ปีก่อน Bill Hilf หัวหน้าแล็บโอเพนซอร์สของไมโครซอฟท์มาเมืองไทยไปรอบนึงแล้ว (สกู๊ปเก่า) ปีนี้มารอบใหม่ ทางไมโครซอฟท์ประเทศไทยได้เชิญคนอ่าน Blognone ไปฟังเช่นเคย (ประกาศ) และนี่เป็นรายงานแบบคร่าวๆ เท่าที่ผมจดมา
Bill Hilf เริ่มต้นโดยการแนะนำงานที่เขาทำในไมโครซอฟท์ นั่นคือทดสอบการทำงานร่วมกันระหว่างระบบของไมโครซอฟท์กับระบบโอเพนซอร์สอื่นๆ จำนวนมาก ระหว่างนั้นคุณ bact' ได้ถามว่าถ้าเจอบั๊กในโปรแกรมฝั่งไมโครซอฟท์ก็ต้องแก้ อันนั้นเรื่องปกติ แต่ถ้าเจอบั๊กในฝั่งโอเพนซอร์สจะทำอย่างไร Bill ตอบว่าบางโอกาสเค้าก็ส่ง patch กลับไปยังชุมชนโอเพนซอร์สด้วย (ยกตัวอย่างโปรแกรม Gaim ที่มีบั๊กกับ Firewall ของไมโครซอฟท์) เพียงแต่ไม่ใช่หน้าที่สำคัญของทีมเค้า
จากนั้นเขาอธิบายกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ว่าตั้งตัวเป็นคู่แข่งกับบริษัทอย่าง Red Hat ไม่ใช่ชุมชนผู้พัฒนา และจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์บางรายที่มีผลประโยชน์ไปกันได้ กรณีตัวอย่างคือ JBoss ซึ่งเป็นของ Red Hat ถึงแม้ตลาดระบบปฏิบัติการสำหรับเซิร์ฟเวอร์นั้น ไมโครซอฟท์จะแข่งกับ RHEL โดยตรง แต่ก็สามารถจับมือกันในตลาดที่ไม่ซ้อนทับกันอย่าง JBoss ได้
รายชื่อพาร์ทเนอร์ของไมโครซอฟท์ที่ผมจดมา:
เรื่องอื่นๆ ก็มีเว็บ Port25 ซึ่งเป็นพอร์ทัลของแล็บโอเพนซอร์ส กับ CodePlex ที่เหมือน SourceForge เวอร์ชัน .NET
Bill Hilf ยังพูดเรื่อง Windows Academic Program ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเข้าถึงซอร์สโค้ดได้ คุณ bact' ถามอีกเช่นเคยว่าเป็นเพราะการสอนวิชา OS ในปัจจุบันใช้ลินุกซ์เป็นตัวอย่างหรือเปล่า ถึงต้องมีโปรแกรมนี้ออกมาแข่ง ซึ่ง Bill Hilf ก็ยอมรับว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญ
มาถึงช่วงคำถาม
คุณ bact' (อีกแล้ว) ถามเรื่องดีลกับ Novell ว่าคล้ายกับดีลของซันเมื่อ 3-4 ปีก่อนหรือเปล่า Hilf ตอบว่าคล้ายกันแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ใจความหลักเป็นการแลกเปลี่ยนความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรเหมือนกัน และเขาคิดว่าระบบสิทธิบัตรของสหรัฐยังไม่ดีเท่าที่ควร
ผมถามเรื่อง OpenXML vs ODF ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นอย่างที่คาด คือขึ้นกับผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ผมสังเกตว่าฝั่งคนถาม (ผม, bact', deans4j) พยายามแยกประเด็นระหว่าง open source กับ open standard แต่ Hilf พยายามตีประเด็นด้าน open standard ลงไป โดยบอกว่านั่นเป็นเรื่องของภาครัฐที่ทำงานทางนโยบายเท่านั้น ในความเป็นจริง (ของ Hilf ละมั้งนะ) ผู้บริโภคไม่สนใจหรอกว่าใช้ฟอร์แมตอะไร สนใจฟีเจอร์ของชุดโปรแกรมออฟฟิศมากกว่า
ผมถามต่อว่าช่วงหลังไมโครซอฟท์มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร มีผู้บริหารยุคใหม่ขึ้นมามากกว่าเดิม และมีทีมเฉพาะกิจอย่าง Hilf คอยสอนคนข้างในเรื่องโอเพนซอร์ส เป็นไปได้ไหมว่าไมโครซอฟท์ในอนาคตจะไปในทิศทางที่ "เปิด" มากขึ้น เราอาจจะเห็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ บนแมคหรือลินุกซ์ได้หรือไม่ Bill ตอบ (ตามธรรมเนียม) ว่าขึ้นกับ Return of Investment อันไหนคุ้มก็จะทำ
ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่น่าผิดหวังพอสมควร แต่เอาเถอะ ตอบในนามบริษัทมันก็ต้องตอบแบบนี้แหละ
สุดท้ายขอบคุณไมโครซอฟท์ประเทศไทยที่เชิญไปฟัง เลี้ยงข้าวด้วย แถมยังมีของแจกมากมาย เวอร์ชันยาวๆ รอดูได้จาก DuoCore ที่ขนทั้งทีมไปถ่ายทำ