ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างขยับขึ้นไปอยู่บนกลุ่มเมฆ ท่าทีของบริษัทไอทีหลายๆ แห่งก็ชัดเจนว่าไม่พลาดกระแสนี้ สำหรับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ เราเห็นความพยายามผลักดันแพลตฟอร์มอย่าง SkyDrive/Office 365/Azure มาสักระยะหนึ่งแล้ว ความพยายามนี้เริ่มชัดเจนตอนที่ Windows Server 2012 เปิดตัว เพราะไมโครซอฟท์ประกาศว่าเราเข้าสู่ยุคของ Cloud OS เต็มตัว
ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Zane Adam ผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ที่ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์กลุ่มเมฆโดยตรง (ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ Senior Director, Cloud and Platform Strategy) คุณ Zane บินมาพูดในงานสัมมนาที่เมืองไทยพอดี เลยถือโอกาสสอบถามว่าจริงๆ แล้วไมโครซอฟท์คิดหรือมีแผนการอะไรกับกลุ่มเมฆกันแน่
คุณ Zane บอกว่าแนวคิดของกลุ่มเมฆไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นพัฒนาการของวงการไอทีที่ต้องการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานในการประมวลผล ในอดีตเซิร์ฟเวอร์ส่วนมากมักวางเสปกให้แรงเกินความต้องการเฉลี่ย (over allocate) เพื่อรองรับกรณี peak load ที่นานๆ จะเกิดขึ้นที ผลก็คือเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่กลับถูกใช้งานไม่คุ้มศักยภาพ (underutilized ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ) และการวางสเปกแรงก็ทำให้งบประมาณเกินอีกด้วย
ปัญหาข้างต้นแก้ด้วยเทคโนโลยีด้าน virtualization ที่เข้ามาช่วยเรื่อง utilization และงบประมาณ นอกจากนี้การรันเครื่องเสมือนก็มีผลพลอยได้เรื่องความสะดวกในการบริหารจัดการอีกด้วย
พอมาถึงยุคของกลุ่มเมฆ คนส่วนใหญ่มักคิดถึง Amazon EC2 เป็นหลัก แต่รูปแบบการใช้งานของ EC2 เป็นการนำคอมพิวเตอร์ตามท้องตลาด (commodity hardware) มารันระบบปฏิบัติการทั่วๆ ไปอย่างลินุกซ์ ทุกอย่างอยู่บน virtualization ที่ดูแลโดย Amazon อีกทีหนึ่ง
ปัญหาของกลุ่มเมฆแบบของ Amazon คือไม่ยืดหยุ่นพอ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ขนาดของ virtual machine รวมไปถึงการย้ายงานข้ามศูนย์ข้อมูลหรือข้ามประเทศ ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการออกแบบระบบปฏิบัติการอย่างมาก ซึ่งไมโครซอฟท์พยายามแก้ปัญหานี้ด้วย Azure ที่วางตัวเองเป็น platform as a service (PaaS) มองการประมวลผลทั้งองค์รวมเป็นเสมือนระบบปฏิบัติการหนึ่งตัว แล้วให้แอพพลิเคชันมาทำงานบน Azure อีกที ปัญหาเรื่องการขยายตัวเพื่อรองรับโหลดแบบเดียวกับใน infrastructure as a service (IaaS) จึงหมดไป
แพลตฟอร์ม Azure ของไมโครซอฟท์ไม่ได้สนใจแค่วินโดวส์ แต่ต้องการนำระบบประมวลผลทุกอย่างย้ายขึ้นไปอยู่บนกลุ่มเมฆให้หมด ซึ่งผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์เองอย่าง SQL Server หรือ SharePoint ก็ย้ายไปอยู่บน Azure เช่นกัน
แต่คำว่า "ทุกอย่าง" ของไมโครซอฟท์ไม่ได้จำกัดแค่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เมื่อไม่นานมานี้เราจึงเห็นข่าว Windows Azure รองรับแพลตฟอร์มคู่แข่งทั้ง Linux/Python/Java ด้วย
ผมถามคุณ Zane ว่าไมโครซอฟท์ต้องการอะไรกันแน่ ถึงได้เปิดให้แพลตฟอร์มไอทีคู่แข่งมารันบน Azure ได้ด้วย ซึ่งคำตอบของคุณ Zane ก็คือในแง่ธุรกิจแล้ว ลูกค้าจะใช้แพลตฟอร์มไหนก็ตามบน Azure ไมโครซอฟท์ก็มีรายได้จากค่าเช่าบริการอยู่ดี ซึ่งการเปิดให้แพลตฟอร์มที่หลากหลายสามารถทำงานได้บน Azure ยิ่งทำให้ Azure มีความน่าสนใจในสายตาของลูกค้ามากขึ้น
คุณ Zane บอกว่าวิธีคิดของไมโครซอฟท์คือมอบ "โครงสร้างพื้นฐาน" ที่เสถียรและมีประสิทธิภาพให้ แล้วผู้ใช้มีสิทธิเลือกเองว่าจะรันอะไรบนนั้นอีกที ไมโครซอฟท์ยุคนี้มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของ choice ที่คุณ Zane ย้ำกับผมอยู่บ่อยครั้งตลอดการสัมภาษณ์
แต่ตัวคุณ Zane เองยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการขึ้นกลุ่มเมฆในตอนนี้ (ส่วนอนาคตไม่แน่) ดังนั้นยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ในปัจจุบันจึงเป็นการตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กร (on premise/private cloud) และบริการกลุ่มเมฆบนอินเทอร์เน็ต (private cloud)
สิ่งที่เราเห็นในช่วง 2-3 ปีนี้จึงเป็นการวาง stack ของเทคโนโลยีแบบขนาน (ดูภาพประกอบ) ฝั่งที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กรแบบเดิมๆ ก็อิงบน Windows Server ในขณะที่ฝั่งกลุ่มเมฆอยู่บน Windows Azure โดยไมโครซอฟท์พยายามให้บริการหรือแอพที่อยู่บน stack ทั้งสองนี้เป็นตัวเดียวกันให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ใช้เครื่องมือบริหารจัดการตัวเดียวกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกของลูกค้าในการย้ายแอพหรือข้อมูลของตัวเองข้ามไปมาระหว่าง stack ได้ตามต้องการ
นี่จึงเป็นเหตุว่าช่วงหลังๆ ไมโครซอฟท์มีผลิตภัณฑ์คู่ขนานตลอดเวลา เช่น
วิธีคิดของไมโครซอฟท์จึงเป็นว่า "จะมาแบบไหน เรารับได้หมด" นั่นเอง แอพเดิมๆ ขององค์กรหรือที่เรียกว่า legacy application สามารถรันบนเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ หรือจะเช่า virtual machine แบบ IaaS บน Windows Azure ก็ได้ ส่วนแอพที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่และต้องการให้ยืดหยุ่นพอสำหรับอนาคต ไมโครซอฟท์ก็แนะนำให้เขียนบน Azure แบบ PaaS
คุณ Zane บอกกับผมว่านอกจาก "ความครบครัน" ในแง่แพลตฟอร์มที่ไมโครซอฟท์มีให้แล้ว สิ่งที่ไมโครซอฟท์มั่นใจว่าทำได้ดีคือเสถียรภาพและประสิทธิภาพของกลุ่มเมฆ ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ด้านเซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ข้อมูลมากว่า 20 ปี และประสบการณ์สร้างบริการบนกลุ่มเมฆที่มีคนใช้เยอะๆ อย่าง Xbox Live ทำให้บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้าน high availability มาก ทั้งการทำงานข้ามเซิร์ฟเวอร์ ข้ามคลัสเตอร์ และข้ามศูนย์ข้อมูล
ตัวเลขของไมโครซอฟท์บอกว่ามี CDN ในทุกภูมิภาคสำคัญของโลก เพื่อช่วยลดปัญหา lag และ latency (ใกล้สุดอยู่ที่สิงคโปร์) ผมลองถามไปว่ามีแผนการเปิด CDN ของ Azure ในไทยหรือไม่ คำตอบที่ได้คือขึ้นกับปริมาณลูกค้าในประเทศนั้นๆ เป็นหลัก ถ้าคนไทยใช้ Azure เยอะจริงก็มาแน่นอน
ตัวอย่างลูกค้าไทยที่ใช้ Azure ในปัจจุบันคือบริการอีบุ๊ก OOKBEE และ Semantic Touch ผู้สร้างระบบอีคอมเมิร์ซ BentoWeb (BentoWeb สร้างด้วย LAMP ที่ทำงานบน Azure อีกทีหนึ่ง)
คุณ Zane บอกว่าเขาไม่กลัวคู่แข่งที่เป็นแพลตฟอร์มกลุ่มเมฆแบบ IaaS อย่าง Amazon เลย เพราะต่อให้ลูกค้าไม่ใช้ Azure และหันไปเช่าเครื่องบน EC2 ไมโครซอฟท์ก็ได้เงินจากลูกค้าของ EC2 บางส่วนที่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์อยู่ดี
คุณ Zane ปิดท้ายอย่างน่าสนใจว่าเทคโนโลยีกลุ่มเมฆมักถูกมองว่าช่วยลดค่าใช้จ่าย และขยายความสามารถในการรับโหลดเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมันมีประโยชน์ในเรื่องการขยายบริการท้องถิ่นออกไปสู่โลกกว้างด้วย เพราะบริการอย่าง OOKBEE ถ้าไม่อยู่บน Azure และต้องการขยายตลาดในต่างประเทศ (เช่น ข่าว OOKBEE ไปมาเลเซีย) การทำระบบศูนย์ข้อมูลและโครงสร้างในต่างประเทศนั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่ในยุคของกลุ่มเมฆแบบนี้ก็สามารถให้บริการลูกค้าในต่างประเทศได้ทันที