กสทช. ประกาศเอาจริง บัตรเติมเงินห้ามหมดอายุ ถ้าละเมิดปรับวันละ 1 แสนบาท

by mk
3 January 2013 - 05:37

ประเด็นเรื่อง "อายุของบัตรเติมเงินพรีเพด" เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน ย้อนความสั้นๆ คือ กทช. ในปี 2549 เคยออกประกาศห้ามไม่ให้โอเปอเรเตอร์กำหนดอายุของบัตรเติมเงิน แต่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งภายหลัง กทค. พิจารณายืนตามคำสั่งเดิมของ กทช.

อย่างไรก็ตาม กสทช. ยังพบว่าโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายยังฝ่าฝืนประกาศของ กทช. อยู่ ล่าสุดจึงได้ส่งหนังสือเตือนให้แก้ไขปัญหานี้ และสั่งปรับในอัตราวันละ 100,000 บาท จนกว่าทั้ง 3 บริษัทจะปฏิบัติถูกต้อง และถ้ายังฝ่าฝืนอีก กสทช. จะกำหนดค่าปรับในอัตราที่สูงขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ กสทช. ยังสั่งให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 รายดำเนินการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการแบบพรีเพด ที่ กทช. เคยออกประกาศไว้ (แต่โอเปอเรเตอร์ยื่นอุทธรณ์ในลักษณะเดียวกัน) โดยสั่งปรับวันละ 80,000 บาท ยกเว้นกรณีของทรูมูฟที่ยื่นเรื่องนี้ต่อศาลปกครอง และเรื่องยังอยู่ในกระบวนการของศาล

ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ กสทช.

เลขาธิการ กสทช. ประเดิมปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. สั่งให้ทีโอทีทำสัญญาเชื่อมต่อไอซีกับดีแทคพร้อมปรับวันละ 20,000 บาท และห้ามโอเปอเรเตอร์กำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน ทั้งให้โอเปอเรเตอร์ต้องจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือพรีเพด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)) ได้มีคำสั่งให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที ทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 4/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ให้แล้วเสร็จภายในภายใน 7 วัน ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 1033/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1178/2555 ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฟ้อง กทช. และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และให้การคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบัน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กสทช. ไม่ทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ และประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย สำนักงาน กสทช. จึงได้มีหนังสือถึงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 4/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และให้ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 20,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 7 วันที่ ทีโอที ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 4/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะดำเนินการทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จ

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า หรือ พรีเพด ได้กำหนดเงื่อนไขการให้บริการในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ตนเองได้มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท กรณีบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย อันได้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งทั้ง 3 บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมา กทค. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของทั้ง 3 บริษัทฯ แล้วเห็นว่า คำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่กำหนดค่าปรับทางปกครองชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีมติเห็นชอบยืนตามคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ในการกำหนดค่าปรับทางปกครองดังกล่าว

ปัจจุบันพบว่าทั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยังคงกำหนดระยะเวลาการใช้งานสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าอยู่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 แม้ว่าทั้ง 3 บริษัท จะได้ยื่นขอความเห็นชอบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าต่อ กสทช. แต่เมื่อ กสทช. ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ทั้ง 3 บริษัท ย่อมไม่มีสิทธิกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เป็นการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า

และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ และประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย สำนักงาน กสทช. จึงได้มีหนังสือถึงบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ขอให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยให้แก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เป็นการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ไม่ให้มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. เป็นการล่วงหน้า และให้ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วน โดยเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ไปจนกว่าทั้ง 3 บริษัทจะปฏิบัติตามประกาศฯ ข้อ 11 อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หากทั้ง 3 บริษัทยังคงฝ่าฝืนคำสั่ง เลขาธิการ กสทช. จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 พิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราที่สูงขึ้นต่อไป

นายฐากร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้า หรือ พรีเพด ซึ่งนับตั้งแต่เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กทช.) ได้มีคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด จัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าตามข้อ 38 และข้อ 96 ของประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ให้ครบถ้วนภายใน 90 วัน ซึ่งทั้ง 5 บริษัทได้ยื่นขออุทธรณ์คำสั่ง ต่อมา กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ได้พิจารณาอุทธรณ์ของทั้ง 5 บริษัทแล้วเห็นว่า คำสั่งทางปกครองของเลขาธิการ กทช. ในขณะนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงให้ทั้ง 5 บริษัท ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามประกาศดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

จากนั้นสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ทั้ง 5 บริษัทปฏิบัติตามคำสั่งของเลขาธิการ กทช. ในขณะนั้น และคำวินิฉัยอุทธรณ์ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นเลขาธิการ กสทช. จะใช้อำนาจตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 พิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองให้ทั้ง 5 บริษัทชำระในอัตราไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อวัน จนกว่าบริษัทจะได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการแล้วเสร็จ ต่อมาเลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งทางปกครองกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตรา 80,000 บาทต่อวัน โดยให้ทั้ง 5 บริษัทชำระค่าปรับนับแต่วันพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งทั้ง 5 บริษัทได้อุทธรณ์คำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองของเลขาธิการ กสทช. และ กทค. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้พิจารณาอุทธรณ์ของบริษัทในการประชุมครั้งที่ 44/2555 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 แล้วเห็นว่า คำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่กำหนดค่าปรับทางปกครองชอบด้วยกฎหมายแล้วและไม่มีเหตุต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง จึ่งมีมติเห็นชอบยืนตามคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ในการกำหนดค่าปรับทางปกครองดังกล่าวข้างต้น

ด้วยข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบันผู้ให้บริการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยังไม่ดำเนินจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าตามข้อ ๓๘ และข้อ ๙๖ ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ และประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย สำนักงาน กสทช. จึงได้มีหนังสือถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและปฎิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 38 และ 96 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามประกาศดังกล่าวให้ครบถ้วน ทั้งนี้ หากทั้ง 5 บริษัทยังคงฝ่าฝืนคำสั่ง เลขาธิการ กสทช. จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 พิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราที่สูงขึ้นต่อไป และให้ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราวันละ 80,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ในการกำหนดค่าปรับทางปกครอง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ บริษัทฯ จึงต้องชำระค่าปรับทางปกครองนับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไปจนกว่าบริษัทฯ จะได้ดำเนินจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าตามข้อ ๓๘ และข้อ ๙๖ ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ครบถ้วน
ในส่วนของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1867/2554 มีคำสั่งให้ระงับการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองตามคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ตามหนังสือสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป้นอย่างอื่น และมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ให้บรษัทฯ ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าตามข้อ ๓๘ และข้อ ๙๖ ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ครบถ้วน จึงไม่ต้องชำระค่าปรับทางปกครอง

นายฐากร กล่าวย้ำว่า ปี 2556 นี้เป็นปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ทางสำนักงานจะดำเนินการเรื่องการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม จะเร่งแก้ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคให้เรียบร้อย

Blognone Jobs Premium