มินิรีวิว: อยากได้ข้อมูลแบตเตอรี่? Windows 8 จัดให้

by hisoft
3 March 2013 - 18:19

หลังจากปล่อยให้การหาข้อมูลเชิงลึกของแบตเตอรี่เป็นเรื่องวุ่นวาย อย่างง่ายที่สุดก็ต้องหาโปรแกรมมาลงเพิ่ม ไมโครซอฟท์ก็ได้สำนึกผิดด้วยการใส่ความสามารถใหม่มาให้ Windows 8 โดยสามารถสร้างรายงานออกมาให้อ่านได้ง่าย เป็นระเบียบสบายตา

ความสามารถใหม่นี้ไม่ได้มาในรูปแบบโปรแกรมหรือคำสั่งใหม่อะไร แต่เป็นส่วนเสริมเข้าไปในคำสั่งที่ทุกคนคุ้นชินอย่าง "powercfg" นั่นเอง

อย่าพึ่งตกใจกับคำสั่ง powercfg เราไม่ได้ให้ท่านไปเขียนโปรแกรม ศึกษา command prompt ซิ่วไปเรียนสายคอมพิวเตอร์ หรือเอาปืนฉีดน้ำขู่หลานที่มีแท็บเล็ตป. ๑ มาทำงานยาก ๆ ให้แต่อย่างใด เรามีไฟล์สำเร็จรูปพร้อมให้ท่านดาวน์โหลดไปดับเบิลคลิกเพื่อดูรายงานได้ง่าย ๆ อยู่ด้านใน เพียงเข้ามากดไลค์ข่าวภายในสิบนาทีนี้และแชร์ต่อไป ๙๙ ฉบับ...

หมายเหตุ: เช่นเคยกับบทความเดิม ๆ ของผม ทุกภาพมีคำอธิบายเมื่อใช้เมาส์ชี้ค้างไว้ และคลิกไปดูภาพเต็ม ๆ ได้ ทุกลิงค์จะมีคำอธิบายเมื่อใช้เมาส์ชี้ค้างไว้เช่นกัน

การเรียกใช้ก็แค่สั่ง powercfg /batteryreport เราก็ได้รายงานสวยงามอ่านง่ายมาในรูปแบบ HTML ต่างจากขั้นตอนการเรียกที่ผู้ใช้ปกติคงไม่ขุดไปเจอกันง่าย ๆ

เพื่อความสะดวกในการใช้ ผมทำไฟล์ BAT ที่จะสร้างรายงาน เปิดรายงาน หน่วงเวลา ลบไฟล์ทิ้งให้เรียบร้อยเอาไว้แล้ว ดาวน์โหลดไปเก็บไว้ใช้ตามสะดวก ไม่ควรดองก่อนใช้เนื่องจากผมดองไว้เกินครึ่งปีแล้ว

จริง ๆ ไฟล์นี้ผมสร้างไว้ตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว (๒๕๕๕) ใช้ประจำจนลืมคิดไปว่าคนปกติคงไม่รู้ ตอนนี้สำนึกได้เลยเอามาแจก โดยตอนแรกว่าจะแจกไว้ตอนท้ายบทความ แต่เห็นว่าช่วงหลังมีคนอ่านน้อย-อ่านไม่จบ-อ่านแค่หัวข้อเพิ่มขึ้น เลยเอาไว้ต้น ๆ น่าจะดีกว่า

นอกเหนือจากนั้นยังมีตัวเลือกเสริมให้ปรับได้อีกสองตัว ตามนี้ครับ

  • /XML ให้ไฟล์ออกมาตามฟอร์แมต XML
  • /OUTPUT <Path\Filename> ระบุปลายทางของไฟล์

ไปดูรายละเอียดที่ได้เป็นส่วน ๆ กันเลยดีกว่า

ส่วนแรก ข้อมูลพื้นฐานของระบบ มีส่วนที่ไม่สำคัญเท่าไหร่อย่างชื่อเครื่อง (คาดเส้นชื่อเครื่องไว้แล้ว บังมิดระดับกองเซ็นเซอร์ปิดบุหรี่ปลายปากคนสูบ เชื่อว่าไม่มีใครอ่านออก) ส่วนที่สำคัญจริง ๆ ก็คือ "CONNECTED STANDBY" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสามารถใหม่ของ Windows 8 ที่ช่วยให้เรา sleep เครื่องแบบเดียวกับโทรศัพท์ ซึ่งจะใช้พลังงานมากกว่าการ sleep ปกติ แลกกับการที่เครื่องยังเชื่อมต่อรับข้อมูลต่าง ๆ เช่น อีเมล LINE และอื่น ๆ ได้ ซึ่งเครื่องผมแสดงว่า "Not supported" ไปอย่างน่าเสียดาย (อายุ ๕ ปี ๔ เดือนแล้วยังจะเอาอะไรอีก)

ต่อด้วยรายละเอียดแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ ส่วนนี้มีมากน้อยขึ้นกับผู้ผลิตว่าใส่มามากแค่ไหน ส่วนที่ควรใส่ใจจริง ๆ คือ "DESIGN CAPACITY" หรือความจุที่ออกแบบไว้ ที่ตอนออกจากโรงงานมามันควรจะเก็บได้เท่านั้น กับ "FULL CHARGE CAPACITY" หรือความจุที่เก็บได้ปัจจุบันนั่นเอง พวก "CYCLE COUNT" คงไม่สำคัญเท่าไหร่ในเมื่อเรารู้ว่ามันเสื่อมเหลือแค่ไหนแล้ว

บางคนอยากรู้ว่ามันเป็นกี่เปอร์เซ็นต์จากของเดิม คิดง่าย ๆ ด้วยสูตร FULL CHARGE CAPACITY * 100 / DESIGN CAPACITY ก็จะได้ว่าปัจจุบันเก็บได้กี่เปอร์เซ็นต์จากที่ควรได้ ส่วนว่าเสื่อมไปกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องเอาไปลบออกจาก ๑๐๐ อีกที อย่างของผมคือเสื่อมไปแล้ว ๑๐๐ - (๔๙,๔๙๐ * ๑๐๐ / ๖๒,๖๔๐) = ประมาณ ๒๑ %

ส่วนของสารเคมีเราจะข้ามไปเพื่อป้องกันปัญหากับกลุ่มอนุรักษ์สิงโต (LION:Lithium-ion นะไม่ใช่สิงโต!)

ส่วนถัดมาจะเป็นประวัติการใช้งานในช่วง ๗๒ ชั่วโมงล่าสุด โดยจะบอกเป็นเวลา สถานะเครื่อง (เปิด/ปิด/พัก) แหล่งพลังงาน (ไฟบ้าน/แบตเตอรี่) และพลังงานที่เหลือ ทั้งเป็นเปอร์เซ็นต์และมิลลิวัตต์-ชั่วโมง

ต่อด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ถูกใช้ไปใน ๗๒ ชั่วโมงล่าสุดเช่นกัน โดยมีกราฟของเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ และตารางเวลาว่าใช้ในช่วงไหน นานแค่ไหน ใช้ไปกี่เปอร์เซ็นต์และกี่มิลลิวัตต์-ชั่วโมง

จากนั้นจะมีประวัติการใช้งาน คาดว่าจะมีตั้งแต่เปิดใช้เครื่องครั้งแรกหลังติดตั้งระบบปฏิบัติการเลยทีเดียว โดยจะแบ่งออกเป็นรายวัน ส่วนที่เก่ากว่า ๒ สัปดาห์จะถูกรวมเป็นรายสัปดาห์แทน ซึ่งรายละเอียดจะมีแยกเป็นใช้ในโหมดเปิดเครื่องหรือ Connected Standby เป็นเวลาเท่าไหร่ในแต่ละแหล่งพลังงาน (ไฟบ้าน/แบตเตอรี่)

ถัดมาอีกจะเป็นประวัติความจุของแบตเตอรี่ ตรงนี้เอาไว้ดูได้ว่าแบตเตอรี่ของเราเสื่อมลงด้วยความเร่งเท่าใด หากเป็นยี่ห้ออันโด่งดังทางด้านนี้อาจพบความเร่งอันมากเกินบรรยาย ด้วยจรรยาบรรณผมคงไม่อาจกล่าวชื่อยี่ห้อ Acer, HP และอื่น ๆ ออกมาได้

ตามมาด้วยข้อมูลที่เหมือนจะเชื่อถือไม่ได้อย่างการประมาณระยะเวลาของแบตเตอรี่ ว่าจากเต็ม ๆ ไปจนหมดจะเปิดเครื่องใช้หรือ Connected Standby ได้นานแค่ไหน มีแยกด้วยว่าสภาพปัจจุบันอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าเป็นตามที่ออกแบบไว้จะอยู่ได้นานแค่ไหน คาดว่าเพื่อประกอบการพิจารณาว่าควรซื้อแบตเตอรี่ก้อนใหม่หรือยัง (ของผมก้อนดั้งเดิม แพงจนซื้อก้อนใหญ่มาเสริมไม่ลง) โดยแบ่งช่วงเหมือนที่หัวข้อที่แล้ว

โดยข้อมูลตรงนี้ผมสังเกตว่าตัวเลขมั่วเอาเรื่องเลยทีเดียว มีตั้งแต่ ๖ นาทีจนถึง ๘ ชั่วโมง เฉลี่ยคร่าว ๆ เหมือนจะราว ๑ ชั่วโมงด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ผมเอาเครื่องไปใช้เรียน ๓ ชั่วโมงเต็มเป็นประจำโดยไม่เสียบที่ชาร์จ ถ้าเปิดเยอะหน่อยก็จะรอดได้แบบหวุดหวิด

สุดท้าย เป็นการประมาณระยะเวลาเหมือนหัวข้อที่แล้ว เพียงแค่ไม่ใช่ประวัติแต่เป็นของปัจจุบัน

สรุปสั้น ๆ ว่า ผมชอบความสามารถนี้ครับ (>_<)

ปิดท้ายด้วยตัวรายงานฉบับเต็มเผื่อใครไม่ได้ใช้ Windows 8 แต่อยากเห็นรายงาน

Blognone Jobs Premium