รีวิว BlackBerry Z10

by lew
29 April 2013 - 20:36

ระบบปฏิบัติการของ BlackBerry ที่ผ่านมาแม้จะสามารถดึงนักพัฒนามาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองได้มานานแต่ในยุคที่สมาร์ตโฟนเปลี่ยนไปหลักจากช่วงไอโฟนและแอนดรอยด์ BlackBerry ก็เป็นอีกบริษัทที่นับว่าปรับตัวได้ช้า BlackBerry OS 10 ที่เข้ามากู้สถานการณ์ใช้เวลานับปีหลังจากเลื่อนการเปิดตัวมาหลายครั้ง แต่วันนี้ BlackBerry Z10 สมาร์ตโฟนเรือธงตัวแรกบนแพลตฟอร์มใหม่ก็กลับมาทวงคืนพื้นที่ของ BlackBerry คงถึงเวลาที่เราต้องมาดูกันว่า BlackBerry จะทำได้หรือไม่

รูปร่างภายนอก

สัญญาณแห่งโทรศัพท์มือถือสมัยใหม่อย่างหนึ่ง คือ ปุ่มที่หายไปจนเหลือเครื่องเรียบๆ ภายนอกนั้น Z10 ทำเครื่องด้านหน้าเรียบในรูปแบบเดียวกัน ที่ไปไกลกว่าคือมันไม่มีปุ่มใดๆ เลยแม้แต่น้อยเพราะโดยระบบปฏิบัติการออกแบบมาให้ใช้การรูดจากขอบจอแทนปุ่มทั้งหมด (พูดถึงในส่วนต่อไป) ปุ่มจริงของ Z10 มีสี่ปุ่มหลักได้แก่ ปุ่มเปิดปิด, ปุ่มปรับเสียงขึ้นลง, และปุ่มสั่งงานด้วยเสียง (อยู่ตรงกลางระหว่างปุ่มปรับเสียง)

ด้านหลังเครื่องนั้นฝาหลังเปิดออกได้ง่ายมาก ซึ่งสำหรับผมนับว่าเป็นข้อดีสำคัญแบตเตอรี่เปลี่ยนง่าย และตัวฝาหลังเองกลับเลือกใช้ลายขรุขระแทนแผ่นเรียบตามนิยม ผมมองว่าเป็นลักษณะของ BlackBerry ที่ยังไงเสียโทรศัพท์ก็ควรจับไม่ลื่นหลุดจากมือได้ง่ายๆ บางคนอาจจะบ่นว่าเป็นพลาสติก แต่สำหรับผมในแง่การใช้งานนับว่าตรงไปตรงมา และทำให้ใช้งานได้ดีขึ้น

สเปค

Z10 มาพร้อมกับ Qualcomm MSM8960 สองคอร์ สัญญาณนาฬิกา 1.5 GHz นับว่าแรงพอสมควร มีปัญหาบ้างกับ GPU ที่ไม่แรงเท่าไหร่ แต่ผมเองใช้งานเบราว์เซอร์เป็นและแอพพลิเคชั่นสื่อสารทั้งหลายเป็นหลักก็ถือว่าใช้งานได้ ไม่หน่วงจนรำคาญ หน้าจอ 4.2 นิ้วความละเอียด 1280x768 อาจจะไม่ใช่ของน่าตื่นเต้นแล้วในทุกวันนี้ ส่วนแรม 2 GB นับว่ามากไม่แพ้รุ่นเรือธงไหนๆ

การเชื่อมต่อครบถ้วนดี ทั้ง HDMI ที่เป็นพอร์ตแยกซึ่งผมมองว่าดีกว่าแนวทางใช้พอร์ตร่วมกับ USB เช่นในซัมซุงมาก เพราะสายหาง่ายกว่า, ใช้งานบางอย่างเช่นคีย์บอร์ดพร้อมกับต่อจอภายนอกได้

BlackBerry OS 10

เรื่องสำคัญที่สุดของ Z10 คือ มันเป็นโทรศัพท์ตัวแรกที่ใช้ BlackBerry OS 10 ในการใช้งานจริงผมพบว่ากระบวนการใช้งานจะต่างออกไปจากระบบอื่นๆ อย่างมาก ระบบการ swipe จากด้านต่างๆ ของหน้าจอทำให้การเรียนรู้เบื้องต้นจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นแล้วคนจำนวนไม่น้อยอาจจะงงว่าจะออกจากแอพพลิเคชั่นกันอย่างไร

กระบวนการทำงานก็ค่อนข้างต่างออกไป คือ ใน BlackBerry OS 10 จะให้ผู้ใช้ออกจากแอพพลิเคชั่นด้วยการเลื่อนมือจากขอบจอล่าง แล้วจะเป็นการกลับไปทีรายการแอพพลิเคชั่นล่าสุดทันที กระบวนการนี้บังคับให้ผู้ใช้ดูว่ารายการแอพพลิเคที่เพิ่งใช้ไปมีอะไรบ้างโดยไม่สามารถกลับไปยังหน้าจอหลักได้เหมือนแอนดรอยด์และ iOS ผมมองว่ากระบวนการนี้ค่อนข้างสมเหตุสมผล ผู้ใช้สามารถช่วยระบบปฎิบัติการในการ "ปิด" แอพพลิเคชั่นที่เลิกใช้แล้วออกไปได้เรื่อยๆ แม้กระบวนการปิดเหล่านี้จะสามารถทำโดยระบบอัตโนมัติได้ แต่การเปิดให้ผู้ใช้บอกระบบปฎิบัติการเองก็ช่วยเพิ่มความลื่นของระบบโดยรวมได้เพราะแอพพลิเคชั่นจะถูกเอาออกจากแรมไปเร็วกว่ารอระบบจัดการเอง แนวคิดนี้ช่วงหลังแอนดรอยด์ก็ใช้งานในแบบคล้ายกัน แต่ไม่บังคับให้ผู้ใช้กดดูรายการแอพพลิเคชั่นเท่านี้

ถัดจากหน้าจอหลัก ผู้ใช้จะสามารถเลือกไปได้สองทางคือ BlackBerry Hub ที่รวมศูนย์ข้อความเตือนทุกอย่างเอาไว้ที่เดียวกัน รวมถึงการส่งข้อความใหม่ไปยังระบบแชตหรือเครือข่ายสังคมต่างๆ ก็ทำได้จากที่นี่นอกจากการใช้ตัวแอพพลิเคชั่นเองส่วนทางด้านขวานั้นเป็นรายการแอพพลิเคชั่นในเครื่อง

สำหรับตัว BlackBerry Hub นั้นสามารถเรียกได้จากหน้าใดๆ โดยการเลื่อนจากด้านล่างแล้วลากไปทางขวา (เล่นเอางงถ้าไม่อ่านคู่มือก่อน) เรื่องน่ารำคาญใจคือในระบบที่ไม่มีปุ่ม back แต่แอพพลิเคชั่นต่างๆ กลับมีกระบวนการ "ย้อนกลับ" ไม่เหมือนกัน เช่น BlackBerry Hub นั้นเวลาที่อยู่ในหน้าจอค้นหา จะต้องกดปุ่ม "ยกเลิก" ทางด้านขวาบน, ส่วนเวลาที่ดูภาพแล้วต้องการกลับสู่อัลบั้ม จะต้องย้อนด้วยปุ้มย้อนทางซ้ายล่าง

ตัวคีย์บอร์ดนั้น BlackBerry ทำได้ดีไม่มีอะไรผิดแปลก กระบวนการแนะนำคำเป็นการแนะนำด้วยการแสดงคำบนปุ่ม spacebar เพียงคำเดียว ผมเข้าใจว่ากระบวนการแบบนี้ออกแบบเผื่อมาสำหรับรุ่นอื่นๆ ที่มีคีย์บอร์ดจริงด้วย เพราะสำหรับการพิมพ์บนจอ การเลือกคำที่ใกล้เคียงจากรายการคำหลายๆ คำน่าจะสะดวกกว่า

ความปลอดภัยระดับองค์กร

BlackBerry เคยเป็นระบบโทรศัพท์สำหรับองค์กรเป็นหลักและมาประสบความสำเร็จในตลาดคอนซูมเมอร์ภายหลัง ใน BlackBerry OS 10 ยังแสดงให้เห็นแนวทางการเน้นความปลอดภัยอยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นเรื่องน่าชมเชยของ BlackBerry อย่างมาก ระบบนี้มีสามส่วนหลักๆ ได้แก่ การจัดการสิทธิของแอพพลิเคชั่น, การเข้ารหัสข้อมูลในเครื่อง, การจัดการระยะไกล และจัดการสิทธิสำหรับผู้ปกครอง

การจัดการสิทธิของแอพพลิคเชั่นเป็นรูปแบบเดียวกับแอนดรอยด์และ iOS คือแอพพลิเคชั่นทุกตัวจะอยู่ใน sandbox โดยต้องประกาศสิทธิที่ต้องการใช้งานก่อนการติดตั้งเสมอ ใน BlackBerry OS 10 สิทธิเหล่านี้สามารถจัดการ "หลัง" จากติดตั้งไปแล้วได้ด้วยอีกชั้น เช่น เราไม่ต้องการให้แอพพลิเคชั่นเช่นเฟซบุ๊กสามารถอ่านรายชื่อสมุดโทรศัพท์ของเราตลอดเวลา (เราอาจจะยอมรับได้ในการติดตั้งครั้งแรก) ก็สามารถปิดสิทธิเหล่านี้ออกภายหลังได้

ระบบการเข้ารหัสข้อมูลมีมาตั้งแต่แรกคงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก (ทั้ง iOS และแอนดรอยด์ตอนนี้มีหมดเหมือนกัน) แต่การจัดการจากระยะไกลสามารถใช้ BES10 เข้ามาจัดการได้อาจจะทำให้หลายบริษัทกลับมาสนใจใช้ BlackBerry ในองค์กรอีกครั้งหลังจากเสียตลาดส่วนนี้ไปมาก มีฟีเจอร์ของ BES นั้นสามารถแยกส่วนของ Z10 ระหว่างส่วนของงานองค์กรกับพื้นที่ส่วนตัวได้ด้วย

อีกจุดหนึ่งคือการจัดการสำหรับผู้ปกครอง ผู้ปกครองที่ซื้อเครื่องให้ลูกสามารถกำหนดสิทธิการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ การโทรเข้าแบบจำกัด

แอพพลิเคชั่น

โจทย์ใหญ่ที่สุดของแพลตฟอร์มที่เข้ามาใหม่คือการไล่ตามแอพพลิคเชั่นให้ครบ ปัญหานี้ของ BlackBerry ยังคงมีอยู่แม้จะพยายามแก้ไปมากด้วยการรองรับ API ของแอนดรอยด์ ปัญหาเช่น LINE ไม่มีให้ดาวน์โหลดสามารถแก้ได้ด้วยการติดตั้ง APK ด้วยตัวเองด้วยการแปลง APK เป็นไฟล์ bar ปัญหาเช่นนี้แม้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นจะสามารถส่งแอพพลิเคชั่นแอนดรอยด์มาลงบนแพลตฟอร์มได้โดยตรงแต่ก็ต้องการการทดสอบและแก้ปัญหาหลายจุด อาจจะต้องลุ้นกันว่าผู้พัฒนาเหล่านี้จะส่งแอพพลิเคชั่นมาลงแพลตฟอร์มกันให้ครบในเร็ววัน

กล้อง

กล้องคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากที่สุดจุดหนึ่งของโทรศัพท์ในยุคนี้ ตัวกล้องของ Z10 นั้นมีความต่างอยู่จากระบบอื่นๆ คือการถ่ายปกติกล้องจะโฟกัสไม่หยุด และการกดหน้าจอจะเป็นการถ่ายทันทีไม่ว่าชัดหรือไม่ ตรงนี้แรกๆ อาจจะงงเล็กน้อย แต่ใช้งานไปแล้วก็พบว่าสะดวกดี ในแง่คุณภาพอาจจะถกเถียงกันได้ทั้งความชอบในแง่ต่างๆ แต่จากการใช้งานผมมองว่ามันกล้องที่ดี ความละเอียดและความคมชัดสูง ไม่แพ้โทรศัพท์รุ่นสูงๆ ตัวอื่นๆ

สรุป

ผมมีเวลาอยู่กับ Z10 หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ในแง่ของการใช้งานโดยทั่วไปมันถือว่าทำได้ดีแม้ต้องปรับตัวสูงมากในช่วงแรก ในแง่ของความสมบูรณ์แล้วยังมีปัญหาในเรื่องของความครบถ้วนของแอพพลิเคชั่นเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น แอพพลิเคชั่นที่ติดมากับเครื่องอย่างแผนที่นั้นยังไม่มีข้อมูลขนส่งมวลชน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ยังรู้สึกได้ว่าการใช้งานทั่วไปยังมีเรื่องน่ารำคาญอยู่

แต่ในแง่ของความปลอดภัย BlackBerry OS 10 นับว่าออกแบบมาค่อนข้างเน้นความปลอดภัยเป็นอย่างดี ทั้งฟีเจอร์ใหญ่ๆ เช่นการเข้ารหัส, การปรับแต่งสิทธิของแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงจุดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแชร์อินเทอร์เน็ตที่หน้าจอตรงไปตรงมา ให้แชร์เป็น WPA2 ทันที นับว่าเป็นสิ่งที่ BlackBerry ทำได้ดีเสมอ และยังทำได้ดีอยู่ในรุ่นล่าสุดนี้

จุดเด่น

  • อินเทอร์เฟซแปลกตา ใช้งานได้เร็วหากชินกับรูปแบบ
  • ระบบรักษาความปลอดภัยออกแบบมาดี ครบถ้วน

จุดด้อย

  • กระบวนการเรียนรู้สับสนบ้าง เริ่มใช้งานช่วงแรกอาจงง
  • แอพพลิเคชั่นยังน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น อาจจะหาแอพพลิเคชั่นที่ต้องการไม่ได้
Blognone Jobs Premium