รีวิว Olympus Stylus XZ-10

by Be1con
30 April 2013 - 15:35

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Olympus ได้เปิดตัว Olympus Stylus XZ-10 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นรุ่นต่อจากรุ่นพี่อย่าง Stylus XZ-2 ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยตัดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นออกเช่นตัวต่อ viewfinder หรือไฟแฟลชเสริม และเพิ่มโฟกัสจาก 4x เป็น 5x พร้อมรองรับ FlashAir ของ Toshiba รวมถึงการทำงานผ่านแอพของ Olympus ในชื่อ OI.Share บน iOS และ Android (ในรีวิวนี้ไม่ได้นำมาทดสอบนะครับ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ทดสอบเป็นของตัวเอง มีแต่ของน้องผม)

เมื่อไม่นานมานี้ผมเองก็กำลังหาซื้อกล้องคอมแพกต์ตัวใหม่แทนตัว Sony CyberShot P7 ตัวเก่าที่เพิ่งพังไป (โบราณมาก!) และก็ได้เจ้า Stylus XZ-10 มาใช้งาน จึงขอนำตัวนี้มารีวิวเลยแล้วกัน

แกะกล่อง

กล่องของ Olympus Stylus XZ-10 ข้างในจะมีตัวกล้อง, คู่มือการใช้งานสั้น ๆ, เอกสารประกอบการรับประกัน, สาย USB, ตัวแปลงไฟ, สายต่อจอแบบ analog, แบตเตอรี่, สายคล้องกล้อง, แผ่น driver และปากกา stylus ตามชื่อรุ่น ขณะที่ตอนซื้อมาก็มีการ์ด SD แบบ FlashAir ของ Toshiba มาให้ด้วย

มาดูตัวกล้องกันบ้าง ด้านหน้าจะมาพร้อมกับกล้อง 12 ล้านพิกเซล เลนส์ซูมแบบ optical และวงแหวนปรับได้ตามโหมดต่าง ๆ ที่เราใช้ เช่นโหมด SRC จะปรับตามฟีเจอร์ภายใน 14 ตัวเป็นต้น

ด้านบนจะพบกับตัวหมุนปรับโหมดในการถ่ายภาพ, ชัตเตอร์พร้อมตัวเลื่อนซูมภาพ, ปุ่มเปิดปิด, ไมค์กล้อง และช่องเก็บไฟแฟลชพร้อมกับชื่อรุ่นด้านบน

ด้านหลังจะมีหน้าจอ 3 นิ้วแบบระบบสัมผัสธรรมดา ไม่ใช่ multi-touch, ปุ่มบันทึกวิดีโอ, ปุ่มดูภาพ, ปุ่มฟังก์ชั่น, วงแหวนควบคุม, ปุ่มเมนู และปุ่ม info

ด้านซ้ายไม่มีอะไร ส่วนด้านขวาจะมีที่คล้องสายกล้อง, ฝาปิดช่องต่อจอและคอมพิวเตอร์ครับ

ด้านล่างจะพบกับตัวข้อมูลเครื่อง, ที่ต่อขากล้อง และช่องใส่แบตเตอรี่และการ์ด SD

โดยภาพรวมถือว่ามีปุ่มค่อนข้างจะครบสำหรับกล้องคอมแพกต์ทั่วไป จึงทำให้ใช้งานได้ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เนื่องด้วยกล้องรุ่นนี้จะเน้นไปขั้นสูงนิดนึง ทำให้การใช้งานเบื้องต้นอาจจะต้องปรับตัวสักเล็กน้อยสำหรับคนเล่นกล้องมือใหม่ แต่ตัวกล้องถือว่าไม่หนักมาก และขนาดก็พอเหมาะกับกล้องคอมแพกต์ทั่วไป

ฟีเจอร์ต่าง ๆ ของกล้อง

กล้อง Olympus XZ-10 นี้จะมีโหมดการถ่ายภาพทั้งหมด 9 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้

  • โหมด iAuto สำหรับการถ่ายภาพอัตโนมัติ ไม่มีการปรับแต่ง
  • โหมด P
  • โหมด A
  • โหมด S
  • โหมด M
  • โหมด C
  • โหมดถ่ายภาพแบบหลายเฟรม แต่เราต้องเป็นคนกดชัดเตอร์เอง (ไม่ได้เป็นแบบรัวชัตเตอร์)
  • โหมด SCN สำหรับการถ่ายภาพในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 14 แบบ เช่น ถ่ายภาพพลุที่ต้องการชัตเตอร์ที่ช้า
  • โหมด Art สำหรับถ่ายภาพศิลป์ เช่น ถ่ายภาพแบบค่อนไปทางเบลอ, ภาพสีซีเปีย เป็นต้น

จุดเด่นของรุ่นนี้คงหนีไม่พ้นตรงวงแหวนปรับโหมดการถ่ายได้ โดยวิธีการใช้งานของมันจะใช้ได้ตั้งแต่การปรับโหมดการถ่ายภาพในโหมด SCN และ Art, ปรับขนาดรูรับภาพในโหมด P ซึ่งจากที่ได้ลองเล่นมาสัก 2-3 วันพบว่ามันใช้งานง่ายมากครับ

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ถือว่าทำได้ทัดเทียมกันกับสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S4 นั่นก็คือระบบอัดเสียงในภาพ แต่ต่างกันตรงที่ว่าใน Olympus XZ-10 นี้จำเป็นต้องเข้าไปดูภาพถ่ายก่อน แล้วกดปุ่ม OK ตรงกลางเพื่อเลือกที่จะอัดเสียง ซึ่งโดยรวมถือว่า Galaxy S4 ทำได้ง่ายกว่าอย่างชัดเจน

สำหรับฟอร์แมตของภาพ สามารถเลือกได้ว่าจะเป็น RAW หรือ JPEG ครับ

อีกฟีเจอร์จุดเด่นของกล้องตัวนี้คือระบบการแชร์รูปถ่ายผ่านการ์ด FlashAir ที่สามารถตั้งค่ากับเครื่องได้ทันที โดยสามารถไปตั้งค่าได้ที่เมนูกล้องได้โดยตรง และเมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้วก็สามารถปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ได้ทันที ภายหลังจากการเชื่อมต่อ Wi-Fi กับอุปกรณ์แล้วก็สามารถเข้าตัวเบราเซอร์เพื่อดูรูปภาพใน URL ชื่อ http://flashair/ ซึ่งในที่นี้ผมทดสอบปล่อยสัญญาณจากตัว FlashAir มายัง Nokia Lumia 920 ครับ

ส่วนใครถ้าหากมีสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ก็สามารถแชร์ภาพง่าย ๆ ผ่านแอพที่ชื่อว่า OI.Share ของ Olympus ที่ตัวแอพออกแบบมาให้มีรูปแบบที่คล้ายกับ Instagram โดยสามารถใส่ฟิลเตอร์ต่าง ๆ ลงไปได้ (แต่ต้องขออภัยที่ผมไม่สามารถนำมารีวิวได้เพราะว่าผมไม่มีอุปกรณ์ iOS หรือ Android เป็นของตัวเองนะครับ Windows Phone อดตามเคย T_T)

ฟีเจอร์ตัวสุดท้ายที่ไม่ได้ถ่ายภาพมาก็คือระบบแก้ไขภาพพื้นฐาน ซึ่งสามารถลบตาแดง, ครอบภาพ, ปรับสเกล ฯลฯ

ตัวอย่างภาพ

สำหรับภาพเต็ม ๆ สามารถดูได้ที่ Flickr ครับ

ปัญหาที่เจอของการถ่ายภาพคือ บางทีภาพจะเน้นไปทางโทนสีเขียวมากเกินไปครับ

สรุป

สำหรับ Olympus XZ-10 ตัวนี้เป็นกล้องคอมแพกต์ระดับสูงที่ใช้งานไม่ยากอย่างที่คิด แต่ปัญหาหลัก ๆ อยู่ที่บางจุดที่ภาพถ่ายออกมาในโหมด iAuto หรือโหมดอื่นเช่นโหมดถ่ายภาพเป็นเฟรมติดสีเขียวในบางมุมที่ถ่าย แต่โดยรวมถือว่าทำได้ดีพอสมควร

ข้อดี

  • กล้องตัวเล็ก น้ำหนักไม่หนักมาก
  • ฟีเจอร์แชร์รูปถ่ายผ่าน FlashAir ที่รวมเข้ากับระบบของกล้อง
  • ระบบฟอร์แมตภาพที่มีให้เลือกทั้ง 2 แบบ
  • มีโหมด Art, โหมดเฟรมถ่ายภาพที่ครบครัน

ข้อเสีย

  • ภาพบางจุดอมเขียว
  • ไฟแฟลชอาบมากเกินไปเมื่อถ่ายภาพแบบใกล้ ๆ

สำหรับราคาของรุ่นนี้อยู่ที่ 15,990 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพงมากกับประสิทธิภาพที่ได้ครับ และผมเองก็ประทับใจกับมันด้วย

จบการรีวิวแล้วครับ พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีครับ

Blognone Jobs Premium