รีวิว Kindle Paperwhite

by tekkasit
7 December 2012 - 00:05

เนื่องจากเพื่อนผมซื้อ Kindle Paperwhite (PW) มาแล้ว และตัวผมก็แสดงความสนใจเจ้าเครื่องนี้จนออกนอกหน้า เพื่อนตัวดีก็ใจดีให้ผมยืมไปลองเล่นเผื่อว่าจะหาเพื่อนร่วมทางได้อีกคน ผมก็เลยถือวิสาสะจับมาทดสอบการใช้งานและพร้อมกับแชร์ให้เพื่อนๆให้ได้รับทราบกัน

ในฐานะที่ผมใช้งานเครื่อง Kindle 2, Kindle 3 และ Kindle DX Graphite มาด้วย และประกอบกับทาง Blognone เองมีรีวิว Kindle 3 โดยคุณ pittaya และ รีวิว Kindle Touch โดยคุณ mk ผมคงจะเน้นส่วนประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างมากกว่ารีวิวเจาะไปในทุกฟีเจอร์ละกันครับ

ฮาร์ดแวร์

ในส่วนลักษณะภายนอกมีขนาดกะทัดรัดเหมาะมือ สัดส่วนคล้ายๆกับ Kindle Touch กรอบเครื่องเป็นพลาสติกสีดำ จอภาพบุ๋มลึกลงไปเพียงเล็กน้อยแต่ตื้นกว่า Touch เพราะเปลี่ยนเดิมที่ใช้ IR ในการตรวจจับตำแหน่งนิ้วบนจอภาพ ไปใช้จอ capacitive touch screen ทำให้ตอบสนองต่อการสัมผัสดีขึ้นกว่า Touch แต่อย่าคาดหวังสูงไปนัก เครื่องไม่ได้ตอบสนองถึงขั้น 'ติดนิ้ว' แบบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทั่วไป กรอบด้านหน้าเป็นพลาสติกสีดำเรียบลื่น ด้านซ้าย-ขวาข้างตัวเครื่อง ปราศจากปุ่มกดใดๆอย่างสิ้นเชิง

ด้านล่างมีช่องต่อ micro USB, ไฟสถานะการชาร์ต, และปุ่ม เปิด-ปิด เท่านั้น ไม่มีช่องต่อหูฟัง เพราะรุ่นนี้ตัดความสามารถเรื่องเสียงออกไปหมดจึงไม่มีฟังก์ชันอ่านออกเสียง (Text-To-Speech) แต่อีกมุมก็อาจจะเพราะต้องการเน้นการขาย Audiobook ในช่องทางอื่นด้วยก็เป็นไปได้

ด้านหลังเรียบขอบมนหยิบจับง่าย ผิวด้านหลังกันลื่น

ขนาดเหมาะมือโดยจะแคบและสั้นกว่า Kindle 3 เล็กน้อย

น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 213-221 กรัม (รุ่น 3G จะหนักกว่าเล็กน้อย) ซึ่งเมื่อถือเปรียบเทียบจะรู้สึกว่าเบากว่า Kindle 3 นิดเดียว แต่อย่างไรก็ตามก็จัดว่าเบามากอยู่ดี

ส่วนในด้านความจุ แม้ว่าจะเป็นความจุ 2GB แต่เหลือใช้งานได้จริงๆตามที่รายงานในวินโดวส์อยู่ที่ 1.35GB แม้จะน้อยลงกว่าเดิม แต่ก็จัดว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป สามารถเก็บหนังสือได้เป็นร้อยเล่ม ส่วนเล่มที่ไหนอยากอ่านก็ค่อยโหลดผ่าน Cloud หรือโอนผ่านยูเอสบีเอา

ซอฟต์แวร์

หมายเหตุ: รุ่นที่ผมทดสอบคือรุ่น Wi-Fi เฟิร์มแวร์รุ่น 5.3.0 (1774700020)

หน้าจอโฮมของ Kindle แสดงหนังสือโหมด Cover view แสดงรูปปกหนังสือ ส่วนแถบล่างเป็น Recommended Content ซึ่งจะแสดงเฉพาะในหน้าแรกโหมด Cover view นี้เท่านั้น ถ้าเราเลื่อนไปที่หน้าสอง แถบหนังสือแนะนำนี้ก็จะหายไปเอง ซึ่งถ้าหงุดหงิดกับแถบโฆษณาซ่อนรูปแบบที่กินพื้นที่หน้าจอไปถึงครึ่งหนึ่ง ในเฟิร์มแวร์รุ่นนี้เราสั่งซ่อนแถบนี้ได้ในหน้า Settings (แต่ลึกหน่อย)

สำหรับหนังสือ PDF เครื่องจะแสดงเป็นกรอบสีเหลี่ยมเขียนชื่อหนังสือแทน

สำหรับคนที่ไม่ชอบ Cover view เราเปลี่ยนกลับไปยัง List view ที่แสดงรายชื่อหนังสือเป็นลิสต์ได้อยู่นะครับ

ในหน้าโฮมเนื่องจากไม่มีปุ่มจริงๆให้กด เครื่องจะแสดงแถบเครื่องมือไว้ด้านบนตลอดเวลา ซึ่งประกอบไปด้วย ปุ่มกลับมาหน้าโฮม, ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มปรับความสว่าง, Kindle Store, ค้นหา, และปุ่มเมนู

ฟีเจอร์ backlight

ฟีเจอร์หนึ่งในเครื่องนี้คือ backlight ในตัว ซึ่งต้องยอมรับว่าอเมซอนทำการบ้านมาดี ปรับแสงให้สว่างเท่าๆ กันทั้งหน้าจอ ทำให้การอ่านในที่แสดงน้อยๆ อย่างในรถตู้หรืออ่านก่อนนอนเป็นเรื่องสะดวกมาก โดยมีให้ปรับตั้งแต่ 0 ถึง 24 ระดับ อย่างในห้องมืดปรับที่ระดับ 3-4 ก็สามารถอ่านหนังสือได้สบายตา แม้ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอในการอ่าน การใช้ค่า backlight สูงๆ จะทำให้พื้นหลังดูขาวขึ้นอมเขียวน้อยลง

แต่จากการสังเกต พบว่าในเวลาที่เปิดเครื่อง แม้ปรับเป็นระดับศูนย์ก็ยังมี backlight จางๆอยู่ ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุว่าทำไมชาร์จครั้งหนึ่งถึงอยู่ได้ไม่นานเท่ากับรุ่นก่อนๆ และข้อกวนใจเล็กน้อยอีกประการหนึ่งคือ การกระจายแสงสว่างยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ ถ้าเร่ง backlight ขึ้นจะสังเกตเห็นส่วนล่างของจอ 4 แห่งที่จะสว่างกว่าส่วนอื่นๆ เป็นกรวยแสง เพราะเครื่องใช้ LED ทั้ง 4 จุดให้กำเนิดแสง backlight

การอ่านหนังสือ

เช่นเดียวกับ Kindle Touch การสั่งงานทั้งหมดผ่านการสัมผัส ใหม่ๆ มาอาจจะปรับตัวนิดหน่อย แต่ก็ไม่ยุ่งยาก เมื่อกดเลือกหนังสือ Kindle จะแสดงเนื้อหาเต็มจอโดยไม่มีแถบเครื่องมือใดๆ ถ้าต้องการเรียกเมนูระหว่างอ่านหนังสือ สามารถทำได้โดยกดแถวๆ ด้านบนจอภาพเพื่อแสดงเมนูขึ้นมาเหมือนกับ Touch

แถวบนสุด ปุ่มไปหน้าโฮม, ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มปรับความสว่าง, Kindle Store, ค้นหา, และปุ่มเมนู

แถวที่สอง ปุ่มปรับขนาดอักษร, เลื่อนตำแหน่งไปยังหน้าต่างๆของหนังสือ, ฟีเจอร์ X-Ray, และปุ่มแชร์

ฟีเจอร์ประมาณเวลาที่เหลือในการอ่านให้จบบท (Time-to-Read)

ในโหมดอ่านหนังสือ ที่มุมล่างซ้ายของจอจะแสดงเวลาที่เหลือโดยประมาณในการอ่านให้จบบทนี้ โดยระบบจะคำนวณเวลาที่เราใช้ในการพลิกหน้าเทียบกับปริมาณเนื้อหาที่เหลือ ถ้ากดตรงมุมล่างซ้ายนี่ ระบบจะเปลี่ยนไปแสดงข้อมูลต่างๆ ระหว่าง เวลาที่ใช้เพื่ออ่านให้จบบทนี้ -> จบทั้งเล่ม -> ตำแหน่งหนังสือ

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ไม่ชอบฟีเจอร์นี้เลย เพราะคนที่จะอ่านหนังสือย่อมไม่ได้สนใจอยู่แล้วว่าจะใช้เวลากี่นาที ตรงข้ามอยากจะดื่มด่ำกับเนื้อหาในหนังสือมากกว่าจะเป็นการแข่งอ่านทำเวลา และทำให้คนอ่านไขว้เขวด้วยซ้ำไป เพราะหลายครั้งสังเกตได้ว่า ตัวเองสนใจค่าเวลาที่เหลือทำให้รู้สึกหลุดจากการอ่าน จนต้องเปลี่ยนไปแสดงตำแหน่งหนังสือเพื่อจะได้ไม่พะวงกับตัวเลขพวกนี้

ปกแม่เหล็ก

สำหรับเครื่องรุ่น Paperwhite ตัวเครื่องมาพร้อมกับเซนเซอร์แม่เหล็ก ซึ่งถ้าเลือกใช้ปกแม่เหล็กที่ทำมาเฉพาะ Paperwhite จะทำให้ไม่ต้องนั่งคลำหากดปุ่มเปิด-ปิดเองอีกต่อไป ถ้าจะอ่านหนังสือก็แค่เปิดปกเครื่องก็จะตื่นมาพร้อมทำงาน และถ้าจะหยุดอ่านก็ปิดปก อารมณ์เหมือนกับปก Smart Case ของ iPad นั่นเอง

โดยส่วนตัวชอบฟีเจอร์นี้มาก อาจจะเพราะยังไม่คุ้นปุ่มเปิด-ปิด ที่เปลี่ยนแปลงไปมากในรุ่นนี้ เมื่อเทียบกับ Kindle 3 หรือ DX Graphite ทำให้รู้สึกการเปิด-ปิดเครื่องโดยพลิกปกรู้สึกเป็นธรรมชาติคล้ายการอ่านหนังสือปกแข็งสักเล่ม รวมถึงสามารถใช้ Kindle พร้อมปกแทนนาฬิกาหัวเตียงในเวลากลางคืนได้อีกด้วย

ภาษาไทย

เมื่อทดสอบกับเนื้อหาที่ทำขึ้นเฉพาะ พบว่า Kindle แค่แสดงภาษาไทยได้ ทำตัวเอียงได้แต่ทำตัวหนาไม่ได้ และยังตัดคำไม่ได้ รวมถึงการจัดตำแหน่งสระยังไม่เป๊ะ (สังเกตสระกับป.ปลา) รวมถึงแม้จะเปลี่ยนฟอนต์แล้วตัวอักษรไทยยังแสดงด้วยฟอนต์เดิม

PDF Viewer

สำหรับคนที่หวังว่าจะเอาเครื่องนี้มาใช้อ่าน PDF ก็คงบอกได้ว่า ทำได้น่าประทับใจขึ้น หน้าจอที่ละเอียดขึ้นทำให้อ่านหนังสือเท็กซ์คอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้น และสามารถเปิดไฟล์ PDF ขนาด 10-30 MB ได้ รวมถึงถ้าหน่วยความจำไม่พอในการแสดงผล Kindle จะแสดงข้อความเตือนและพากลับมาหน้าโฮม แทนที่จะปล่อยให้แฮ้งค์ไปเฉยๆ เหมือนกับเครื่องรุ่นก่อนๆ

สิ่งที่พบคือ PDF viewer ไม่ได้ถูกปรับแต่งให้ใช้งานหน่วยความจำอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเปิดเอกสารขนาดใหญ่ จะมีอาการผีเข้าผีออก โดยเฉพาะเอกสารที่อยู่ในลักษณะอาร์ตเวิร์กเยอะๆ จะออกอาการหน่วยความจำไม่พอ แต่ถ้ายังพยายามกลับไปเปิดอ่านต่อก็ยังสามารถอ่านต่อไปได้

แม้ว่าจอจะละเอียดขึ้นแต่ด้วยจอภาพไม่ใหญ่นัก การให้นั่งอ่านหนังสือวิชาการบนนี้จริงๆ จะทำให้ล้าสายตาอย่างมาก การเร่ง backlight ทำให้อ่านตัวหนังสือเล็กๆ ง่ายขึ้น (เพราะ contrast สูงขึ้น) หรืออีกทางก็ต้องอ่านในแนวขวางแทน หรือไม่ก็ต้องพกแว่นขยาย (ฮา)

ที่สังเกตได้คือ Kindle รองรับลิงก์ในเอกสารแต่ไม่รองรับสารบัญ (Table-of-Content) ครับ เวลาจะเปลี่ยนตำแหน่งจะไม่สามารถเลือกตำแหน่งตามสารบัญได้ครับ

รูปภาพและการ์ตูน

แม้ว่าจอจะละเอียดขึ้น ดังนั้นหลายคนหวังว่าจะเอามาใช้อ่านการ์ตูนสแกนได้ ก็คงบอกว่าต้องปรับตัวกันหน่อย เนื่องจากอเมซอนเริ่มขายการ์ตูนบน Kindle แล้ว ดังนั้นฟีเจอร์การดูรูปภาพเรียกได้ว่าโดนวางยาทำให้ใช้งานยากขึ้นและไม่เหมาะสมกับการอ่านการ์ตูน เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์สำหรับโหลดรูปจากเดิม pictures เป็น images และ Image Viewer ไม่จำลำดับรูปที่เปิด หมายความว่าการกลับมาอ่านจะเริ่มต้นที่ไฟล์แรกสุด รวมถึงเครื่องไม่อ่านไฟล์ฟอร์แมต CBZ อีกต่อไป

แต่ถ้ามีความพยายามสักหน่อยก็สามารถไปต่อได้โดยต้องแปลงไฟล์ CBZ ให้เป็นไฟล์ Mobipocket (.mobi) หรือ PDF ก่อนจึงจะใช้งานได้บนเครื่องนี้

สิ่งละอันพันละน้อย

  • เครื่องมีตัวเลือกให้บังคับ Page Refresh ทุกหน้า ซึ่งปกติปิด (off) ไว้ โดยที่ผมก็อ่านมาสองสามวันแทบไม่สังเกตเห็นเงาตัวอักษรแต่อย่างไร ตรงข้ามพอเปิดขึ้นมากลับสังเกตหน้าจอดำกะพริบที่มันทิ่มตาได้อย่างชัดเจน
  • ตัวเครื่องไม่มีเมนูภาษาไทยและคีย์บอร์ดไทย
  • สามารถทำ pinch-zoom ได้ทั้งอ่านหนังสือและ PDF แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองทันใจโดยจะหน่วงประมาณครึ่งวินาที
  • การอ่าน PDF สำหรับ Kindle 3 ขึ้นไปรวมถึงเจ้า Paperwhite นี่ สามารถปรับความเข้ม (contrast) ได้ 5 ระดับ โดยระดับปกติอยู่ที่ระดับ 3

สรุป

ผมว่าโดยส่วนตัวผมคงเน้นย้ำว่า ถ้าต้องการอ่านเอกสาร PDF แบบเป็นจริงเป็นจัง รวมถึงอยากจะท่องเว็บไซต์ ก็แนะนำให้หาแท็บเล็ตมาใช้จะเหมาะกว่า เพราะเครื่องพวกนั้นมีแรมและซีพียูที่มีศักยภาพพอที่จะสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีได้

แต่ถ้ามาทางสายอุปกรณ์ Kindle แล้ว นับได้ว่าตัวนี้ก็น่าสนใจทีเดียว ด้วยจอที่ละเอียดขึ้น ปกแม่เหล็กทั้งมีฟีเจอร์ที่เหมาะสมกับการอ่านหนังสือมากมายแถมราคาที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

Blognone Jobs Premium