งานวิจัยใหม่ของอินเทลที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเท็กซัสกำลังสร้าง microarchitecture ใหม่ที่เปิดให้ตัวซีพียูสามารถปรับตัวตามการใช้งานจริง เรียกว่า MorphCore โดยมันสามารถปรับแต่งตัวเองตามงานที่รันขณะนั้นได้
ซีพียูทุกวันนี้วิศวกรต้องออกแบบล่วงหน้าว่าการใช้งานจะเป็นงานประเภทใด และจัดเตรียมบัฟเฟอร์สำหรับงานต่างๆ ในซีพียู โดยเฉพาะการจัดเรียงชุดคำสั่งใหม่ เพราะซีพียูรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ประมวลผลตามลำดับที่ซอฟต์แวร์ถูกคอมไพล์มาตรงๆ อีกต่อไป แต่จัดลำดับคำสั่งใหม่ทั้งหมดตามความเหมาะสม โดยจะมีหน่วยความจำที่เก็บค่าผลลัพธ์ไว้ ในกรณีที่คำสั่งก่อนหน้า (ที่ถูกจัดลำดับเสียใหม่ให้ไปรันทีหลัง) กลับมีผลให้ยกเลิกคำสั่งที่ตามหลังมา ในบัฟเฟอร์เหล่านี้ก่อนที่จะเขียนผลลัพธ์ลงหน่วยความจำจริงๆ
การเรียงลำดับคำสั่งใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพซอฟต์แวร์ได้เป็นอย่างดีในกรณีที่ซอฟต์แวร์ต้องการการประมวลผลอย่างหนักตลอดเวลา แต่ในกรณีของซอฟต์แวร์ที่ติดคอขวดเป็น I/O การปล่อยให้เธรดอื่นๆ มารันได้เร็วๆ จะมีผลดีกว่ามาก
MorphCore สามารถปรับลดขนาดของบัฟเฟอร์นี้ตามสภาพการใช้งาน โดยบัฟเฟอร์ที่ปรับลดลงสามารถแปลงไปใช้เก็บคำสั่งที่โหลดเข้ามาจากหน่วยความจำแทน ผลของการทดสอบพบว่าคอร์แบบใหม่นี้ทำประสิทธิภาพได้ดีขึ้น 10% และประสิทธิภาพต่อพลังงานดีขึ้นถึง 22%
MorphCore ยังอยู่ในขั้นของการรันจำลองการทำงานบนซอฟต์แวร์ กว่าจะผ่านกระบวนการการออกแบบจนกระทั่งสามารถวางขายได้จริงอาจจะต้องใช้เวลาอีก 5 ถึง 10 ปี
ที่มา - Intel