ทำไมตลาด e-book ในญี่ปุ่น จึงไม่หอมหวานนัก?

by relaxpor
19 February 2013 - 01:19

Sony บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเอง ก็มีสายการผลิตของอุปกรณ์ e-reader ในตระกูล PRS เช่นกัน แต่ยอดขายตั้งแต่ทำการตลาดมา 7 ปี มีอยู่เพียง 500,000 เครื่องเท่านั้น จากผลการศึกษาของ R.R. Bowker พบว่า จำนวนตัวเลขของผู้ที่ครอบครอง e-reader มีเพียง 8% เท่านั้น เทียบกับตัวเลขในตลาดอเมริกา ที่มีอยู่ 20% นอกจากนี้ 72% ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่เคยลอง และไม่คิดจะลองอ่าน e-book เลย

Robin Birtle สำนักพิมพ์ที่จัดทำ e-book ให้ความเห็นไว้ว่า รสนิยมของชาวญี่ปุ่นจะแตกต่างออกไป เพราะชาวญี่ปุ่นต้องการอะไรที่มันจับต้องได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่อธิบายได้ว่า แม้ในประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในโลกอย่างญี่ปุ่นนั้น เรื่องของบรรจุภัณฑ์, หรือ DVD ก็ยังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

อีกบทความหนึ่งจาก Good E-Reader ให้ความเห็นไว้ว่า เรื่องของตลาดที่เล็ก อาจจะไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่นไม่ต้องการอ่าน e-book เพียงแต่ปัจจุบัน หนังสือ e-book ภาษาญี่ปุ่นยังมีอยู่น้อยมาก เพียง 40,000 เล่มเท่านั้น แต่เนื่องจากสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ ยังคงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ตลาด e-book เพราะต้องใช้พลังงานในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาษาญี่ปุ่น ที่อ่านหนังสือจากบนลงล่าง และขวาไปซ้ายนั้น ยังไม่มีมาตรฐานไฟล์ใดๆ ที่รองรับ สมาคมผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่น ยังเคยพยายามเริ่มสร้างมาตรฐาน E-Books สำหรับภาษาของตนเอง แต่ด้วยความยุ่งยาก และจะทำให้ e-book กลายเป็นระบบปิด ก็เลยไม่ได้รับความสนใจมากนัก นักอ่านส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการแสกนหนังสือตัวเองเป็นรูปภาพและจัดทำเป็น PDF จนเกิดเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จข้ามคืนอย่าง Bookscan ที่รับแปลงหนังสือเป็นไฟล์ PDF

อย่างไรก็ตาม ตลาด e-book ของญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่น่าสนใจขึ้นในปัจจุบัน เพราะการมาของมาตรฐาน EPUB 3 ซึ่งเป็น format เปิดเพียงตัวเดียวที่รองรับภาษาญี่ปุ่น และยังมีการบุกตลาดของ Amazon Kindle และ Kobo โดย Rakuten ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง จะยิ่งสร้างความร้อนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันๆ และตลาดในปีหน้า อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน

ส่วนตัวผมมองว่า ภาษาไทยเอง ก็มีปัญหาคล้ายๆ กับ ตลาดญี่ปุ่น เพราะเรามีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ เท่าที่ผมหาข้อมูลมา ภาษาไทยเป็นภาษาเดียวที่ต้องมีการตัดคำ ซึ่งหากขาดการตัดคำนี้ไป จะอ่านไม่รู้เรื่อง อาจจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้การแปลงหนังสือเป็น e-book มีความยากลำบากครับ

ที่มา: Fortune, Good E-Reader

Blognone Jobs Premium