บางได้อีก! นักวิทยาศาสตร์จับวงจร RFID ใส่ในเนื้อกระดาษ

by ตะโร่งโต้ง
3 May 2013 - 19:09

นักวิทยาศาสตร์จาก North Dakota State University ในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาระบบ RFID โดยการใส่วงจรดังกล่าวลงในเนื้อกระดาษได้แบบเนียนๆ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสในการประยุกต์เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้อีกหลากหลาย

วงจร RFID เป็นวงจรที่ใช้เพื่อจำแนกวัตถุหรือบุคคล โดยใช้วงจรที่มีลักษณะเฉพาะไม่ซ้ำกัน อาศัยการตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวงจรด้วยสัญญาณคลื่นวิทยุ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้กันหลากหลาย ทั้งในบัตรประจำตัว, หีบห่อสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้การนำวงจร RFID ใส่ในกระดาษนั้น มีการทำอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือกระดาษที่มีความหนาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ อีกทั้งสภาพกระดาษแข็งจนรู้ได้ทันทีว่ามีวงจรพิเศษฝังอยู่ในเนื้อกระดาษ

ด้วยเทคนิคใหม่ในการทำแผงวงจรให้มีขนาดที่บางลง โดยอาศัยการใช้พลังงานจากลำแสงเลเซอร์เปลี่ยนสภาพของแผ่นเวเฟอร์ที่ใช้เตรียมวงจร และใช้พลังงานจากลำแสงเลเซอร์เช่นเดียวกันในการฝังเสาอากาศลงสู่แผงวงจร

ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ได้ระบุเพิ่มเติมว่า เทคนิคการผลิต RFID แบบใหม่นี้ มีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่าการทำวงจร RFID แบบเดิมๆ เพื่อเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกกว่าและการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่น้อยกว่า ที่สำคัญคือ เทคนิคในการผลิตวงจร RFID แบบใหม่นี้มีความเร็วในการผลิตที่สูงกว่าแบบเดิมด้วย

ด้วยเทคนิคการใช้ RFID ฝังในเนื้อกระดาษนี้ จะทำให้การพิมพ์ธนบัตร, เอกสารทางกฎหมาย, ตั๋วคูปองต่างๆ รวมไปถึงฉลากหรือป้ายอัจฉริยะหลากหลายรูปแบบ สามารถเพิ่มคุณสมบัติพิเศษคือสามารถยืนยันความเป็นของแท้ และมีระบบการจำแนกข้อมูลเฉพาะวัตถุและบุคคลด้วย

ที่มา - BBC News

Blognone Jobs Premium