ที่ประชุม W3C เสนอร่างแรกของมาตรฐาน Encrypted Media Extensions (EME) หรือ "มาตรฐานการจัดการสิทธิ (DRM) สำหรับเนื้อหาในเว็บ" เปิดแก่สาธารณะ เป็นเวอร์ชั่นแรก มาตรฐานนี้จะรวมเอากระบวนการเก็บกุญแจถอดรหัสเนื้อหาเอาไว้ในเบราว์เซอร์, อัลกอริทึมสำหรับการถอดรหัส, และกระบวนการตรวจสอบว่าเบราว์เซอร์ยังคงออนไลน์อยู่ เพื่อจะรับชมเนื้อหาที่ดาวน์โหลดมา
บริษัทที่สนับสนุนมาตรฐานนี้ เช่น ไมโครซอฟท์, กูเกิล, โนเกีย, อโดบี, บีบีซี, Comcast อย่างไรก็ดี หนึ่งในตัวแทนของกูเกิลคือ Tab Atkins Jr. ผู้ร่วมทีมพัฒนา Chrome และดูแลการออกมาตรฐานเว็บได้ต่อต้านร่างนี้อย่างหนัก เขาระบุว่าเทคโนโลยี DRM ไม่สามารถเปิดกว้างและสร้างขึ้นอย่างเสรีได้, มาตรฐานจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้แม้จะมีมาตรฐานออกมาแล้ว, เว็บที่ใช้มาตรฐานนี้จะผูกติดกับเซิร์ฟเวอร์จัดการไลเซนส์ เมื่อผู้ให้บริการปิดเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ เนื้อหาจะเปิดไม่ได้อีก, และแนวคิดของ DRM ผิดพลาดในทางคณิตศาสตร์ มาตรฐานที่ยังใช้งานได้ในทุกวันนี้เป็นเพราะมันยังไม่เจอข้อผิดพลาดเท่านั้น แต่ท่าทีอย่างเป็นทางการของกูเกิลคือสนับสนุนร่างนี้ และกำลังเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้าไว้ใน Chrome
ฝั่งผู้ให้บริการเนื้อหาอย่าง BBC ที่เข้าร่วมในทีมงานมาตรฐานนี้ก็ยอมรับว่ามาตรฐานนี้ไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้อย่างปลอดภัย เว้นเสียแต่จะมีการปกป้องด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
ผมคาดว่ามาตรฐานนี้จะสร้างความแตกแยกให้กับวงการเว็บอย่างมาก (แม้แต่ทีมกูเกิลด้วยกันเองยังมองต่างกัน) ทางฝั่ง Mozilla ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจโดยตรงยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีกับมาตรฐานนี้แต่อย่างใด แต่หากมาตรฐานนี้ถูกผลักดันมากกว่านี้ น่าจะมีหลายโครงการที่ประกาศปฎิเสธไม่รวมฟีเจอร์นี้เข้าไว้ในโครงการของตัวเองด้วยการแพตซ์ฟีเจอร์นี้ทิ้งไป อย่างโครงการลินุกซ์ดิสโทร์ที่ให้ความสำคัญกับแนวทางโอเพนซอร์สมากๆ หลายโครงการ
ที่มา - W3C