Multitasking คือการทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆภายในเวลาเดียวกัน เช่น เขียนโปรแกรมไปเช็คอีเมล์ไป ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป ใช้ sms ในระหว่างที่เดินข้ามถนนและฟัง iPod ไปด้วย เป็นต้น
คนจำนวนมากคิดว่า การที่เราทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นคุณสมบัติที่ดี และเป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เรายิ่งทำอะไรได้มากขึ้นในคราวเดียว ก็ยิ่งเป็นพัฒนาการในการทำงานที่ดีเข้าไปใหญ่ มือถือ อีเมล์ แมสเสจ และอื่นๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นต้องชีวิตตลอดเวลา
มีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้น ที่ค้นคว้าโดยนักประสาทวิทยา นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ ทั้งที่พิมพ์เผยแพร่แล้วและยังไม่ตีพิมพ์ บ่งชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของ Multitasking ในขณะที่ทำงานในออฟฟิศ เรียน หรือแม้แค่ขับรถ
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มีคำแนะนำว่า ถ้าเป็นแค่เปิดเพลงไม่มีเสียงร้องเบาๆระหว่างเรียน ก็อาจเป็นการเพิ่มพลังการจดจ่อในการเรียนได้ หรือเช็คอีเมล์ชั่วโมงละครั้งเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเป็นเพลงที่มีเนื้อร้อง im รายการโทรทัศน์ จะให้ผลตรงกันข้าม หรือแม้แต่การขับรถโดยคุยโทรศัพท์มือถือโดยที่ใช้ hands-free headset ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเช่นกัน
David E. Meyer นักวิทยาศาสตร์ด้าน cognitive และหัวหน้าศูนย์วิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสมอง การระลึกรู้ และการกระทำ ในมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า Multitasking จะทำให้เราทำอะไรได้ช้าลง และมีโอกาสทำผิดพลาดสูงขึ้น ในการประมวลข้อมูลของสมองนั้น การที่ถูกรบกวนหรือถูกขัดจังหวะ จะทำให้ส่งผลเสียต่อกระบวนการนี้โดยตรง
Rene' Marois นักประสาทวิทยา และหัวหน้าศูนย์วิจัย ที่ศึกษาเรื่องการประมวลข้อมูลของมนุษย์ในมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าวเสริมว่า ถึงแม้ว่าสมองคนเราจะมีเซลล์ประสาทเป็นล้านเซลล์ และมีการเชื่อมโยงกันหลายร้อยล้านล้านเส้น ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถจดจ่อได้สองสิ่งในคราวเดียว จากการทดลองครั้งหนึ่งพบว่า การดีเลย์เกิดขึ้นจริง เมื่อผู้ถูกทดสอบต้องทำสองสิ่งภายในคราวเดียวกัน
ในชีวิตประจำวันหลายๆเรื่อง การดีเลย์เพียงไม่กี่วินาทีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อพูดถึงการขับรถ การดีเลย์แม้แต่หนึ่งวินาทีในขณะที่ขับรถด้วยความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง พร้อมกับคุยโทรศัพท์ไปด้วย อาจจะหมายถึงความเป็นความตายได้
ในการวิจัยเร็วๆนี้ของสถาบัน for the Future of the Mind มหาวิทยาลัย Oxford ได้ทำการทดลองโดยการแบ่งกลุ่มคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอายุ 18-21 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งอายุ 35-39 ปี โดยให้ทั้งสองกลุ่มแปลงภาพเป็นตัวเลขแบบง่ายๆภายใน 90 วินาที
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่อายุน้อยกว่าทำได้ดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไม่มีอะไรรบกวน แต่เมื่อทั้งสองกลุ่มถูกรบกวนด้วยเสียงโทรศัพท์ sms หรือ im ก็พบว่า ความแม่นยำและความเร็วของทั้งสองกลุ่มไม่ได้ต่างกันเลย
Martin Westwell รักษาการสถาบันได้ให้ความเห็นว่า คนที่สูงอายุกว่าจะคิดได้ช้ากว่า แต่เป็นเพราะว่ามีความฉลาดมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จึงสามารถกันตัวเองออกจากการรบกวนและสามารถเลือกได้ว่าจะให้ความสนใจกับอะไร แต่ถึงกระนั้น เมื่อผลการวิจัยออกมาดังนี้ คุณ Westwell ซึ่งขณะนี้มีอายุ 36 ก็ได้เลือกที่จะเช็คอีเมล์ถี่น้อยลง ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่โดนรบกวนนั้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจริงๆ
ในการศึกษาอีกอันหนึ่ง พบว่า พนักงาน Microsoft กลุ่มหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีกว่าจะกลับมาสู่งานจริงจังอย่างเช่นการเขียนรายงาน หรือการเขียนโปรแกรมได้เต็มที่ หลังจากที่ตอบอีเมล์หรือตอบ im ซึ่ง 15 นาทีที่หายไป ใช้ไปกับการเตร็ดเตร่ดูอีเมล์หรือข้อความอื่นๆ หรือกระทั่งอ่านข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง จนกว่าสมาธิจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยของ Microsoft, Eric Horvitz และ Shamsi Iqbal จากมหาวิทยาลัย Illinois ผู้เป็นผู้เขียนร่วมกันในการศึกษาครั้งนี้ ก็ประหลาดใจที่ได้พบว่า คนเราถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายมากและใช้เวลามากในการกลับมาที่งานของตน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เทคโนโลยีทำเกิดเหตุการณ์ information overwhelming เทคโนโลยีก็ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรากลั่นกรองข้อมูลมากมายเหล่านั้นให้เหลือเท่าที่เราสนใจเช่นกัน สิ่งสำคัญก็คือเราต้องใช้ให้พอเหมาะพอเพียง ให้ถูกที่และเวลา มิฉะนั้นแล้ว เราก็คงจะเห็นตัวอย่างมากมาย อย่างเช่นในแมนฮัตตัน ที่พิจารณาจะออกกฏห้ามใช้ iPod เวลาเดินถนน เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายราย เนื่องจากข้ามถนนแล้วไม่สนใจเสียงรอบข้าง ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้เกิดกฏแปลกๆออกมาบังคับรอบๆตัวเราเช่นกัน
ที่มา - NY Times