การลงทุนสตาร์ทอัพเริ่มไม่ร้อนแรง หลังบริษัทใหญ่เข้าตลาดหุ้นต่างพากันแป้ก

by arjin
28 December 2012 - 07:53

นับตั้งแต่ปลายปี 2011 มาจนถึงกลางปี 2012 การลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีก็มีความร้อนแรงมากขึ้น เนื่องจากสตาร์ทอัพหลายรายสามารถขยับขึ้นไประดมทุนเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ ตั้งแต่ Groupon, Zynga มาจนถึง Facebook แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว

WSJ รายงานว่าบรรดากองทุน Venture Capital ซึ่งที่ผ่านมานิยมเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี โดยเน้นไปในสามทิศทางที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงคือ SoLoMo (Social, Local, Mobile) ตอนนี้เริ่มชะลอการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพดังกล่าว หลังพวกเขาพบว่าทั้ง Facebook, Groupon และ Zynga ล้วนมีราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างมาก จึงอาจส่งผลให้สตาร์ทอัพอื่นที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น มีความยากลำบากมากขึ้นในการระดมทุนต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีของ Color ที่รีบตัดสินใจชิงปิดกิจการเลย

นอกจากปัญหาการระดมทุนเพิ่มก็ยากลำบากขึ้น บรรดาสตาร์ทอัพหลายแห่งที่ยังดำเนินงานอยู่ก็ประสบปัญหาว่ามูลค่ากิจการตนเองถูกประเมินราคาลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มาจากหลายปัจจัย

Viddy - เมื่อการแชร์วิดีโอยังไม่ใช่ Instagram รายต่อไป

กรณีตัวอย่างของกลุ่ม Mobile ที่น่าสนใจคือ Viddy ซึ่งเป็นบริการเครือข่ายสังคมแชร์วิดีโอ ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี 2011 และไม่ประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่ง Facebook เปิดตัวแพลตฟอร์ม Open Graph ซึ่งช่วยให้การแชร์ต่อถูกมองเห็นมากขึ้น ส่งผลให้ Viddy มีจำนวนผู้ใช้งานโตอย่างก้าวกระโดด จากต้นปี 2012 ที่หลักหมื่นสู่จำนวนถึงกว่า 30 ล้านคนเมื่อช่วงกลางปี ยิ่งเมื่อผสมกับข่าวการซื้อกิจการ Instagram ของ Facebook เข้าไปอีก ทำให้บริษัทขอเพิ่มทุนได้ง่ายขึ้นจนมีมูลค่ากิจการถึง 370 ล้านดอลลาร์ เพราะนักลงทุนต่างเก็งกันว่า Viddy อาจถูกซื้อกิจการได้เป็นรายต่อไป

แต่เมื่อการซื้อกิจการยังไม่เกิด ความจริงก็ปรากฏ โดยปัจจุบัน Viddy เหลือผู้ใช้งานอยู่ราว 6 แสนคนเท่านั้น ซึ่งกองทุนที่ลงทุนใน Viddy บอกว่า สิ่งที่น่าผิดหวังคือ Viddy ไม่สามารถสนองตอบต่อจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วได้ดีพอ ผู้ใช้พบว่าแอพทำงานช้าเกินไป และเลิกใช้ในเวลาต่อมา

Brett O'Brien ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบอกว่าแม้ช่วงเวลาอันสดใสจะหมดไปแล้ว แต่เขายังไม่ยอมแพ้ โดย Viddy เพิ่งออกแอพสำหรับผู้ใช้ Android ไป และมีแผนจะยกเครื่องแอพใหม่ทั้งหมดในต้นปีหน้า

LivingSocial - ปีที่ยากลำบากของเว็บขายดีล

ตัวแทนของกลุ่ม Local ที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น LivingSocial เว็บขายดีลคูปองที่มีคู่แข่งหลักคือ Groupon ซึ่งเข้าตลาดหุ้นไปตั้งแต่ปีก่อนและราคาหุ้นร่วงรูดลงจนถึงตอนนี้กว่า 80% แล้ว เพราะบริษัทไม่สามารถเติบโตได้ในระดับที่น่าสนใจ ผลจึงส่งมาถึง LivingSocial ที่มีแผนจะเข้าตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน

LivingSocial มีการเพิ่มทุนครั้งสุดท้ายเมื่อธันวาคมปีก่อน 176 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการในตอนนั้นสูงถึงราว 5-6 พันล้านดอลลาร์ แต่เมื่อ Groupon ไปได้ไม่ดีในตลาดหุ้น มูลค่ากิจการ LivingSocial ก็ถูกซื้อขายลดมูลค่าลงมาตลอด โดยล่าสุดตัวเลขที่ Amazon หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ LivingSocial แจ้งต่อตลาดหุ้นนั้นระบุว่ามูลค่ากิจการทางบัญชีเหลือเพียง 324 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

นั่นคือปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในเองก็มีปัญหา โดย LivingSocial ได้เลิกซื้อโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย มีการปลดพนักงานออกราว 9% จนถึงยุบสำนักงานหลายแห่งในอเมริกา แต่นั่นก็ไม่ดีขึ้นนัก เพราะบริษัทยังขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยไตรมาสล่าสุดนั้นขาดทุนถึง 565 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน LivingSocial ก็พยายามฉีกหารูปแบบธุรกิจเพื่อไม่ให้ถูกเทียบกับ Groupon เช่นการเสนอขายดีลส่งอาหารตามบ้าน หรือคอร์สทำอาหารกับดารา ซึ่งดีลเหล่านี้จะไม่ถูกจำกัดด้วยการแข่งขันด้านราคาแบบที่ผ่านมา

Kabam - บริษัทเกมผู้ยืนยันว่าเราไม่เหมือน Zynga

Kabam บริษัทผู้ผลิตเกมออนไลน์อย่าง Kingdoms of Camelo และ Edgeworld ยอมรับว่าความท้าทายของบริษัทตอนนี้คือการพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นให้ได้ว่า พวกเขาไม่เหมือน Zynga ที่ตอนนี้มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น

ซีอีโอ Kevin Chou บอกว่า Kabam ไม่เหมือน Zynga ตรงที่บริษัทพึ่งพิงรายได้จาก Facebook แค่ 30% เท่านั้น โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากแพลตฟอร์มมือถือและการขายไอเท็มในเกมเป็นหลัก รวมถึงตัวเกมนั้นบริษัทเน้นไปที่เกมแนวสร้างอาณาจักร วางแผนกลยุทธ์ มากกว่าเกมที่ดูเล่นๆ อย่าง CityVille

ผู้ลงทุนใน Kabam รายหนึ่งบอกว่า สตาร์ทอัพเกมเป็นหมวดธุรกิจที่พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงมากตอนนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาเป็นมือถือมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของบริษัทเหล่านี้อย่างมาก และกรณีของ Zynga ก็ทำให้หลายคนรู้สึกหวาดกลัว

อย่างไรก็ตาม Chou บอกว่าปีหน้าบริษัทมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีกเนื่องจากเงินสดไม่เพียงพอ และด้วยแผนขยายธุรกิจเกมต่อในปีหน้าที่ชัดเจน เขาจึงเชื่อว่านักลงทุนจะยินดีที่จะลงทุนในบริษัทเขาต่อไปนั่นเอง

ที่มา: WSJ

Blognone Jobs Premium