WCIT แตกเป็นสองขั้ว: สหรัฐฯ ไม่ยอมลงนาม, รัสเซียขู่ว่าอินเทอร์เน็ตอาจต้องแตกเป็นหลายส่วน

by lew
14 December 2012 - 00:27

ที่การประชุม WCIT มาถึงช่วงสุดท้าย แต่ประเด็นหลักของงานคือการสร้างข้อตกลง ITU-R ฉบับใหม่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยผู้แทนที่เปิดเผยตัวว่าจะไม่ยอมลงนามแล้วได้แก่ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, และประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ประกาศว่าจะไม่ยอมลงนามหากไม่มีการแก้ไขร่างสนธิสัญญากันใหม่

นอกจากประเทศที่ระบุว่าจะไม่ยอมลงนามแล้ว ยังมีประเทศจำนวนหนึ่งสงวนสิทธิ์ไว้โดยจะนำร่างไปปรึกษารัฐบาลของตนเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะลงนามหรือไม่ในวันสุดท้าย เช่น ญี่ปุ่น, ลัตเวีย, และเอสโตเนีย โดยการประชุม WCIT มีกำหนดการว่าจะลงนามกันตอนสองทุ่มครึ่งวันนี้ตามเวลาไทย

ด้วยท่าทีเช่นนี้ในวันเกือบสุดท้ายก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อตกลงอะไรออกมาจากการประชุมครั้งนี้อย่างจริงจัง ยกเว้นว่าจะมีการถอดเนื้อหาส่วนที่มีความขัดแย้งกันอยู่จำนวนมากออกไปก่อน

ฝั่งที่สนับสนุนร่างฉบับปัจจุบันนำโดยจีนและรัสเซีย แสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของประเทศกลุ่มที่ระบุว่าจะไม่ยอมลงนาม รัสเซียนั้นถึงกับระบุว่าท่าที่เช่นนี้อาจจะทำให้อนาคตมีอินเทอร์เน็ตที่แตกเป็นส่วนๆ (fragmented) และจะไม่มีผลดีต่อใครเลย ส่วนผู้แทนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่าเหมือนถูกทรยศเพราะยอมกลุ่มสหรัฐฯ ที่จะยกเนื้อหาในส่วนของอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนไม่บังคับ (non-binding) แยกจากสนธิสัญญาหลักแล้ว

ปัญหาของ ITU ที่ถูกต่อต้านเพราะการทำงานที่เป็นรูปแบบการตัดสินใจจากรัฐ และสร้างข้อตกลงกันภายในมากกว่าการตกลงกันอย่างเปิดเผยเหมือนหน่วยงานควบคุมอินเทอร์เน็ต เช่น IETF หรือ ICANN ที่ผ่านมามาตรฐานต่างๆ การตัดสินใจโดยรัฐนั้นทำให้กระบวนการออกแบบโปรโตคอลต่างๆ มีความต้องการแปลกๆ เช่น UMTS หรือโปรโตคอล 3G นั้นมีความต้องการให้รัฐสามารถดักฟังการสื่อสารได้ด้วยในตัวโปรโตคอล ขณะที่ระบบการออกแบบโปรโตคอลต่างๆ ของอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการทางวิศวกรรมเป็นหลัก ทำให้โปรโตคอลใหม่ๆ เช่น DNSSEC, HSTS ยิ่งทำให้การสื่อสารถูกดักฟังและควบคุมโดยรัฐได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา - ArsTechnica, C|net, Reuters

Blognone Jobs Premium