เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Blake Ross หัวหน้าฝ่ายสินค้าของ Facebook ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัท โดย Ross ได้เขียนว่าเขาเลือกที่จะลาออก หลังจากที่ทราบจากผู้เขียนของ Forbes ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบ Facebook เลยแม้แต่น้อย และเขาก็คิดว่าอนาคตของ Facebook อาจจะไม่ไกลอย่างที่หลายคนคิด
แต่หลังจากที่คนเริ่มเห็นข้อความนี้ได้ซักพัก Ross ก็ได้ถอดข้อความนี้ออก ข้อความของ Ross นี้ บังเอิญไปตรงกับรายงานความเสี่ยงที่ Facebook ได้ส่งให้ กลต. ของสหรัฐว่าบริษัท เริ่มที่จะเสียลูกค้าที่มีอายุน้อยให้แก่สินค้าและบริการอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับ Facebook
แล้วอะไรคือปัญหาของ Facebook ล่ะ?
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า Facebook เป็นบริการที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และความเป็นส่วนตัวนี้กลับทำให้ "การแชร์" ทำได้ยากขึ้น อีกเหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือเด็กรุ่นใหม่เริ่มสรรหาสิ่งที่สนุก ตื่นเต้น และน่าติดตามมากกว่า
ก่อนหน้านี้ เด็กรุ่นใหม่คิดว่าการที่แชร์ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเองเป็นเรื่องที่เจ๋ง เช่น เราชอบภาพยนตร์เรื่องอะไร แฟนเราคือใคร เรากำลังทำอะไรอยู่ เราไปเที่ยวที่ไหน โดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้ HTML เหมือนกับ MySpace ที่โด่งดังมาก่อนที่จะมี Facebook แต่ในขณะเดียวกัน การที่คนเราได้แชร์เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเองมากเกินไป มันเริ่มเปลี่ยนจากการ "แชร์" ไปเป็น "การโอ้อวด" แล้วมันเริ่มบังคับให้ผู้ใช้เห็นสิ่งที่เขาไม่อยากเห็นหรือรับทราบ สิ่งที่เคย "แจ่ม" เลยกลายเป็นน่าเบื่อไปทันที
แย่ไปกว่านั้น การใช้ Facebook มันเริ่มจะเหมือนการเข้าไปทำงานเข้าไปทุกที เพราะการสร้างภาพให้แก่ตัวเองตลอดเวลามันกลายเป็นเรื่องที่ลำบากและน่าเบื่อ เด็กอายุ 15 รายหนึ่งกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่งี่เง่าพอสมควร ที่คนเราจะต้องคอยโพสต์รูปภาพเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองตลอดเวลาโดยไม่มีเหตุผล ผมใช้ Facebook เพื่อพูดคุยและติดต่อกับเพื่อนมากกว่า และตอนนี้ก็ใช้มันแค่สัปดาห์ละครั้งสองครั้งเท่านั้น"
แล้วตอนนี้คนรุ่นใหม่หันไปใช้อะไรแทน?
วัยรุ่นยุคนี้หมดเวลาไปกับการใช้บริการใหม่ ๆ อย่าง Tumblr, Snapchat หรืออินสตาแกรมในการติดต่อหรือสื่อสารกับเพื่อนหรือคนรู้จักมากขึ้น เพราะว่ามันให้ความรู้สึกว่าเรา "แชร์" เนื้อหากัน มากกว่าการ "โอ้อวด"
แหล่งข้อมูลบางสำนักเชื่อว่า Tumblr ตอนนี้ได้แซงหน้า Facebook ไปแล้วในกลุ่มลูกค้าอายุระหว่าง 13-25 ปี และสิ่งหนึ่งที่วัยรุ่นชอบเกี่ยวกับ Tumblr ก็คือความสามารถในการสร้างตัวตนของตัวเองได้หลายตัวตน ในขณะที่บน Facebook ทุกคนมีตัวตนเพียงตัวตนเดียว (อิอิ) Tumblr เป็นเว็บที่ทำให้วัยรุ่นสามารถหาคนที่มีลักษณะนิสัยและความชอบใกล้เคียงกันได้ และทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกเหงา
เช่นกัน การปรับความเป็นส่วนตัวได้เพียงแค่ Private กับ Public ทำให้ Tumblr ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ Facebook กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งคนที่เราไม่ค่อยรู้จัก จะต้องเห็นสิ่งที่ผู้ใช้โพสต์ขึ้นไปตลอด Tumblr จึงเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่สามารถระบายความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้โดยไม่ต้องกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตจริง
อีกเทรนด์หนึ่งที่ต้องจับตามองก็คือการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ ที่เริ่มย้ายมาจากคอมพิวเตอร์มาเป็นอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือ (ในยุค Post-PC) แอพอย่าง Snapchat ได้เข้ามาแทนที่ Facebook ในการส่งข้อความและรูปภาพให้แก่คนรู้จักที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง สิ่งที่ส่งไปก็จะถูกลบไปในทันทีเมื่อผู้ใช้อีกฝั่งเปิดอ่าน ต่างกับ Facebook ที่ทุกสิ่งที่ถูกอัพโหลดขึ้นไป จะอยู่บนอินเทอร์เน็ตตลอดไป เด็กรุ่นใหม่ นิยมใช้ Snapchat กับ Instagram คู่ ๆ กันไปในการแชร์รูปภาพ
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร?
ถ้าให้เรียกง่าย ๆ เราอาจจะเลยยุค "แชร์ไม่ยั้ง" ไปแล้ว และการโม้โอ้อวดบนโลกออนไลน์อาจจะไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในตอนนี้ก็เริ่มที่จะไม่แสดงความรู้สึกใด ๆ ต่อการโอ้อวดเหล่านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม Facebook ก็มีความพยายามที่จะปรับตัวเพื่อที่จะเอาตัวรอดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากความสามารถที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ของแอพ Facebook Messenger ซึ่งเด็กยุคใหม่หลายคนยังยอมรับว่ายังใช้บริการนี้อยู่เป็นประจำ
ทุกวันนี้ การโพสต์ "selflies" (หรือการแชร์รูปหน้าตัวเองที่ถ่ายด้วยกล้องมือถือ) มันไม่เจ๋งอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ใด ๆ ก็ตาม (อาจจะไม่รวมเมืองไทย ที่เรายังเห็นทำกันทุกวัน) เว้นแต่ว่าผู้โพสต์ selfies ทำเพื่อประชดประชันเท่านั้น ตอนนี้เนื้อหาที่คนสนใจเปลี่ยนมาเป็นการบอกให้คนอื่นรับรู้ถึงความรู้สึกและความคิดของเรามากกว่า
ทางออกทางเดียวของ Facebook ในตอนนี้ อาจเป็นการปรับบริการของตัวเอง ให้ตรงกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้า Facebook สามารถปล่อยคุณสมบัติและบริการใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ให้ตรงกับเทรนด์ Facebook ก็อาจจะสามารถรอดชีวิตต่อไปได้ซักพัก
หมายเหตุ: เนื้อหานี้อาจจะไม่ตรงกับเทรนด์ของประเทศไทย ยกตัวอย่างจากสมัยก่อน ที่คนไทยไม่นิยมใช้ MySpace เลย แต่กลับนิยม Hi5 มากกว่า Facebook เองก็แจ้งเกิดในเมืองไทยช้ากว่าหลายประเทศพอสมควร
ที่มา - The Verge