รีวิว Sony Xperia Z

by toandthen
13 March 2013 - 23:17

หนึ่งปีหลังจากที่ได้เปิดตัว Xperia S ไปแล้ว ปีนี้โซนี่ได้เลือกใช้ตัวอักษรตัวสุดท้ายสำหรับมือถือเรือธงของตัวเอง Xperia Z มือถือที่มาพร้อมกับสเปคแบบจัดเต็ม (สำหรับโซนี่), หน้าจอ 1080p, 4G LTE และความสามารถพิเศษเหนือมือถือเรือธงของคู่แข่งที่โซนี่เลือกมาเป็นจุดขายหลัก: มันกันน้ำได้

หลังจากที่ได้ลองใช้งานมาแล้วเกือบหนึ่งสัปดาห์ ผมขอลองเขียนรีวิวมือถือแห่งอารยธรรมความศรัทธาตัวนี้ดูครับ

ดีไซน์ภายนอก

ดีไซน์ของ Xperia Z เป็นดีไซน์แบบเรียบ ๆ สไตล์ iPhone หรือ Nexus 4 วัสดุทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเครื่องทำจากกระจก ส่วนตัวขอบด้านข้างทำมาจากไฟเบอร์กลาส ตัวเครื่องมีขนาด 139 x 71 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 149 กรัม เท่าที่ลองใช้งานมายังไม่รู้สึกว่ามันหนักหรือลำบากเกินที่จะพกไปมาทุกที่ แต่ขนาดยังเป็นปัญหาเล็กน้อย โดยเฉพาะการดึงออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์

ถือมือเดียวยังสามารถทำได้ และยังไม่รู้สึกหวาดเสียว กลัวว่ามันจะกลายเป็นเศษกระจกบนพื้น

สิ่งที่ทำให้ Xperia Z รู้สึกต่างจากมือถือบางยี่ห้อได้ทันทีที่จับ ก็คือความรู้สึกที่เหมือนกับตอนเราจับ iPhone 5, Nokia 920 หรือ Nexus 4 นั่นคือมันรู้สึกแน่น แข็งแรง ไม่ก็อบแก้บ

Xperia Z ไม่มีปุ่มด้านหน้า ด้านขวาจะมีปุ่มปรับเสียงขึ้น-ลง และปุ่ม Wake/Sleep ตำแหน่งเดียวกับ Galaxy S III ฝาปิดที่อยู่ถัดจากปุ่ม Wake/Sleep เป็นช่องที่มีถาดใส่ microSIM อยู่ด้านใน ส่วนด้านซ้ายจะมีช่องใส่ microSD card และช่องต่อ microUSB ด้านบนทางขวาจะเป็นช่องเสียบหูฟัง ที่อยู่ใต้ฝาปิด

เนื่องจากโซนี่เลือกที่จะเน้นคุณสมบัติ "กันน้ำได้" เป็นจุดขายของ Xperia Z ทำให้ช่องต่อทุกช่องอยู่ใต้ฝาปิด ที่จะมียางอุดอยู่ใต้ฝาไว้อีกที ทุกครั้งที่มีการถอดสายใด ๆ ออกจากพอร์ต จะมีหน้าจอขึ้นมาเตือนว่าอย่าลืมปิดฝาด้วยเสมอ

ข้อเสียของดีไซน์ "กระจก" รอบด้านของ Xperia Z ก็คือรอยนิ้วมือ ว่าง่าย ๆ หยิบออกมาใช้ทีหนึ่ง จะต้องเช็ดทั้งด้านหน้า หลัง ซ้าย ขวา เลยทีเดียว และอีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องความคงทนของฝาปิดกันน้ำช่องต่อต่าง ๆ เช่นช่องต่อ microUSB หรือ 3.5mm headphone jack ที่ดูไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่นัก การเปิดฝาก่อนใช้งานทุกครั้งก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่น่ารำคาญสำหรับหลาย ๆ คน (เช่นผม)

ฮาร์ดแวร์

สเปคคร่าว ๆ ของ Xperia Z:

  • ซีพียู Qualcomm Quad-core Snapdragon S4 Pro (1.5GHz)
  • แรม 2GB
  • รองรับ NFC และ 4G LTE
  • หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 16GB
  • มีช่องใส่ microSD card
  • จอภาพขนาด 5 นิ้วที่ความละเอียด 1920x1080 (440ppi)

จากการใช้งาน พบว่าถ้าใช้งาน Xperia Z เยอะ ๆ ซักพักจะเริ่มรู้สึกว่าด้านหลังของตัวเครื่อง (โดยเฉพาะช่วงบน) จะเริ่มอุ่น ๆ และร้อนขึ้น แต่ก็ไม่ได้ร้อนถึงขั้นที่ว่าการใช้งานตามปรกติเริ่มลำบาก

หน้าจอขนาด 5 นิ้วก็ไม่ได้ใหญ่ถึงขั้นที่ว่ามือข้างเดียวจะไม่สามารถใช้งานต่าง ๆ ได้ ถึงแม้จะค่อนข้างลำบากกว่ามือถือจอเล็กกว่าเช่น Nexus 4 หรือ iPhone 5 แต่ถ้าใครได้ใช้งานซักพัก เชื่อว่าแต่ละคนจะเริ่มมีเทคนิคของตัวเองในการใช้งานมือเดียวได้ ส่วนตัวแล้วผมใช้วิธีปล่อยมือถือให้ร่วงลงมาจากมือเล็กน้อย เพื่อจะได้เอานิ้วโป้งเอื้อมถึงปุ่มที่อยู่ด้านบนของจอ

เปรียบเทียบขนาดกับ iPhone 5:

คะแนน Quadrant Test:

หน้าจอของ Xperia Z เป็นจอ TFT LCD ปรกติ เมื่อลองเพิ่มความสว่างของหน้าจอ จะเห็นได้ชัดเลยว่าสีดำจะเริ่มไม่ดำสนิด ต่างจากมือถือที่เลือกใช้จอ AMOLED อย่างตระกูล Galaxy แต่การแสดงผลสีอื่น ๆ ไม่มีปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม Bravia Engine 2 สามารถ "เพิ่มความสด" ของรูปภาพและวีดีโอได้เฉพาะภายในแอพ Album และ Movies เท่านั้น ส่วนตัวแล้วผมเลือกที่จะปิดคุณสมบัตินี้ทิ้ง เพราะผมไม่ค่อยชอบสีที่สดเกินความจริงมากเกิน แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลมากกว่า

ตำแหน่งของลำโพงภายนอก Xperia Z อาจจะแปลกพอสมควรตรงที่มันอยู่ตรงขอบขวาล่างของตัวเครื่อง ถ้าหากเราใช้มือถือด้วยมือขวา โอกาสที่มือของเราจะไปปิดลำโพงนี้แบบ 100% ทำให้ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยสูงมาก น่าเสียดายที่เสียงของลำโพงนี้ไม่ได้น่าประทับใจอะไรมากมาย

แบตเตอรี่

Xperia Z มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 2330mAh ที่ผู้ใช้ไม่สามารถแกะเปลี่ยนออกได้เอง เท่าที่ลองใช้ดู ส่วนตัวแล้วผมว่าอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ยังไม่ดีพอสำหรับการใช้งานทั่วไป (สไตล์ geek หรือคนติด Ingress) แม้ว่าจะใช้ได้นานกว่า Galaxy S III ก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับการปรับความสว่างของจอภาพเป็นอย่างมาก

โชคดี ที่โซนี่เองได้เพิ่มคุณสมบัติใหม่เข้ามาใน Power Management หรือการจัดการพลังงานของระบบ เช่น Stamina Mode ที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะปิดการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายดาต้าต่าง ๆ ในขณะที่หน้าจอมือถือยังไม่ถูกใช้งาน ผู้ใช้เองยังสามารถเลือกให้แอพบางตัวเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตามความต้องการ (ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดข้อความ Line หรือ WhatsApp)

อีกโหมดหนึ่งที่มีประโยชน์ไม่แพ้กันคือ Low Battery Mode ที่จะเริ่มตัดการเปิดใช้งานที่ "ไม่จำเป็น" ในช่วงที่แบตเตอรี่ใกล้จะหมด เช่นกัน ผู้ใช้สามารถที่จะเลือกได้ว่าคุณสมบัติไหนควรจะถูกปิดไปเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด

ซอฟต์แวร์อื่น ๆ

น่าเสียดาย ที่ Xperia Z ไม่ได้มาพร้อมกับ Android เวอร์ชั่นล่าสุด แต่มาพร้อมกับ Android 4.1.2 แทน ตัว Launcher ของโซนี่ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากมาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ App Tray โซนี่ได้เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกจัดลำดับของแอพเองได้ตามใจชอบได้ ส่วนใครที่ไม่ชอบแบบนี้ก็ยังสามารถเลือกให้จัดเรียงแอพตามตัวอักษรได้เช่นเดิม (ซึ่งบางครั้งสะดวกกว่าการต้องนั่งมาจัดเอง คนใช้ไอโฟนน่าจะรู้ดี)

ในส่วนของ Tweak ที่ติดมากับเครื่อง โซนี่ได้เลือกใช้ปุ่ม soft key อยู่ด้านล่างของจอภาพสามปุ่มแบบเดียวกับ Nexus 4 หรือ Galaxy Nexus และปุ่มนี้ก็จะหายไปเมื่อต้องการดูรูปภาพหรือวีดีโอแบบ Full Screen ในโหมด Landscape

โซนี่เองได้ยัดแอพของตัวเองเข้ามาด้วยบ้าง โดยที่ติดมากับเครื่องรุ่นที่ขายในอังกฤษ (ที่เอามารีวิวนี้) จะมีบริการ Music Unlimited ของโซนี่เอง (ถ้าใส่ซิมการ์ดไทยจะเข้าบริการนี้ไม่ได้ แต่พอเอาซิมการ์ดอังกฤษใส่เข้าไปก็จะใช้ได้เหมือนเดิม)

รอมของโซนี่ มาพร้อมกับแอพรูปภาพ (Album) เพลง (Walkman) และวีดีโอ (Movies) ของตัวเอง โดยแอพเหล่านี้จะต่างจากแอพทั่วไปตรงที่การแสดงผลของภาพ หรือวีดีโอ จะมีการนำ Bravia Engine 2 เข้ามาใช้ ทำให้ภาพสีสดกว่าปรกติ​ (ตามที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว)

ในส่วนของแอพ Album เช่นเดียวกับมือถือ Xperia รุ่นอื่น ๆ ผู้ใช้สามารถที่จะเลือกเปลี่ยนขนาดของรูปย่อได้ด้วยการปัดนิ้วไปทางด้านซ้ายหรือขวา ส่วนที่น่าสนใจอีกส่วนคือการมี Facebook Integration ด้วย โดยแอพนี้สามารถเลือกแสดงภาพใหม่ ๆ ของเพื่อนเราบน Facebook (ในอัลบั้มชื่อ New from Friends) อีกทั้งยังสามารถดึงอัลบั้มภาพของเราเองจาก Facebook มาได้ด้วยเช่นกัน ให้อารมณ์ไม่ต่างจากแอพ Gallery ของ Android ที่มีการดึงภาพจาก Google Plus มามากนัก

New from friends (ได้ขออนุญาตเพื่อนลงภาพแล้วเรียบร้อย):

สำหรับแอพฟังเพลง เช่นเดียวกับแอปเปิลที่เคยเรียกแอพฟังเพลงบน iPhone ว่าแอพ iPod โซนี่เองก็มี "แบรนด์" ของตัวเอง นั่นก็คือ Walkman โดยแอพ Walkman ที่ติดมากับเครื่องนี้มี UI ที่เรียบง่ายและน่าใช้พอสมควร ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะเปิดโหมด ClearAudio+ ที่โซนี่บอกว่าจะทำให้เสียงเพลงนั้นใสขึ้นได้ หรือจะเลือกปรับ Equalizer เองตามใจชอบก็ได้

แอพ Movies ของโซนี่ก็ไม่ได้มีอะไรวิเศษมากมายนอกจาก UI ที่เรียบง่ายน่าใช้ เพราะโซนี่เหมือนจะพยายามให้ความสามารถหลักที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นของแอพนี้อยู่ตรงที่บริการเช่าหรือสตรีมวีดีโอของตัวเองมากกว่า (กรณีนี้ใคร Root เครื่อง เครื่องจะ Format ข้อมูลทุกอย่างทั้งบนเครื่องและบน SD Card เพราะปัญหาเรื่อง DRM)

แต่แอพที่น่าสนใจจริง ๆ อีกแอพก็คือแอพที่ชื่อว่า Smart Connect (คนที่ใช้ Xperia รุ่นอื่น ๆ อาจจะทราบกันแล้ว) นั่นก็คือแอพที่ทำให้มือถือสามารถ Execute คำสั่งต่าง ๆ ตามสถานการณ์ที่เรากำหนด เช่น ถ้าเราเสียบที่ชาร์จไฟหลัง 4 ทุ่ม ให้มือถือปิดเสียงและระบบสั่นทิ้งเพื่อไม่ให้รบกวนการนอน หรือถ้าเราเสียบหูฟังแล้วให้สั่งเปิดแอพ Spotify ให้เราอัตโนมัติเลยก็ได้

สำหรับเบราว์เซอร์ โซนี่ได้เลือกใช้ Chrome เป็นเบราว์เซอร์หลักแต่แรก

คีย์บอร์ด

Xperia Z รุ่นที่ได้มานี้มีคีย์บอร์ดภาษาไทยและภาษาไทยบนระบบปฏิบัติการมาให้พร้อม (ตอนแรกใช้ซิมไทยใส่ เปิดเครื่องครั้งแรกภาษาไทยก็โผล่มาทันที)​ คีย์บอร์ด stock ของโซนี่เองไม่ได้วิเศษอะไร แต่มันมาพร้อมกับคุณสมบัติแบบ Swype มาให้แต่แรก ซึ่งสามารถใช้กับภาษาไทยได้เช่นกัน (แต่ใช้ยากเพราะโซนี่เลือกใช้คีย์บอร์ดภาษาไทยสามแถว)

กล้อง

โซนี่เป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์กล้องให้แก่มือถือเจ้าอื่นมากมาย Xperia Z เลยได้รับเซ็นเซอร์ตัวล่าสุดจากโซนี่มา นั่นก็คือ Exmor R ที่มีความละเอียด 13 เมกะพิกเซล ส่วนกล้องด้านหน้าเป็นกล้อง 2 เมกะพิกเซลธรรมดา

Xperia Z ไม่ได้มีปุ่ม Shutter ติดมาให้ ตอนถ่ายภาพจึงต้องใช้วิธีสัมผัสหน้าจอเอาอย่างเดียว ปุ่มปรับเสียงขึ้นลงถูกใช้งานเป็นปุ่มซูมเข้า-ออกแทน

ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอพกล้องของโซนี่ได้จากหน้า Lock Screen แต่แรกได้ แต่น่าเสียดายที่บางครั้งตอนจะเข้าแอพกล้อง จะต้องเสียเวลาโหลดนานพอสมควร (แถมบางครั้งมีการค้างให้ดูอีก) อย่างไรก็ตามแอพกล้องของโซนี่มาพร้อมกับความสามารถหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่โหมด HDR, โหมด Auto อัจฉริยะ (ที่แยกได้ว่าเราถ่ายภาพตอนดึกหรือ Indoor)

คุณภาพตอนกลางวันกับภาพ Indoor ผมว่าดีใช้ได้ แต่น่าเสียดายที่การถ่ายภาพตอนดึก แม้จะเปิดโหมด HDR ยังไม่สามารถสู้กล้องของ iPhone 5 ได้เมื่อเอามาดูในคอมพิวเตอร์ (เพราะดูบนเครื่องจะโดน Bravia Engine 2 ทำให้ภาพสวยเกินจริง)

ป.ล. อัตราส่วนของภาพที่มากับเครื่องตอนแรกเป็น 9 เมกะพิกเซล บางภาพเลยมีอัตราส่วน 16:9 ครับ

ตัวอย่างภาพกลางวัน:

ตัวอย่างภาพ Indoors:

ตัวอย่างภาพตอนดึก:

ในส่วนของวีดีโอ Xperia Z สามารถถ่ายวีดีโอ 1080p ที่ 30fps ได้

สรุป

รีวิวหลายสำนักของเมืองนอกบอกว่า Xperia Z ถือว่าเป็นมือถือ Android ที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ (ก่อนที่ Galaxy S4 จะเปิดตัว) สำหรับผม จุดแข็งของ Xperia Z อยู่ที่ดีไซน์ภายนอก สเปคที่สูงพอสู้รุ่นท็อปของค่ายอื่น ๆ ได้ และสำหรับผมอีกส่วนที่น่าประทับใจก็คือการที่โซนี่ไม่ customize ตัวระบบปฏิบัติการมากจน "น่ารำคาญ" (ความรู้สึกส่วนตัว) อย่างไรก็ตามอาจจะต้องคอยติดตามดูว่าโซนี่จะใช้เวลานานแค่ไหนในการคอยอัพเดตระบบปฏิบัติการของตัวเองให้ไม่ทิ้งห่างจาก Release ของกูเกิลมากเกินไป

จุดแข็งที่โซนี่ดูเหมือนจะภูมิใจเป็นพิเศษก็คือความทนทานของ Xperia Z สังเกตได้จากโฆษณาหลายตัว ที่เน้นการใช้งานที่ไม่ปรกติ เช่น อาบน้ำไปเล่นมือถือไป แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องแลกมากับความลำบากและน่ารำคาญ ทุกครั้งที่ผู้ใช้จะต้องต่อหูฟัง หรือชาร์จ ที่ต้องเปิดฝา (ที่ไม่ได้เปิดง่าย ๆ เสียด้วย)

จุดอ่อนหลักของ Xperia Z ที่เห็นได้ทันทีก็คงเป็นเรื่องฝา เรื่องกล้องที่ไม่ได้น่าประทับใจอะไรเลย และลำโพงภายนอกที่ไม่รู้จะเอาไปไว้ตำแหน่งนั้นทำไม

Xperia Z ถือว่าเป็นมือถือที่ด้วยตัวของมันเองแล้ว น่าจะสามารถเอาไปสู้กับมือถือชูโรงของค่ายอื่น ๆ โดยตรงได้อย่างแน่นอน หากเปรียบเทียบกับ HTC One และ iPhone 5 แต่เมื่อเทียบกับ Galaxy S4 มันจะดีกว่าแค่ไหน คงต้องรออีกไม่กี่ชั่วโมงที่จะถึงนี้ครับ

Blognone Jobs Premium