หลังจาก Ubuntu 7.04 โค้ดเนมกวางน้อย Feisty Fawn ประกาศออกรุ่นเบต้า ผมเลยเกิดอาการคันไม้คันมือดาวน์โหลดมาเล่น ไหนๆ ทดลองทั้งทีก็รีวิวตั้งแต่รุ่นเบต้าเลย (ดังนั้นพอตัวจริงออกจะไม่รีวิวแล้วนะครับ)
รีวิวนี้จะนำเสนอว่า Feisty Fawn มีอะไรใหม่เท่านั้น ถ้าสนใจวิธีใช้งาน+ปรับแต่ง Ubuntu ต้องรบกวนย้อนไปอ่าน รีวิวขนาดยาว Ubuntu 6.06 LTS
คำเตือน: ซอฟต์แวร์ตัวนี้ยังอยู่ในรุ่นทดสอบ อาจเจอปัญหาในการใช้งานได้ (เจอมาแล้วครับ T_T) ถ้าสนใจลองเล่นเฉยๆ อาจดาวน์โหลดเวอร์ชัน LiveCD (Desktop) หรือลงผ่าน VMWare จะปลอดภัยกว่า
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากหน้า Release และอ่านรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงได้จาก หน้าประกาศของ Ubuntu.com หรือ Ubuntu Wiki (ละเอียดกว่าหน่อย)
รวมลิงก์รีวิวจากเว็บต่างๆ หาได้ที่ DistroWatch.com รีวิวที่ผมอ่านแล้วมาแนะนำต่อคือของ OSNews
เนื่องจากผมตามอ่าน Planet Ubuntu เลยไปเจอเว็บบล็อกของ Melissa Draper ที่สรุปว่า Feisty Fawn มีของใหม่ 4 อย่างหลัก
ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ก็เป็นการอัพเดตเวอร์ชันซอฟต์แวร์ตามปกติ และปรับธีมใหม่บ้างในบางจุด
Nvidia Driver
ปัญหาด้านไดรเวอร์การ์ดจอบนลินุกซ์เป็นเรื่องเรื้อรังมานาน คนที่ใช้การ์ดอินเทล (ซึ่งโอเพนซอร์สเรียบร้อย) ก็สบายไป เครื่องผมเป็น GeForce 6150 ที่ออนบอร์ดมากับชิปเซ็ต NForce ก็ต้องออกแรงนิดหน่อย ใน Feisty ง่ายกว่าเดิมเยอะ เพราะไดรเวอร์ของ Nvidia เข้าไปอยู่ใน restricted แล้ว
ขั้นตอนก็แค่เปิดใช้ restricted repository จากนั้นลงแพ็กเกจ "linux-restricted-modules-*" ให้ตรงกับชนิดของเคอร์เนลที่ใช้ แล้วลงแพ็กเกจ "nvidia-glx" สั่งคอนฟิกหนึ่งทีก็เสร็จแล้ว (ขั้นตอนแบบละเอียดดูใน Ubuntu Wiki)
หลังจากรีสตาร์ท X-server ใหม่หนึ่งที (โดยการล็อกออฟ) เราจะเห็นหน้าต่างป๊อบอัพขึ้นมาว่ากำลังใช้ Restricted Driver อยู่ ให้เลือก Enable
สำหรับคนใช้ ATI คงต้องพึ่งกำลังภายในกันเองนะ
Desktop Effects
หลังจาก Compiz/Beryl ออกสู่สาธารณะก็มีคนสนใจอยากได้เดสก์ท็อปดึ๋งดั๋งเป็นจำนวนมาก แต่ขั้นตอนในการติดตั้ง Compiz/Beryl ค่อนข้างจะซับซ้อน เพราะมีเรื่องของไดรเวอร์/การลงโปรแกรมนอก repository เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้มีคนผิดหวังกลับไปเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
Feisty Fawn จึงแก้ปัญหาโดยสร้างโปรแกรมช่วยติดตั้ง เข้าถึงได้จาก Systems > Preferences > Desktop Effects
Desktop Effects ในที่นี้คือเวอร์ชันดัดแปลงของ Compiz ซึ่งมีเอฟเฟคต์แค่สองอย่างคือ Wobble (หน้าต่างดึ๋งๆ) กับ Cube ผมได้ข่าวมาว่าเค้าจะทำ Beryl ตามทีหลังเนื่องจาก Beryl ซับซ้อนกว่า แต่ข่าวล่ากว่านั้นคือ Beryl กับ Compiz มีแนวโน้มจะรวมตัวกัน (ข่าว)
รายละเอียดการเปิดใช้ Desktop Effects จะต่างกันตามการ์ดจอที่ใช้ สำหรับ Nvidia ถ้าลงไดรเวอร์ตามวิธีข้างบนเรียบร้อย ก็กดปุ่ม Enable Desktop Effects ได้ทันที เบื่อเมื่อไรก็มากด Disable ที่หน้าจอนี้อีกครั้ง
ตัวช่วยดาวน์โหลด Codec
ปัญหาเรื้อรังอีกเรื่องในโลกของลินุกซ์คือ codec ของไฟล์มัลติมีเดียนานาชนิดไม่สามารถรวมเข้ามาในตัวดิสโทรได้ เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย แต่เดิมเราต้องนั่งดาวน์โหลด codec กันเอง ซึ่งวิธีการก็ยุ่งยากพอสมควรสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่
Feisty Fawn แก้ปัญหาคล้ายกับเรื่องไดรเวอร์ คือสร้างโปรแกรมช่วยดาวน์โหลด codec แบบกึ่งอัตโนมัติ
ผมทดสอบโปรแกรมนี้โดยยังไม่ลงแพกเกจใดๆ เกี่ยวกับมัลติมีเดียเพิ่มเติม จากนั้นทดลองเปิดไฟล์ .avi ซึ่งข้างในเป็น XviD ด้วยโปรแกรม Totem เมื่อโปรแกรมเปิดตัวเองขึ้นมาก็จะพบหน้าต่างบอกว่ากำลังหา "appropriate application" และสุดท้ายหน้าจอ Add/Remove Applications ก็โผล่ขึ้นมาให้ติดตั้งปลั๊กอินของ GStreamer เพิ่มเติม ติ๊กแล้วกด Apply รอดาวน์โหลดจนเสร็จ Totem ก็เล่นไฟล์หนังต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดแล้วเปิดโปรแกรมใหม่ น่าประทับใจมาก
เผอิญใช้การติดตั้งแบบ Alternate (text mode) เลยไม่ได้ลอง Migration Assistant ที่มีในตัวติดตั้งของเวอรชัน Desktop
GNOME 2.18
Ubuntu มีกำหนดออกเวอร์ชันใหม่ที่ผูกกับ GNOME ซึ่งออกทุก 6 เดือนเหมือนกัน สำหรับ Feisty Fawn ใช้ GNOME 2.18 (ข่าวเก่า) ซึ่งก็มีของใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง อ่านรายได้ละเอียดได้จาก Release Notes ของ GNOME ซึ่งมีภาษาไทย (แปลโดยคุณเทพพิทักษ์)
ใน Release Notes บอกว่าโปรแกรมดิกชันนารีเพิ่มภาษาไทยเข้ามา ซึ่งเป็นที่น่าตื่นเต้นมาก ผมทดสอบโดยการเพิ่มแอพเพล็ต Dictionary Lookup เข้าไปในพาเนล คลิกขวาที่แอพเพล็ตเพื่อดู Preferences ก็เห็นแบบนี้
โปรแกรมดิกชันนารีของ GNOME ใช้ฐานข้อมูลคำแบบเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ (ถ้าพูดให้ละเอียดคือเป็นโปรโตคอล DICT) ซึ่ง Longdo ก็มีเซิร์ฟเวอร์ DICT ให้ใช้
โปรแกรมอีกตัวที่เพิ่มเข้ามาใน GNOME 2.18 คือ Disk Usage Analyzer ซึ่งเหมาะมากสำหรับคนที่สงสัยว่าฮาร์ดดิสก์มันหายไปไหน โปรแกรมนี้จะวิเคราะห์การใช้งานดิสก์ตามแต่ละไดเรคทอรีออกมาเป็นภาพ pie chart ให้ดูง่ายๆ
OpenOffice.org 2.2
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างคือ OpenOffice.org อัพขึ้นมาเป็นเวอร์ชัน 2.2rc3 (ล่าสุดออกถึง 2.2rc4) ดูใน Release Notes คร่าวๆ เป็นการแก้บั๊กเก่าซะมาก ฟีเจอร์ใหม่ที่พบคือคุณ sugree บอกว่า Impress สนับสนุนการพรีเซนต์ออกหลายหน้าจอแล้ว
สรุป
สรุปว่าผมประทับใจกับ Feisty Fawn มาก ในแง่ฟีเจอร์ไม่มีอะไรใหม่มากนัก แต่การปรับปรุงที่เน้นให้เข้าถึงฟีเจอร์เดิมได้ง่ายขึ้น (เยอะ) เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก ถ้าสนใจใช้งานแนะนำให้รอตัวจริงออกวันที่ 19 เมษายนนี้ (กำหนดการ) เวอร์ชันนี้ต้องตามดาวน์โหลดกันเองเพราะไม่มี ShipIt ส่งถึงบ้านอีกแล้ว (ต่อไปนี้เค้าจะมีแต่เวอร์ชันที่เป็น LTS)
รีวิวอันนี้ผมใช้วิธีลงใหม่แบบ clean install เพื่อทดสอบฟีเจอร์ สำหรับผู้ที่จะอัพเกรดจาก Edgy อ่านคำแนะนำได้จาก Ubuntu Wiki