สัมภาษณ์ดร.สารสิน บุพพานนท์ จากบริษัท Atiz ถึงโครงการไทยที่รวมทุนใน KickStarter ได้สำเร็จ

by lew
21 February 2013 - 20:31

Blognone เคยพบกับดร.สารสิน บุพพานนท์ ไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสามปีก่อน ที่เราได้ยินชื่อบริษัท Atiz Innovation เป็นครั้งแรกๆ ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีสแกนหนังสือที่สามารถแสกนได้โดยหนังสือไม่เสียหาย ต้องอาศัยเทคโนโลยีทั้งการประมวลผลภาพ และความรู้ด้านหุ่นยนต์ประกอบกัน

เมื่อเดือนที่ผ่านมาทาง Atiz ได้ส่งสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด นั่นคือแท่นถ่ายเอกสาร Scandock ที่ช่วยให้เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือมาทำหน้าที่สแกนเนอร์โดยมีคุณภาพสูง จากการควบคุมทั้งแสง ระยะห่าง และมีการปรับแก้ความผิดเพี้ยนของสีในตัว โครงการนี้ระดมทุนใน KickStarter ได้ 106,683 (ประมาณสามล้านบาท) พอๆ กับที่ตั้งเป้าหมายไว้ 100,000 ดอลลาร์ ทำให้โครงการนี้น่าจะเป็นสินค้าเทคโนโลยีตัวแรกๆ ที่ระดมทุนใน KickStarter สำเร็จ

มาวันนี้เราจะกลับมาพูดคุยกับดร.สารสิน อีกครั้งว่าโครงการนี้มีที่มาเป็นอย่างไร

ทำไมถึงคิดจะทำโปรเจคนี้ ได้มีแนวทางเลือกมาก่อนจากหลายโปรเจคหรือไม่ ก่อนจะมาเป็นโปรเจคนี้สำรวจตลาดหรือความคุ้มค่าอย่างไรบ้าง

ไม่มีการสำรวจตลาดอย่างเป็นทางการครับ เราอยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว เห็นแนวทางของเทคโนโลยีชัดเจนมาก ในความคิดของเราคือไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ บริษัทฯ จึงดำเนินการรีบพัฒนาทันทีครับ

แนวคิดก็คือ คนนิยมใช้กล้องมาถ่ายภาพหรือสแกนเอกสารมานานแล้วครับ 8-9 ปีได้ แต่ทำไมตามออฟฟิศสำนักงานต่างๆ เกือบทุกแห่ง ถึงยังมีเครื่องมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ เครื่องแฟ็กซ์ เครื่อสแกนอยู่ ทั้งๆที่เครื่องเหล่านี้ ใช้งานยาก คนโดยทั่วไปทั้งผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากใช้เครื่องพวกนี้ ทุกคนชอบใช้โทรศัพท์มากกว่าเพราะสะดวก ใช้งานง่าย คำถามคือทำยังไงให้สมาร์ทโฟน สร้างคุณภาพภาพออกมาได้ดีดุจดังเครื่องสแกนตั้งโต๊ะ

เราลองใช้ แอพต่างๆ ที่มี ซึ่งใช้งานได้ดีสำหรับการสแกนนอกสถานที่ แต่ถ้าอยู่ที่ออฟฟิศ ก็เห็นว่าคุณภาพภาพสู้เครื่องแบบโบราณไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยพัฒนา Scandock เพื่อให้เป็นอุปกรณ์สำหรับสำนักงานสมัยใหม่ครับ ได้ทั้งคุณภาพ และใช้ง่าย

ซอฟต์แวร์ภายในทำอะไรได้บ้าง นอกจากการแก้ไขเรื่องสีภาพแล้วยังมีความสามารถอื่นๆ เช่น การแก้ภาพที่บิดเบี้ยวหรือไม่

จริงๆ มีซอฟท์แวร์มากมายที่ช่วยปรับแต่งสีภาพ ความพิเศษของ Scandock คือ เป็นการเปลี่ยนให้เป็นสีที่แท้จริง (True Color) ของวัตถุครับ ซึ่งคุณสมบัตินี้นอกจากใช้กับเอกสารแล้ว ยังใช้กับวัตถุได้ คือไว้แก้ไขภาพถ่ายรูปวัตถุสามมิติให้เป็นสีที่แท้จริงของวัตถุ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเหมาะเอาไปใช้ถ่ายสินค้าเล็กๆ เช่นตุ๊กตา แหวน ของสะสมต่างๆ ที่นิยมขายออนไลน์หรือทาง eBay

ความสามารถของฮาร์ดแวร์ เราที่สามารถสร้างสีที่แท้จริงนี้ สามารถร่วมให้ผู้พัฒนาแอพอื่นใช้ได้ด้วยครับ ในรูปของ SDK ขณะนี้มีผู้พัฒนาแอ๊พบางรายติดต่อเข้ามาสนใจอยากได้ความสามารถตรงนี้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องทำฮาร์ดแวร์ออกมาขายแข่ง ผู้ใช้ซื้อไปครั้งเดียว ก็สามารถใช้ประโยชน์ความสามารถของฮาร์ดแวร์ Scandock ได้เต็มที่ตรงนี้ ทั้งจากแอพ Scandock เอง และแอ็พโดยผู้พัฒนารายอื่นๆ

ความสามารถที่เป็นไฮไลท์อีกอันหนึ่ง โหมดการสแกนเอกสารหลายๆอย่างพร้อมๆกัน (Multi-Doc Mode) ซึ่งสามารถสแกนนามบัตร และใบเสร็จหลายๆ ใบพร้อมๆ กันในรูปเดียว โดยแอ๊พจะทำการ crop แบ่งภาพเอกสาร นามบัตร ใบเสร็จเหล่านั้นทุกใบ แยกออกมาเป็นภาพเดี่ยวๆ ให้ผู้ใช้ได้เองโดยอัตโนมัติ

ส่วนความสามารถมาตรฐานอื่นๆ เช่น แก้ภาพที่มีลักษณะ perspective รูปสี่เหลี่ยมคางหมู, โหลดขึ้นบริการออนไลน์ต่างๆ, การแปลงไฟล์, อันนี้มีอยู่แล้วครับ ในอนาคตเราก็จะเพิ่มประโยชน์ใช้สอยหรือลูกเล่นอื่นๆ เข้าไปอยู่เรื่อยๆ ครับ เช่น วิชวลไลเซอร์ เพิ่มโหมดสแกนหนังสือ เป็นต้น

ภาพตัวอย่างที่ได้จากการใช้ Scandock

พลังประมวลผลเป็นปัญหาหรือไม่ในการประมวลผลภาพ ซอฟต์แวร์ที่ Atiz พัฒนาไว้แล้วต้องออปติไมซ์ใหม่เพื่อใช้บนโทรศัพท์มากไหม

ถ้าเป็นโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ เช่น iPhone 5 ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าหน่อยก็มีผลบ้างเรื่องภาพที่มีขนาดใหญ่ แต่เราก็ได้ทำการออปติไมซ์โค้ดให้ทำงานได้เร็ว เหมาะสมกับการใช้งานและประสิทธิภาพของโทรศัพท์ โดยเฉพาะส่วนการประมวลผลภาพที่เราพัฒนาขึ้นเอง ได้พยายามเลือกอัลกอริธึ่มที่รวดเร็วและเหมาะสม สำหรับบางส่วนที่ขึ้นอยู่กับ OS และ GPU ของโทรศัพท์ ก็ต้องพยายามติดตามและอัพเดท ซึ่งใน framework เวอร์ชั่นใหม่ก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยตลอด

ฟีเจอร์ของแท่นวาง หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแพงกว่าสแกนเนอร์ ทำไมราคาจึงค่อนข้างสูง (ราคาใน KickStarter คือ 479 ดอลลาร์)

อยากขอย้ำนิดนึงครับ ว่า Scandock เป็นสินค้าสำหรับองค์กร สำนักงาน หรือธุรกิจ ไม่ได้เป็นสินค้าคอนซูเมอร์ไว้ใช้ตามบ้าน หรือสินค้าไว้พกพาครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองว่าเป็นสินค้าสำหรับองค์กร ก็น่าจะไม่ถือว่ามีราคาสูงครับ

เราตั้งโจทย์เอาไว้ว่า เครื่องรุ่นแรก เราอยากได้เครื่องที่มีคุณภาพ การออกแบบและการใช้งานที่ดีที่สุดครับ มากกว่าจะเน้นมีต้นทุนที่ต่ำครับ เพราะฉะนั้นในแง่ของวัสุดและวิธีการผลิต เช่นฐานที่ทำจากอะลูมิเนียมเอียง 3 องศาเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้ใช้ในการวางเอกสารและเพิ่มความแข็งแรงให้กับเครื่อง, คออะคริลิกใสชิ้นเดียวที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถวางเอกสารได้สะดวกโดยไม่มีอะไรกีดขวางและทำให้เครื่องดูโปร่ง จึงทำให้สินค้ามีราคาต้นทุนที่ค่อนข้างสูงครับ ไม่ได้มีกำไรอะไรมากมายครับ

กระบวนการผลิตทำในไทยทั้งหมดเลยหรือไม่ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ซอฟท์แวร์ 100% พัฒนาโดยคนไทยครับ

ด้านฮาร์ดแวร์ กระบวนการผลิตหลักอยู่ในประเทศไทยครับ แต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยส่วนใหญ่นำเข้าครับ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผลิตที่ไทยไม่มี เช่น หลอดไฟ LED คุณภาพสูง, เลนส์ เป็นต้น

ทำไมถึงเลือกเข้า KickStarter ถ้าโครงการไม่สามารถระดมทุนได้จะมีผลต่อการตัดสินใจทำตลาดต่อไปไหม

เราเห็นสินค้าใหม่ๆ น่าสนใจหลายตัวเปิดตัวที่ KickStarter เราเลยตั้งเป้าต้องการเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่เปิดตัวที่ KickStarter ครับ ที่เราตั้งเป้า KickStarter ไว้เพราะต้องการได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้นี้ครับว่าเป็นอย่างไร

บริษัทเรามีทุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ผลการระดมทุนที่ KickStarter ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็ยังดำเนินการผลิตสินค้าออกมาเช่นเดิมครับ อาจมีผลต่อกำลังใจเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจนอกจากจะเป็นโอกาสให้เราได้รับฟีดแบ็คจากคนนอกให้เรามาปรับปรุงข้อความหรือแนวทางในการทำการตลาดของเราให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Scandock นี้เป็นแค่สินค้าประเดิมเท่านั้น เรามีโปรเจคท์อื่นที่น่าสนใจกว่านี้ และเป็นธุรกิจอื่นไปเลยจะเปิดตัวที่ KickStarter อีกเช่นกันภายในปีนี้ครับ

ต่อจากนี้ Atiz จะทำตลาดสินค้าสำหรับผู้ใช้ทั่วไปเพิ่มขึ้นไหม (สินค้าต่อไปน่าจะเป็นอะไร?)

ตอนนี้คงจะมุ่งเน้นมาที่ Scandock ครับ เราหวังจะให้ทุกองค์กร ทุกสำนักงานค่อยๆเปลี่ยนจากเครื่องมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์มาเป็น Scandock ครับ หรืออาจจะวางคู่กันก็ได้ เพื่อเป็นทางเลือกเสริมเพื่อเน้นความสะดวกครับ ที่ไหนมี printers, scanners ที่นั่นควรจะมี Scandock โดยเริ่มจากออฟฟิศก่อน

ตอนนี้บริษัทมีกี่คน (รับคนเพิ่มไหม) รู้สึกอย่างไรกับการเป็นบริษัทเทคโนโลยีในขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทำงานธุรกิจสำหรับองค์กรเป็นส่วนใหญ่ หาคนทำงานด้านเทคนิตหนักๆ ได้ยากไหมในเมืองไทย

ตอนนี้บริษัทมีทีมงานรวมกันประมาณ 20 กว่าคน -30 คนครับ เราชอบกับการเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กของเรานี้ครับ ที่องค์กรเราเป็นองค์กรในแนวราบ สามารถทำสิ่งใหม่ๆที่เราอยากได้แล้วโลกยังไม่มี ผลิตมาให้คนทั่วโลกได้ใช้กันครับ

สำหรับการหาคนทำงานด้านเทคนิคหนักๆ บางตำแหน่งก็ไม่ยาก เพราะในประเทศไทยพอจะมีทำกันเยอะ แต่บางตำแหน่งก็อาจจะไม่มีเลย เช่นผู้มีประสบการณ์ออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ เช่นสมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทว็อทช์ (Smartwatch) เป็นต้น

และนอกจากความรู้ความสามารถแล้วเราต้องการคนที่เหมาะกับวัฒนธรรมขององค์กรด้วย ซึ่งเราเป็นองค์กรขนาดเล็ก เน้นงานนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งาน cutting edge จากไอเดียเริ่มต้นจนเป็นสินค้าออกมาวางขาย คนที่เข้ามาแล้วเราต้องการให้อยู่กับเรานานๆ เรามีการสร้างคน แนะนำ career path ตามความสามารถของแต่ละคน เพื่อที่จะให้เค้าสามารถที่จะยืนได้อย่างมั่นใจในบริษัท

ถ้าอยากร่วมงานในอนาคต หรืออยากทำงานที่เป็นการพัฒนาสินค้าแบบนี้ สำหรับน้องๆ ที่เรียนอยู่ ขอคำแนะนำสำหรับน้องๆ ว่าควรเรียนอะไรเป็นพิเศษ หรือควรฝึกงาน ฝึกฝนความสามารถใดบ้าง

ขออนุญาตประกาศในที่นี้เลยครับ บริษัทเอทิซ กำลังพัฒนานาฬิกาอัจริยะ (Smartwatch) อยู่ เราเปิดรับในหลายตำแหน่งงานทั้ง Software Programmer, Embedded/ electronic, Mobile Developer (Android), UX/UI Designer, Computer Graphics เป็นต้น

คำแนะนำแบบกว้างๆ คือ เรียนสาขาอะไรก็ได้ครับ ขอให้หาสิ่งที่ตัวเองรัก ตัวเองชอบให้เจอ ถ้าไม่เจอก็ให้หาต่อไป ถ้าเจอสิ่งที่ชอบเมื่อไหร่ ก็ขอให้เรียนรู้ พัฒนาตัวเองในสายวิชาที่ตัวเองชอบนั้นให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีความริเริ่มมากๆ ต้องคิดลงมือทดลองทำ มีผลงานต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก มีทัศนคติที่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี people skills ที่ดี และภาษาอังกฤษที่มีความสำคัญมากเช่นกันที่ต้องใช้เรียนรู้ และสื่อสารกับคู่ค้า/ลูกค้าของเราที่อยู่ทุกที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทย

Blognone Jobs Premium