วินโดวส์แท็บเล็ต: เมื่อไมโครซอฟท์ต้องชิงตลาดแท็บเล็ต

by lew
10 April 2013 - 20:32

ครึ่งปีที่ผ่านมาหลังไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows 8 สินค้ากลุ่มใหม่ที่ไมโครซอฟท์หวังว่าจะชิงพื้นที่ตลาดกลับมาจากแท็บเล็ต โดยเฉพาะ iPad ได้คือบรรดาแท็บเล็ตที่ใช้ Windows 8 สินค้าในหมวดนี้นอกจากที่ผู้ผลิตพีซีเดิมนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเราบางรุ่น ก็ไม่มีการบุกตลาดจริงจังนัก (แถมยังเจอปัญหาการตอบรับไม่ดีในประเทศที่เข้าไปทำตลาด) แต่ในตอนนี้ฐานผู้ใช้ของไมโครซอฟท์ก็ยังมีปริมาณเยอะมาก และเราทุกคนคงต้องอยู่กับวินโดวส์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไปอีกนานกว่าจะมีผู้ท้าชิงมาเป็นตัวแทนให้การทำงานทั่วไปสามารถแทนวินโดวส์ได้จริง

ช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสลองใช้งาน Surface RT อยู่หลายวัน (ซื้อเป็นการส่วนตัว) พอดีกับทางอินเทลสอบถามมาว่าต้องการทดสอบ Samsung ATIV PC หรือไม่ ก็ถือโอกาสลองใช้งานทั้งสองเครื่องพร้อมกันในฐานะแท็บเล็ตวินโดวส์จากฝั่ง ARM และ x86

Surface RT

Surface RT และแท็บเล็ตอื่นๆ ที่ใช้ Windows RT นั้นมีจุดขายสำคัญคือไมโครซอฟท์แถม Office RT มาให้ทุกเครื่อง เมื่อราคาเครื่องคิดรวมกับราคาของชุดออฟฟิศแล้วจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับการใช้ออฟฟิศบนแท็บเล็ตที่น้ำหนักเบา และราคาถูก (ในสหรัฐฯ บางรุ่นตอนนี้ลดราคาเหลือต่ำกว่า 400 ดอลลาร์แล้ว)

แต่จุดตายสำคัญ คือ Surface RT ไม่สามารถลงแอพพลิเคชั่นวินโดวส์แบบเดิมๆ ได้ ทำให้มันกลายเป็นระบบปฎิบัติการใหม่ไปอย่างสมบูรณ์ จากข่าวเริ่มต้นที่ Windows จะรันบน ARM ได้เรากลับได้ระบบปฏิบัติการใหม่ ที่รันแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่บน Windows Store ที่แม้ตอนนี้จะมีแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก การลงแอพพลิเคชั่นเองไม่ได้หมายถึงแอพพลิเคชั่นเช่นเกมที่เป็นจุดแข็งของวินโดวส์มาตลอดก็ไม่สามารถตามมาบน Windows RT ด้วยเช่นกัน

ตัว Surface RT นั้นมีจุดเด่นกว่าแท็บเล็ต Windows RT แบบอื่นๆ คือมันสามารถ "ตั้ง" ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องการ dock หรือฐานใดๆ แนวทางออกแบบนี้ทำให้ คีย์บอร์ดของ Surface RT ไม่ต้องมีโครงสร้างรับน้ำหนักหรือมีแบตเตอรี่ให้ถ่วงน้ำหนักแต่อย่างใด การพก Surface RT พร้อมกับคีย์บอร็ด (Type Cover ประมาณ 240 กรัม ตัวแท็บเล็ต 680 กรัม) ก็ยังเบากว่าหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่แท็บเล็ตอื่นๆ เมื่อต้องการใช้งานแบบ "วินโดวส์" แล้วเมื่อต่อฐานตั้งเข้าไป น้ำหนักก็จะเกิน 1.3 กิโลกรัมได้โดยง่าย

ATIV smart PC

แท็บเล็ตในสาย ATIV smart PC นั้นเป็นแท็บเล็ตในกลุ่มที่พยายามรักษาความได้เปรียบเรื่องน้ำหนักของชิป ARM เอาไว้ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความได้เปรียบของการรันแอพพลิเคชั่นบนวินโดวส์เดิมๆ เอาไว้

น้ำหนักเครื่องเปล่าของ ATIV smart PC คือ 744 กรัม นับว่าหนักกว่าแท็บเล็ตในตระกูล ARM ไม่มากนัก แต่การออกแบบฐานคีย์บอร์ดให้มีแบตเตอรี่ในตัว ทำให้น้ำหนักรวมเมื่อพกพร้อมกับคีย์บอร์ดหนักขึ้นไปถึง 1.45 กิโลกรัม แทบไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กน้ำหนักเบาสักเครื่อง

จุดเด่นของ ATIV เหนือกว่าแท็บเล็ตในกลุ่มเดียวกัน เช่น Acer W510 คือมันมาพร้อมกับปากกา และแอพพลิเคชั่น S Note เหมือนในอุปกรณ์ตระกูล Galaxy Note อย่างไรก็ดีผมพบว่าการตอบสนองของปากกายังค่อนข้างช้ากว่าใน Galaxy Note พอสมควร และตัว S Note เองก็มีฟีเจอร์จำกัดกว่า ถ้าใช้มาร์คจุด หรือโน้ตคร่าวๆ ก็คงพอใช้ได้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับการวาดรูปเท่ากับ Galaxy Note ที่น่าจะพกพาง่ายกว่าด้วย

เส้นทางที่ต้องเดินหน้าของวินโดวส์แท็บเล็ต

นอกจากสองเครื่องที่ผมลองเล่นตัวแทนของสองสายแท็บเล็ตแล้ว ยังมีอีกสายหนึ่งคือแท็บเล็ตที่ใช้ซีพียูตระกูล Core i ตัวเต็ม ทำให้ใช้งานหนักๆ ได้อย่างเต็มที่ เครื่องในสายนั้นมักมีราคาสูงขึ้นไปอีกมาก (Surface Pro เริ่มต้นประมาณ 900 ดอลลาร์ หรือ 27000 บาท ไม่รวมคีย์บอร์ด) แม้จะราคาสูง แต่หากใช้งานแทนโน้ตบุ๊กตัวเดิมได้ 100% ก็นับว่าพีซีที่เรากำลังใช้ๆ กันอยู่ จะมีน้ำหนักเหลือประมาณ 1 กิโลกรัมเป็นเรื่องปกติ จากเดิมที่เครื่องน้ำหนักขนาดนี้จะมีราคาสูงนับแสนบาท แนวทางการมุ่งสู่แท็บเล็ตคงทำให้คนใช้พีซีทั่วๆ ไปได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

ในฝั่งของซอฟต์แวร์ที่ตัว Windows 8 ยังมีปัญหาการใช้งานบางอย่าง มีสัญญาณที่ดีว่าใน Windows Blue จะได้รับการแก้ไปเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับสินค้าแท็บเล็ตทั้งสามสายเราคงต้องหวังให้ไมโครซอฟท์ปรับกลยุทธใหม่เพื่อชิงส่วนแบ่งกลับมา

ผมเชื่อว่าไมโครซอฟท์ควรจะ

  • ทิ้ง Windows RT ไปเสีย: Windows ที่รันแอพพลิเคชั่นเดิมๆ ไม่ได้นั้นไม่น่าเป็น Windows ประวัติการซัพพอร์ตแอพพลิเคชั่นเดิมของไมโครซอฟท์ดีมายาวนาน การออก Windows RT สร้างความสับสน และสิ่งที่ได้มาทั้งน้ำหนักและอายุแบตเตอรี่จากชิป ARM ไม่ได้ดีกว่า Atom ทุกวันนี้มากนัก
  • แถม Office: ไมโครซอฟท์เคยทำมาแล้วกับ Surface China ถ้าไมโครซอฟท์ต้องการให้คนใช้งานแท็บเล็ตวินโดวส์มากขึ้นควรสร้างจุดขายด้วยการแถมชุดซอฟต์แวร์ไปกับทุกเครื่อง หรืออย่างน้อยก็แถมกับกลุ่มเครื่องพลังประมวลผลต่ำ เช่น เครื่อง Atom ทั้งหลาย แม้จะเป็นเครื่อง x86 ที่สามารถลงซอฟต์แวร์เดสก์ทอปได้เองก็ตาม
  • สนับสนุนการพัฒนาเครื่องน้ำหนักเบา: แพลตฟอร์มที่ผู้ผลิตต่างผลิตเครื่องออกมา สร้างเครื่องที่เมื่อรวมกับคีย์บอร์ดซึ่งเป็นการใช้งานที่เป็นธรรมชาติกับวินโดวส์และออฟฟิศมากกว่า กลับทำให้น้ำหนักมากจนไม่สร้างจุดขายต่างไปจากโน้ตบุ๊กเดิมๆ แท็บเล็ตควรมีปัจจัยน้ำหนักและการพกพามาเป็นอันดับแรก Surface RT นับว่าสร้างจุดเด่นเรื่องน้ำหนักได้ดี แต่ผู้ผลิตรายอื่นๆ กลับยังคงแนวคิดการ "แปลงแท็บเล็ตให้เป็นโน้ตบุ๊ก" กันอยู่ ถ้าจำเป็นไมโครซอฟท์อาจจะต้องร่วมกับอินเทลทำเครื่องต้นแบบเป็นมาตรฐานของแพลตฟอร์มใหม่ให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไป
Blognone Jobs Premium