่งลบหรือสำเนาจากหน่วยงานที่ระบุ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดในฐานใดๆ และหากได้ทำตามหน้าที่ที่กฎหมายระบุกรอบไว้แล้วควรถูกกันออกจากการเป็นจำเลยโดยทันที ในส่วนประเด็น DRM สิ่งที่สำคัญมากคือกฎหมายต้องตระหนักว่ามี DRM บางชนิดที่ไม่มีผลจริงแล้ว ผู้ใช้สามารถข้ามผ่าน DRM เหล่านี้โดยไม่รู้ตัวใดๆ หากจะออกกฎหมายคุ้มครองการใช้ DRM ก็ต้องใส่ข้อกำหนดไว้ให้ครบถ้วนว่าผู้ที่ฝ่าฝืนได้กระทำ เช่น เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่มีกระบวนการหลีกเลี่ยงแพร่หลายจนไม่มีผลจริง, ไม่ใช่การกระทำที่เครื่องมือที่หาได้ทั่วไปสามารถทำให้ผู้ใช้ได้โดยอัตโนมัติ, และการเผยแพร่ช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจะต้องทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิด DRM เอง (ดูตัวอย่างคดีในฟินแลนด์ปี 2007)

ที่มา - ไทยรัฐ

ร่างต่อมาคือ พ.ร.บ.ปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เป็นกฎหมายอนุญาตให้มีการค้นที่อยู่, ยานพาหนะ, ไปรษณีย์, และคอมพิวเตอร์ เมื่อมีหลักฐานอันควรจะเชื่อได้ว่ามีการทำความผิดโดยต้องได้รับอนุญาตจากศาล

การเข้าค้นโดยขอหมายศาลก่อนคงเป็นกระบวนการปกติ แต่ที่เพิ่มมาในกฎหมายนี้ คือ ฐานความผิดใหม่ เป็นเรื่องของข้อมูล การกระทำวิปริตทางเพศ, การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก, การฆ่าตัวตายของเด็กหรือการฆ่าตัวตายหมู่, และการใช้ยาเสพติด

ยังไม่มีร่างฉบับเต็มว่ากระบวนการปราบรามนี้ จะถือว่าอะไรเป็นความผิดบ้าง เช่น เป็นผู้ผลิต, เป็นผู้เข้าชม, หรือเป็นผู้ครอบครอง

กระบวนการปราบปรามข้อมูลเนื้อหาเหล่านี้มีอยู่ในหลายประเทศคงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่ที่ต้องจับตามอง คือ รายละเอียดของประเภทเนื้อหาที่รวมอยู่ในความผิดว่าจะระบุไว้กว้างและเปิดให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลพินิจกันมากน้อยแค่ไหน

ที่มา - ไทยรัฐ

Blognone Jobs Premium