เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากซัมซุงประเทศไทยไปร่วมงาน Samsung Forum 2013 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็ลงข่าวด่วนอย่าง ทดลองจับ Samsung Galaxy Note 8.0 ไปบ้างแล้ว
งาน Samsung Forum 2013 เน้นการอธิบายข้อมูลของสินค้าใหม่ๆ ประจำปีนี้ให้กับสื่อและตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ไม่ได้เป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สุดๆ แบบเดียวกับงาน CES/MWC หรืองานแถลงข่าวเฉพาะกิจของซัมซุงเอง
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์หลายตัวที่โชว์ในงานก็น่าสนใจ และเป็นตัวสะท้อนทิศทางของซัมซุง (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกไอทีไปแล้ว) ในระยะยาวได้เป็นอย่างดีครับ โพสต์นี้ก็ขอสรุปประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจับตาดังนี้
ถ้าไม่นับส่วนของอุปกรณ์พกพาที่มาแรงสุดๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ของซัมซุงที่ผมคิดว่าน่าจับตารองลงมาคือกลุ่มของ "สมาร์ททีวี"
เราพูดเรื่องสมาร์ททีวีกันมาหลายปีแล้ว เห็นผลิตภัณฑ์ที่อ้างตัวว่าเป็นสมาร์ททีวีมาแล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่มีบริษัทไหนประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดเท่าไรเลย (เทียบกับการใช้ทีวีแบบเดิมๆ แล้วมีประโยชน์มากกว่าแบบจับต้องได้ชัดเจน) ตรงนี้ผมมองว่ายักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงเองก็ยังก้าวไปไม่ถึงจุดนั้นเช่นเดียวกับคู่แข่งรายอื่นๆ
ความน่าสนใจอยู่ที่พัฒนาการของซัมซุงบนเส้นทางสมาร์ททีวีกลับชัดเจนมาก ถ้าลองเทียบกับสมาร์ททีวีปี 2012 แล้ว สมาร์ททีวีปี 2013 ของซัมซุงมีการเปลี่ยนแปลงเยอะทีเดียว
UI
สิ่งแรกที่จับต้องได้ชัดเจนคือ ซัมซุงโละ UI ของสมาร์ททีวีปี 2012 ทิ้งหมด แล้วเปลี่ยน UI ใหม่เป็นแบบของปี 2013 ที่เรียกว่า Smart Hub
Smart Hub ประกอบด้วย 3 หน้าจอ 3 โหมด ได้แก่
เท่าที่ดูจากหน้าจอและลองเล่นดูนิดๆ หน่อยๆ แล้ว ผมว่าซัมซุงมาถูกทางกว่าเดิม เพราะ UI แบบใหม่เข้าใจง่าย ไม่สับสนเหมือนของเดิม แยกหมวดหมู่กันชัดเจนดี
การสั่งงานด้วย Smart Interaction
สมาร์ททีวีของซัมซุงปี 2013 รองรับการป้อนข้อมูลเพื่อสั่งงานได้ 3 วิธี (เรียกรวมๆ ว่า Smart Interaction) ได้แก่
รีโมท Smart Touch Control พยายามแก้ปัญหาเรื่องรีโมทปุ่มเยอะๆ โดยผนวกฟีเจอร์ด้านการสัมผัสและการวาด gesture เข้ามา
หน้าตารีโมทของจริง (ผมไม่ได้ลองเล่นมากนักตอบไม่ถูกว่ามันใช้งานดีแค่ไหน แต่ปุ่มที่ทำเป็นรูปตามไอคอนมันกดยากไปหน่อย)
สั่งงานด้วยเสียง อันนี้คล้ายๆ กับ Google Glass ครับ ต้องพูดว่า "Hi TV" นำหน้าก่อนแล้วตามด้วยประโยคคำสั่ง พูดกับรีโมทก็ได้ (ทำหน้าที่เป็นไมโครโฟน) หรือจะพูดกับทีวีตรงๆ เลยก็ได้ถ้าไม่มีเสียงรบกวน
ฟีเจอร์นี้ยังรองรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น (ในภูมิภาคนี้เน้นเจาะตลาดออสเตรเลียเป็นหลัก) ผมถามผู้บริหารซัมซุงว่ามีแผนจะรองรับภาษาอื่นๆ อย่างไร เขาบอกเพียงว่าปลายปีนี้คงได้เห็น แต่ก็ยังไม่บอกข้อมูลว่าจะมีภาษาอะไรบ้าง
เท่าที่ลองเล่นดูก็เหมือนกับ voice control ของค่ายอื่นๆ คือสำเนียงผิดเมื่อไรก็ไปไม่เป็นเลยล่ะครับ
การใช้ motion gesture ลักษณะเดียวกับ Kinect สามารถโบกมือเพื่อเปลี่ยนหน้าได้ ขยับมือแบบในภาพเพื่อซูมเข้าและออกได้ ลองเล่นดูแล้วพบว่ามันไม่เป็นธรรมชาติอย่างแรง ดักความเคลื่อนไหวไม่แม่นเลย และใช้งานยากมากในทางปฏิบัติ ในระยะนี้คงเป็นได้แค่ฟีเจอร์สำหรับโชว์ว่าทำได้เพียงเท่านั้น
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจหน่อยคือ motion gesture ยกนิ้วโป้ง เพื่อสั่งให้กด like ใน Facebook ครับ
Smart TV Evolution Kit
ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของสมาร์ททีวีซัมซุงเลยครับ มันคือกล่องอัพเกรดทีวีตามที่ซัมซุงเคยประกาศไว้ในปี 2012 ซึ่งตอนนั้นมีแต่ "ทีวีที่พร้อมอัพเกรดได้" ยังไม่มี "กล่องอัพเกรด" ตัวเป็นๆ มาให้เห็น
เวลาผ่านมาหนึ่งปีเต็ม ซัมซุงเดินตามแผนนี้โดยออก "กล่องอัพเกรด" หรือชื่อจริงๆ ว่า Smart TV Evolution Kit มาแล้ว ข้างในประกอบด้วยหน่วยประมวลผลแบบควอดคอร์ และเฟิร์มแวร์เวอร์ชันล่าสุด
วิธีการอัพเกรดก็แค่เสียบกล่องนี้ที่หลังเครื่อง ถอดปลั๊กแล้วเสียบใหม่ ทีวีเก่าของเราจะมีพลังประมวลผล+เฟิร์มแวร์รุ่นล่าสุดในทันที
หน้าตากล่องของจริง
กล่อง Smart TV Evolution Kit นี้ซัมซุงทำออกมาแก้ปัญหา "คนเปลี่ยนทีวีไม่บ่อย" โดยเน้นให้ซื้อกล่องเพื่ออัพเกรดทีวีเก่าแทน ส่วนราคาเป็นอย่างไรไม่ได้แจ้งมา
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าสมาร์ททีวีของซัมซุงยังมีข้อบกพร่องอีกมาก (โดยเฉพาะเรื่องการสั่งงานด้วยเสียงและ motion gesture) แต่ดูจากพัฒนาการเทียบกับปีก่อน ก็ควรจับตาเป็นอย่างยิ่ง
ทีวีรุ่นท็อปๆ ของซัมซุงที่มาโชว์ในงาน เปิดตัวที่ CES 2013 ไปก่อนแล้ว ที่สมควรกล่าวถึงได้แก่ ทีวีความละเอียดสูง UHD 4K ขนาด 85" สไตล์ gallery design (ข่าวเก่า)
ตัวกรอบทีวีทำหน้าที่เป็นลำโพงด้วย
ตัวเครื่องบางเลยต้องแยกกล่องรวมพอร์ตมาไว้ต่างหาก
หน้าตาของจริง
ทีวี UHD ตัวนี้คงเน้นโชว์มากกว่าเน้นขาย เพราะยังไม่มีคำตอบเรื่องคอนเทนต์ที่เป็น 4K ว่าจะไปหามาจากไหนบ้าง
ในแง่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทีวีตัวท็อปๆ ของซัมซุงในปีนี้เริ่มใช้หน่วยประมวลผลควอดคอร์เป็นมาตรฐาน รองรับตัวถอดรหัสภาพใหม่ๆ อย่าง HEVC (H.265) และเน้นขายทีวีหน้าจอใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งซัมซุงบอกว่าเป็นความต้องการของฝั่งผู้ซื้อเองด้วย
ยุทธศาสตร์ของซัมซุงอีกด้านที่โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ คืองานด้านคอนเทนต์สำหรับอุปกรณ์พกพาต่างๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการสร้างแพลตฟอร์ม Samsung Apps, ChatOn, Reader Hub, Music Hub บนสมาร์ทโฟนของตัวเอง
ยุทธศาสตร์ด้านคอนเทนต์ของซัมซุงในปีนี้คือพยายามเจาะตลาดเฉพาะ (แต่หลายๆ ตลาด) ให้มากขึ้น เช่น การจับมือกับศิลปินหรือบริษัทหนัง-เพลงในแต่ละประเทศ ทำคอนเทนต์พิเศษมาลงแพลตฟอร์มของซัมซุง
โครงการ Masterpiece เน้นการโชว์งานศิลปะบนแท็บเล็ต
Silverline คอนเทนต์และบริการที่เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ
SportsView แอพที่เจาะตลาดคนติดตามผลกีฬาบนแท็บเล็ต
GameSnacks อันนี้น่าสนใจมาก เน้นการเล่นเกมเป็นระยะเวลาสั้นๆ (60 วินาที) สำหรับคนรอรถ-รอคิวร้านอาหาร
DisCover บริการแนะนำศิลปินใหม่ๆ
อีกตลาดที่ซัมซุงให้ความสำคัญมากขึ้นคือการนำ smart device ไปใช้งานเป็นอุปกรณ์ในสำนักงาน-โรงงานต่างๆ
ซัมซุงเปิดตัวแพลตฟอร์มด้านบริหารจัดการตัวใหม่ชื่อ Knox ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับผลิตภัณฑ์จำพวก mobile device management อื่นๆ แต่มีจุดเด่นที่ฝังมากับผลิตภัณฑ์ของซัมซุงเลย
ฟีเจอร์ใหม่จากรุ่นก่อนๆ คือสลับการทำงานโหมดส่วนตัว-โหมดทำงาน (ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ อย่าง BlackBerry Balance ก็มีมาก่อนแล้ว)
ยุทธศาสตร์อีกอันหนึ่งคือ New Business Experience หรือการดันผลิตภัณฑ์ซัมซุง (โดยเฉพาะแท็บเล็ต) สำหรับงานเฉพาะทางในแต่ละธุรกิจ อันนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนักแต่ดูจากภาพก็น่าจะพอนึกกันออกว่ากลุ่มเป้าหมายคือใครบ้าง
ปิดท้ายข่าวนี้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าจะเข้ามาขายในไทย (ผู้บริหารซัมซุงไทยประเมินเอง) คือ Galaxy Xcover 2 มือถือทนน้ำทนฝุ่นนี่เน้นตลาดธุรกิจเป็นหลักครับ