เมื่อปลายปีที่แล้ว ทีมผลิตภัณฑ์ทีมหนึ่งของกูเกิลที่ชื่อ NianticLabs ได้เปิดตัวเกมพกพา Ingress สู่สาธารณะ (ข่าวเก่า: Ingress เกมยึดโลกจาก Google) และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
Ingress เป็น "เกม" ลูกผสมระหว่างแนวคิดเรื่อง location-based service, augmented reality และ massively multiplayer online ที่ใช้อุปกรณ์พกพา (ปัจจุบันยังมีแค่ Android) เป็นอุปกรณ์ในการเล่น (แนวคิดของตัวเกมไม่ซับซ้อนแต่อธิบายลำบากหน่อย ซึ่งจะกล่าวต่อไป)
ตั้งแต่เปิดตัวเกมมาจนถึงวันนี้ Ingress ยังเป็นเกมปิดที่ต้องมี invite จึงจะเล่นได้ เท่าที่ผมสังเกตดู ช่วงหลังเริ่มมีคนได้ invite เยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดว่าได้เวลาเขียน "คู่มือสอนเล่น Ingress" เพื่อให้ผู้เริ่มต้นสามารถจับจุดของเกมได้รวดเร็วขึ้นครับ
เนื่องจากแนวคิดของ Ingress ใหม่มากและยังไม่มีศัพท์เรียกเฉพาะ ถ้าให้อธิบายแบบเปรียบเทียบ ผมขอใช้คำว่ามันคือ "Foursquare แบบมีฐานให้ยึด" น่าจะใกล้เคียงที่สุด
Ingress เป็นเกม MMO ที่คนทั้งโลกเล่นร่วมกันในเซิร์ฟเวอร์เดียว (ไม่แยกเซิร์ฟเวอร์เหมือน MMO ทั่วไป) ผู้เล่นแบ่งเป็นสองฝ่าย แข่งกันยึด "ฐาน" ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แผนที่ของเกม Ingress คือแผนที่โลกจริงๆ (นำมาจาก Google Maps) แต่เพิ่มไอเทมหรือฐานที่เห็นได้เฉพาะจากแอพลงไปบนแผนที่ด้วย
จุดเด่นของ Ingress คือตัวเกมออกแบบมาให้ผู้เล่นแต่ละฝ่ายในพื้นที่นั้นๆ ต้องร่วมมือกันเพื่อยึดฐานมาเป็นของฝ่ายตัวเอง ช่วยขยายขีดจำกัดของการเล่นได้อีกมาก
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแหล่งพลังงานลึกลับชนิดใหม่ ทำให้ประชากรโลกมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
แต่ละฝ่ายจึงระดม "สายลับ" หรือ agent (หมายถึงผู้เล่น) เข้ามาสนับสนุนแนวทางของตัวเองให้มากที่สุด โดยมีหน่วยงานกลางชื่อ Niantic Project เปรียบเสมือน FBI หรือ CIA คอยสืบค้นข้อมูลของแหล่งพลังงานลึกลับ เพื่อให้เนื้อเรื่องในเกมเดินหน้าไปเรื่อยๆ (ในการเล่นจริงไม่ต้องสนใจเนื้อเรื่องก็ได้)
อุปกรณ์ที่สายลับใช้ในการยึดครองฐานก็คือ "โทรศัพท์มือถือ" ที่อยู่ในมือของผู้เล่นนั่นเอง ส่วนฝ่ายทั้งสองในเกมไม่มีความแตกต่างกันใดๆ นอกจากสีและชื่อเรียก ชอบสีไหนหรืออยากอยู่ฝ่ายเดียวกับเพื่อนคนไหน เลือกได้ตามสบาย
เทรลเลอร์ของเกมดูได้จากวิดีโอด้านล่างครับ
ณ วันที่เขียนบทความนี้ (18 มกราคม 2013) การเล่น Ingress จำเป็นต้องขอ invite จาก NianticLabs เท่านั้น
ผู้สนใจต้องเข้าไปที่เว็บของ Ingress และป้อนที่อยู่อีเมลเพื่อขอ invite จากนั้นก็รอแบบมีความหวังเรื่อยไป ไม่มีใครบอกได้ว่า invite จะได้เมื่อไร แต่ทาง Niantic ก็ทยอยแจกเรื่อยๆ อยู่ทุกวัน
ถ้าอยากเล่นเร็วๆ อาจต้องขอ invite จากผู้เล่นที่มีโควต้าเหลือ (ซึ่งไม่ค่อยมีกัน) หรือเรียกร้องความสนใจจากทีม Ingress โดยโพสต์ "รูปภาพแสดงความอยากเล่น" ผ่าน Google+ ไปยัง +Ingress หรือใส่แท็ก #ingressinvite ซึ่งทีมงาน Ingress จะคัดรูปที่น่าสนใจแล้วแจก invite เป็นประจำทุกวัน (ดูตัวอย่างได้ตามลิงก์)
เมื่อได้ invite code แล้วก็ไม่มีอะไรยาก เข้าไปดาวน์โหลดแอพที่ Google Play ติดตั้งแล้วเริ่มเล่นได้ทันที
นับจากนี้ไปเป็นวิธีการเล่นสำหรับคนที่ได้ invite แล้วนะครับ (ตอนเริ่มเกมมี tutorial ให้ด้วยแต่อ่านเวอร์ชันภาษาไทยประกอบแล้วกัน)
หน้าจอหลักของแอพ Ingress เป็นดังภาพ (ภาพจากเว็บ Ingress)
แอพ Ingress บนมือถือทำหน้าที่เป็น "สแกนเนอร์" ให้ผู้เล่นเห็นว่าพื้นที่รอบๆ ตัว ณ ขณะนั้น มีไอเทมอะไรบ้างของเกมอยู่ในรัศมีที่มองเห็น
มุมมองของผู้เล่นในแอพ Ingress จำกัดมาก เราสามารถซูมออกได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เห็นได้แค่พื้นที่รอบๆ ตัวในรัศมีจำกัด จุดมุ่งหมายก็คือเกมนี้ต้องการให้เรา "เดิน" สำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองนั่นเอง
ถ้าเรายังไม่สนใจแถบด้านบนและด้านล่าง พื้นที่หลักของแอพ Ingress คือ "แผนที่" (ที่พื้นหลังสีดำ) ซึ่งจะแสดงสิ่งของสำคัญในเกม 2 อย่าง ได้แก่
ตัวผู้เล่นใช้สัญลักษณ์เป็นลูกศรสีน้ำเงิน พร้อมรัศมีสีฟ้าอ่อนเพื่อแสดงว่าเรามีอำนาจปฏิบัติการไกลแค่ไหน ส่วนหน้าที่ของผู้เล่นคือเดินเก็บก้อนพลังงานให้เพียงพอ แล้วไปปฏิบัติการสักอย่างกับฐานนั่นเอง (จะกล่าวต่อไป)
แถบสีเหลืองด้านบนสุดของหน้าจอคือพลังงานที่เรามีในตอนนั้น เลข 4 คือระดับของผู้เล่น ส่วน Ops เป็นปุ่มกดเพื่อเข้าหน้าจอไอเทม กดแล้วจะเห็นหน้าจอดังภาพ
แถบด้านล่างที่เขียนว่า COMM คือระบบสื่อสารภายในเกม ซึ่งเป็นการส่งข้อความแบบ broadcast ไปยังผู้เล่นในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนเราได้
ตัวแอพ Ingress เรียบง่ายมาก หน้าจอหลักมีเพียงแค่ 3 จอนี้ ที่เหลือเป็นเรื่องแนวคิดต่างๆ ของเกมแล้ว
Exotic Matter หรือ XM คือก้อนพลังงานของเกมนี้ งานเกือบทุกอย่างในเกมต้องใช้พลังงานนี้เสมอ ก้อนพลังงานจะตกกระจายอยู่ทั่วไปในแผนที่ (ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวถนน) หาเก็บได้ไม่ยาก
พลังงานที่ผู้เล่นสามารถเก็บได้มีขีดจำกัด (ซึ่งขยายเรื่อยๆ ตามเลเวลของผู้เล่น) หมดแล้วต้องมาเก็บใหม่ถึงจะเล่นต่อได้ พลังงานที่เราเคยเก็บไปแล้วจะหายไปพักหนึ่งแล้วโผล่ขึ้นมาใหม่ในบริเวณเดียวกัน
Action Point หรือ AP คือค่าประสบการณ์ของผู้เล่น มันคือ EXP แบบเดียวกับเกม RPG ญี่ปุ่นนั่นเองครับ เราจะเก็บ AP ได้จากปฏิบัติการบางอย่าง (ไม่ใช่ทุกอย่าง) และเก็บครบแล้วก็เลเวลอัพขึ้น ใช้ไอเทมได้มากขึ้นตามเลเวลของไอเทม
Portal อาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า "ฐาน" หรือ "ป้อม" เป็นแกนหลักของเกม Ingress เพราะทุกอย่างที่เราทำในเกม ถ้าไม่นับการเดินเก็บ XM แล้วต้องเกี่ยวข้องกับ Portal ด้วยกันทั้งสิ้น
เป้าหมายหลักของเกม Ingress คือยึด Portal มาเป็นของฝ่ายเรา และเชื่อม Portal เข้าด้วยกันเพื่อสร้าง "อาณาเขต" (ในเกมเรียก Control Field) ที่เป็นของฝ่ายเรา ในเกมจะมีสถิตินับว่าแต่ละฝ่ายสามารถยึดครองอาณาเขตได้มากน้อยเท่าไร (ตัวเลขรวมทั้งโลก)
ค้นหา Portal
ผู้เล่นใหม่มักมีคำถามว่า "จะค้นหา Portal ได้อย่างไร" ทางผู้สร้างเกมมีตัวช่วยครับ นั่นคือเว็บไซต์ชื่อว่า Ingress Intel (เข้าได้เฉพาะผู้มี invite แล้ว) เป็นแผนที่เพื่อดูว่า "ทั้งโลก" มี Portal อยู่ตรงไหนบ้าง
หน้าตาของ Ingress Intel เป็นไปตามภาพ
หลายคนเห็นแล้วคงรู้สึกว่านี่มัน Google Maps สีดำชัดๆ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือจุดสีฟ้าและเขียวในภาพ แสดงตำแหน่งของ Portal และถ้าสังเกตดีๆ ในภาพระหว่างจุดสีฟ้าบางอัน จะถูกไฮไลท์เป็นสีน้ำเงินด้วย นั่นคือ Control Field ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสีฟ้านั่นเองครับ
การค้นหา Portal สามารถดูได้จากแผนที่นี้ ตัว Portal เองมีเลเวลของมันเอง และการค้นหา Portal เลเวลต่ำๆ ต้องซูมไปจนถึงความละเอียดระดับหนึ่งจึงจะแสดงบนแผนที่ด้วย
Portal สามารถเกิดใหม่ได้เรื่อยๆ โดยผู้เล่นสามารถส่งคำร้องไปยังทีม NianticLabs ได้ด้วย ซึ่งจะยังไม่กล่าวถึงในบทความนี้
ตำแหน่งของ Portal ส่วนใหญ่เป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่กลางแจ้ง เช่น รูปปั้น (เหมือนกับในเทรลเลอร์) ตัวอย่าง Portal ในกรุงเทพได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระบรมรูปทรงม้า เซ็นทรัลเวิลด์ วัดพระแก้ว สถานี MRT รูปปั้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
ดังนั้นกระบวนการเล่น Ingress โดยส่วนใหญ่คือค้นหา Portal จากแผนที่ Intel จากนั้นจึงลงพื้นที่จริงเพื่อปฏิบัติการบางอย่างกับ Portal นั้นผ่านมือถืออีกทีหนึ่ง
ทำอะไรกับ Portal ได้บ้าง
เมื่อเราเข้าใกล้ตำแหน่งของ Portal ถึงระดับหนึ่ง เราจะเห็นไอคอนของ Portal โผล่ขึ้นมาบนแผนที่ (ต้องต่อเน็ตด้วยนะครับ) สิ่งที่เราต้องทำคือเคลื่อนย้ายตัวเองให้รัศมีวงสีฟ้าของเราซ้อนทับกับ Portal อันนั้น
จากนั้นคลิกค้างที่ Portal ที่ต้องการ เลือก Target (จับเป้า) จะเข้าสู่หน้ารายละเอียดของ Portal ครับ
Hack Portal
ปฏิบัติการขั้นพื้นฐานที่สุดคือการ "แฮ็ก" หรือเทียบได้กับการเข้าไปรื้อค้นใน Portal อันนั้นๆ โดยเราอาจได้ไอเทมที่อยู่ใน Portal นั้นด้วย
เกมนี้ไอเทมเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นผู้เล่นใหม่ที่ช่วงแรกๆ ยังไม่มีไอเทมติดตัว จำเป็นต้องเดินหา Portal แล้ว "แฮ็ก" ไปเรื่อยๆ (ทำอย่างอื่นไม่ได้) เพื่อสะสมไอเทมเสียก่อน การแฮ็ก Portal ฝ่ายเดียวกันมีโอกาสได้ไอเทมสูงกว่า แต่การแฮ็ก Portal ฝ่ายตรงข้ามจะช่วยเพิ่มค่า AP ให้เราเก็บเลเวล (แฮ็กฝ่ายเดียวกันไม่ได้ AP)
การเล่น Ingress ส่วนใหญ่จึงลงเอยด้วยการหาตำแหน่งของ Portal ที่เราผ่านบ่อยๆ เมื่อเข้าใกล้แล้วก็ "แฮ็ก" ไว้ก่อนเสมอ
การแฮ็กมีระยะเวลาจำกัด โดยเฉลี่ยเราสามารถแฮ็กได้ 1 ครั้งทุก 5 นาที (อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า) ถ้าเราแฮ็กซ้ำภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับคำเตือนว่า Portal ยังร้อนต้องรอเวลา Cool Down
Resonator
Portal เทียบได้กับ ฐาน/ป้อม ที่แต่ละฝ่ายสามารถใช้งานได้
การใช้งาน Portal จำเป็นต้องมี Resonator หรือว่า "เตาพลังงาน" เพื่อให้ Portal ทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่ง Portal หนึ่งอันมีเตาพลังงานได้ 8 อัน
จากภาพข้างบนจะเห็นแถบสีฟ้า 6 อัน แสดงให้เห็นว่า Portal อันนี้ถูกติดตั้ง Resonator ไปแล้ว 6 อัน ยังขาดอีก 2 อัน (แถบสีดำที่เหลืออยู่ สังเกตดีๆ) ที่ต้องติดตั้งให้ครบ
เมื่อผู้เล่นเจอ Portal ว่างที่ยังไม่ถูกฝ่ายใดยึดครอง จึงจำเป็นต้องหา Resonator (เป็นไอเทมที่ได้จากการแฮ็ก) มาใส่ให้ครบ 8 เพื่อให้ Portal ทำงานได้ การติดตั้งเรียกว่า Deploy ตามเมนูข้างบนในภาพ
Resonator แต่ละอันต้องบรรจุ "พลังงาน" หรือ XM ด้วย ซึ่งพลังงานจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจึงต้องหมั่นมาเติมพลังงาน (Recharge ตามเมนู)
การยึดครอง Portal
ถ้าหากเราเจอ Portal ของฝ่ายตรงข้าม เป้าหมายคือการยึดครองมาเป็นฝ่ายของเรา วิธีการคือต้องหา "ระเบิด" หรือในเกมเรียกว่า XMP Burster (เป็นไอเทมที่ได้จากการแฮ็กเช่นกัน) มายิงใส่ Portal เพื่อทำลาย Resonator ที่ฝ่ายตรงข้ามมาติดตั้งเอาไว้ ให้เหลือแต่ Portal เปล่าๆ เพื่อเราสามารถยึดมาเป็นของฝ่ายเราได้
การยิง XMP Burster จะทำลายพลังงานของ Resonator ไปจำนวนหนึ่งเท่านั้น (ขึ้นกับเลเวลของไอเทม) ดังนั้นการยึดครอง Portal อาจจำเป็นต้องระดมผู้เล่นฝ่ายเดียวกันมาหลายๆ คนมาปฏิบัติการพร้อมกันหรือในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
การป้องกัน Portal
ฝ่ายที่ยึดครอง Portal ได้แล้วก็จำเป็นต้องป้องกัน Portal ไว้ให้นานที่สุด โดยขยันเติม XM ให้เต็มไว้ไม่ให้พร่อง และในเกมยังมีไอเทมชื่อ Shield ใช้เป็นโล่ป้องกันการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามได้อีกหนึ่งชั้น (Portal หนึ่งอันใส่ได้ 4 Shield)
ไอเทมพื้นฐานทั้ง 3 อย่างคือ Resonator, XMP Burster, Shield มีเลเวลของไอเทมด้วย ซึ่งมีผลต่อค่าพลังการโจมตี-ป้องกัน
การเติม XM ก็อย่างที่เขียนไปข้างต้นว่าต้องเดินทางไปที่ Portal แล้วใช้คำสั่ง Recharge (โอนพลังงาน XM ของตัวเราให้ Portal นั้นๆ) แต่ตัวเกมก็มีวิธีการอำนวยความสะดวกให้เราสามารถเติมพลังงานจากระยะไกลได้ โดยใช้ไอเทมชื่อ Portal Key
การเก็บ Portal Key ได้มาจากการแฮ็ก Portal เช่นกัน (โอกาสได้จะน้อยหน่อย) โดย Portal Key จะผูกกับ Portal อันนั้นๆ ใช้ร่วมกับ Portal อื่นไม่ได้เลย
ถ้าเราโชคดีได้ Portal Key มาอยู่ในรายการไอเทมของเรา เราสามารถรีโมทไปยัง Portal อันนั้นเพื่อชาร์จพลังงานจากระยะไกลได้โดยตรง ช่วยให้การป้องกัน Portal ง่ายขึ้นมาก
Link และ Control Field
เมื่อเรายึด Portal ได้แล้ว เป้าหมายขั้นต่อไปคือการเชื่อม Portal เข้าด้วยกัน
การสร้าง Link จำเป็นต้องมีไอเทม Portal Key ของ Portal ปลายทางที่ต้องการทำ Link ด้วย
ที่เขียนไปข้างต้นเป็นปฏิบัติการพื้นฐานของ Ingress ที่ครอบคลุมกระบวนการส่วนใหญ่ในเกมแล้ว นอกจากนี้ทางผู้สร้างเกมคือ NiaticLabs ยังแจกไอเทม-สิ่งของในเกมทุกวัน โดยอยู่ในรูปของ clue หรือร่องรอยของเนื้อเรื่อง (ในเกม)
ทุกวันทาง เว็บ Niantic Project และ +Niantic Project จะโพสต์ภาพเอกสารแสดง "ความลับ" ต่างๆ (ตามเนื้อเรื่องของเกม) ซึ่งผู้เล่นจะต้องเข้าไปหาความหมายของเอกสารนั้นๆ แล้วถอดรหัสออกมาเป็นโค้ดที่มักอยู่ในรูป 2te3wavez4y2p
เมื่อได้โค้ดแล้ว ผู้เล่นสามารถกรอกในช่อง Passcode ที่อยู่ในแอพ (หน้า Ops) หรืออยู่ในแผนที่ Intel ก็ได้ ถ้าโค้ดถูกต้องและยังไม่ถูกใช้งานเกินจำนวนที่กำหนดไว้ เราจะได้ไอเทมหรือค่า AP เป็นการตอบแทน
เท่าที่ผมลองติดตามมา การถอดรหัสเข้าขั้นยากมาก (อารมณ์ DaVinci Code) บางครั้งอาจต้องหาข้อความที่ซ่อนไว้ในภาพ หรืออ่านค่า EXIF ของภาพมาถอดรหัสด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็มีกลุ่มผู้เล่นรวมตัวกันเพื่อถอดรหัสมาเผยแพร่ต่อ ลองติดตามได้จาก +Decode Ingress ได้ครับ
คู่มือนี้น่าจะช่วยให้การเริ่มต้นกับ Ingress ง่ายขึ้น แต่ตัวเกมยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร สามารถอ่านเพิ่มได้จาก
นอกจากนี้ยังมีชุมชนผู้เล่น Ingress อีกมากมาย รวมตัวกันตามเครือข่ายสังคมต่างๆ เช่น Facebook/Google+/Twitter รวมถึงเว็บบอร์ดต่างๆ ด้วย (มีทั้งแบบแยกฝ่ายและไม่แยกฝ่าย)
ขอให้สนุกกับ Ingress ครับ (สำหรับคนที่ยังไม่ได้ invite ก็ขอให้ได้โดยเร็ว)