ช่วงนี้เราเห็นข่าว Twitter เริ่มบุกธุรกิจด้านข้อมูลการรับชมทีวีในสหรัฐอย่างจริงจัง (ข่าวเก่า: Nielsen ร่วมกับ Twitter พัฒนาระบบวัดเรทติ้งรายการโทรทัศน์จากโลกออนไลน์, Twitter ซื้อบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลสำหรับรายการทีวี Bluefin Labs) ซึ่งในต่างประเทศเอง กระแสการนำข้อมูลจากโซเชียลมาใช้วิเคราะห์ร่วมกับสื่อแบบเก่า (โดยเฉพาะทีวี) ก็เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทยเองเราก็เห็นปรากฏการณ์ในโลกโซเชียล (ทั้ง Twitter/Facebook) ที่พูดคุย วิจารณ์ วิเคราะห์เนื้อหาในรายการทีวีที่ฉายอยู่ในขณะนั้น ที่เด่นๆ ก็อย่างเช่น รายการ The Voice, ละครหลังข่าว หรือการถ่ายทอดกีฬาฟุตบอล ซึ่งน่าจะสะท้อนทิศทางของเทคโนโลยีด้านนี้แบบเดียวกับตลาดโลก
ที่น่าสนใจคือบ้านเรามีคนเริ่มทำแอพด้านโซเชียลทีวีแล้วในชื่อ Chatterbox ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ ผมเลยได้โอกาสไปนั่งคุยกับทีมงานว่า "มองเห็นอะไร" จึงมาทำแอพลักษณะนี้ครับ
ก่อนเข้าส่วนบทสัมภาษณ์ต้องแนะนำตัวแอพก่อน Chatterbox เป็นแอพบน iOS และ Android (App Store, Play Store) เพื่อเอาไว้ "คุย" เกี่ยวกับรายการทีวีเป็นหลัก แต่ก็มีแผนขยายไปถึงรายการวิทยุและภาพยนตร์ที่กำลังเข้าฉายด้วย
เมื่อเปิดแอพ Chatterbox และล็อกอินเรียบร้อย (ใช้ Facebook Account ในการล็อกอิน) เราจะพบอินเทอร์เฟซแนะนำรายการทีวีที่กำลังฮ็อต หรือไม่ก็เลือกรายการทีวีจากตารางการฉายที่อยู่ในตัวแอพโดยตรง จากนั้นเราจะ "เช็คอิน" (แบบเดียวกับ Foursquare) เพื่อพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับรายการนั้นๆ ได้
Chatterbox ยังดึงข้อมูลใน Twitter ที่พูดถึงรายการนั้นๆ มาแสดงในแอพ ส่วนข้อความที่เราพูดถึงรายการภายในแอพก็สามารถโพสต์กลับไปยังเครือข่ายสังคมได้ด้วย นอกเหนือจากนั้นก็มีระบบเก็บแต้มและเก็บ badge ลักษณะเดียวกับแอพตระกูลโซเชียลตัวอื่นๆ
แอพ Chatterbox มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็น "แอพดูทีวีออนไลน์" แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเอาไว้พูดคุยถึงรายการทีวีนั่นเอง
ผมได้คุยกับคุณ Tareef Jafferi ผู้ก่อตั้ง Chatterbox ถึงแรงจูงใจของการสร้างแอพตัวนี้ครับ
คุณ Tareef เป็นทายาทของตระกูลสยามวาลา เจ้าของเครื่องเขียนตราช้าง (มีศักดิ์เป็นหลานของคุณสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ครั้งล่าสุด) เรียนจบด้าน Material Engineering มาจากสหรัฐอเมริกา แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้วก็สนใจด้านเทคโนโลยี และมาหัดเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง ก่อนจะมาสร้างแอพมือถือในที่สุด
ปัจจุบันคุณ Tareef อายุ 26 ปี ทำงาน Chatterbox เต็มตัว โดยมีพี่น้องฝาแฝดคือคุณ Taarif ที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ MIT ช่วยสนับสนุน
Chatterbox เคยส่งประกวดงาน AIS Startup Weekend เมื่อปี 2011 และได้รางวัลชนะเลิศ จากนั้นคุณ Tareef และทีมงานจึงพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจเต็มตัว ปัจจุบัน Chatterbox มีสถานะเป็นหน่วยธุรกิจ (business unit) หนึ่งของเครือสยามวาลา ถ้าธุรกิจไปได้ดีก็จะแยกตัวเป็นบริษัทอิสระในอนาคต
แรงจูงใจในการสร้าง Chatterbox คือเห็นโอกาสในการสร้าง "โซลูชัน" สำหรับธุรกิจสื่อทีวีในบ้านเรา ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทีวีในประเทศอื่นๆ แต่ก็มีขนาดใหญ่มาก เพราะเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีเงินหมุนเวียนระดับหมื่นล้านบาท ถือเป็นโอกาสที่ดีเพราะมีกำแพงจากคู่แข่งต่างชาติสูง แต่ก็มีมูลค่าภายในสูงด้วย
นอกจากนี้ คุณ Tareef มองเห็นว่าวงการโทรคมนาคมในเอเชียกำลังเริ่มผันตัวเองไปสู่ธุรกิจสื่อ เพราะยอดผู้ใช้โทรคมนาคมในแต่ละประเทศเริ่มตันแล้ว การขยับขยายจากโทรคมนาคมไปยังสื่อทีวีจึงเป็นส่วนต่อขยายที่สมเหตุสมผล ในต่างประเทศนั้นโซเชียลทีวีกำลังโต เลยคิดจะทำโซลูชันคล้ายๆ กันในประเทศไทย
เป้าหมายของ Chatterbox เล็งไว้ทั้งตลาดผู้ใช้ทั่วไป และตลาดมีเดียเอเยนซี่ที่อยากได้ระบบวัดเรตติ้งความนิยมทีวีแบบใหม่ๆ นอกจากระบบของบริษัทนีลเส็นที่มีมาแต่เดิม ดังนั้น Chatterbox จะเตรียมเครื่องมือวิเคราะห์ความนิยมที่ให้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้บริษัทสื่อสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนเนื้อหาหรือรูปแบบรายการได้
ปัจจุบัน Chatterbox มีความร่วมมือกับรายการของ GMM Grammy และเครือ JSL โดยรายการ Proud Night ของ JSL ที่ฉายทางช่อง 9 ก็เริ่มมีกล่องความเห็นของ Chatterbox แสดงบนหน้าจอรายการแล้ว
ในอนาคต Chatterbox จะเพิ่มฟีเจอร์การตอบโต้กับผู้ชมแบบเรียลไทม์ เช่น ตั้งคำถามในรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลว่าลูกโทษลูกนี้จะยิงเข้าหรือไม่ เพื่อกระตุ้น interaction ระหว่างผู้ชมทีวีผ่าน "หน้าจอที่สอง" (second screen) ซึ่งฟีเจอร์แบบนี้จะสามารถขยายเป็น sponsor campaign ระหว่างแบรนด์ที่ลงโฆษณาในรายการนั้นๆ กับผู้ชมทางบ้านได้ แทนการสื่อสารทางเดียวหรือการตอบโต้แค่ผ่าน SMS ในปัจจุบัน
ตอนนี้ Chatterbox มีผู้ใช้ประมาณ 10,000 คนแล้ว และจะพยายามขยายผู้ใช้ให้ถึงระดับ 100,000 คนภายในช่วงแรกๆ ส่วนทีมงานทั้งหมดมีประมาณ 10 คน มีทั้งทีมพัฒนาโปรแกรม, ทีมคอนเทนต์, ทีมการตลาด
โดยรวมแล้วผมคิดว่าทีม Chatterbox ถือเป็นกลุ่มนักพัฒนาแอพที่น่าจับตาอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะตัวผลิตภัณฑ์มีโอกาสทางธุรกิจสูง (ถ้าทำสำเร็จจริงตามแผนจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทีวีในไทยไปอีกเยอะ) ตัวผู้ก่อตั้งมีความสามารถด้านการวิเคราะห์แนวโน้มทางเทคโนโลยี-ธุรกิจได้ดี อีกทั้งยังมีธุรกิจของครอบครัวให้การสนับสนุนด้วย
ส่วนตัวแอพ Chatterbox ในเบื้องต้นมีความสามารถในระดับหนึ่ง แต่ยังมีจุดอ่อนอีกพอสมควรและพัฒนาต่อได้อีกมาก ใครที่ทดลองใช้แล้วสามารถแสดงความเห็นไว้ได้ผ่านทั้งคอมเมนต์ใน Blognone (หรือจะเขียนใน Store ตรงๆ ก็ได้) แล้วผมจะแจ้งให้ทีมงานเข้ามาอ่านเพื่อนำไปปรับปรุงครับ