งาน Google I/O 2013 แถลงข่าวเสร็จสิ้นไปเมื่อคืนนี้ (ดูข่าวหมวด Google I/O) สิ่งที่พลิกโผชนิดหักปากกาเซียนทั่วโลกก็คือ เราไม่เห็นข่าว "ฮาร์ดแวร์ใหม่" และ "ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่" จากกูเกิลเลย
ไม่ว่าจะเป็น Nexus 4 LTE, Nexus 7 รุ่นอัพเดต, Android 4.3 หรือแม้แต่ Chromebook/Chrome OS รุ่นใหม่ ไม่มีให้เห็นแม้แต่เงา (มีแต่แจก Chromebook Pixel ที่หลายคนมองว่าล้างสต๊อก ฮา)
กูเกิลคิดอะไรอยู่ ทำไมงานปีนี้ถึงต่างกับงานปีก่อนขนาดนี้?
คนที่ดูถ่ายทอดสด Keynote เมื่อคืนนี้ (คลิปย้อนหลังบน YouTube) คงเห็นภาพแบบนี้ถูกนำเสนอซ้ำๆ อยู่ตลอดการนำเสนอ
ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นมุมมองของกูเกิลว่า "แพลตฟอร์ม" ที่สำคัญและมีค่าควรแก่การสนใจ มีเพียงแค่
เพียงเท่านั้น
ครึ่งหลังของงานแถลงข่าวจึงเป็นการนำเอา "บริการ" หลักของกูเกิล 3 กลุ่มคือ Search, Social, Maps มาแสดงบน "แพลตฟอร์ม" ทั้งสามนี้ซ้ำไปซ้ำมาตลอดงาน
ผมเลี่ยงคำว่า "ระบบปฏิบัติการ" และใช้คำว่า "แพลตฟอร์ม" แทน เนื่องจากความหมายของคำว่าแพลตฟอร์ม นั้นไปไกลกว่าระบบปฏิบัติการมาก
iOS
ในส่วนของ iOS นั้นกูเกิลคงไปยุ่งอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มของแอปเปิล แต่ iOS ก็มีฐานผู้ใช้มากเพียงพอที่กูเกิลต้องให้ความสำคัญ (ขอแสดงความเสียใจกับ Windows Phone และ BlackBerry ด้วยนะครับ) ต้องนำ "บริการ" ของตัวเองมาอยู่บน iOS เกือบทุกตัวเพื่อไม่ให้เสียตลาดนี้ไป
Android
แต่กรณีของ Android นั้นเด่นชัดมากว่ากูเกิลต้องการสร้าง "แพลตฟอร์มมือถือ" ของตัวเอง แพลตฟอร์มที่ตัวเองสามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์
ส่วนของ Android โอเพนซอร์สต้องถือว่ากูเกิลทุ่มสุดตัวมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งการออกระบบปฏิบัติการแบบถี่ยิบ (ปีแรกๆ ออกถึง 3-4 รุ่นในปีเดียว) และการผลักดันแพลตฟอร์มไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการผ่านฮาร์ดแวร์ตระกูล Nexus เป็นต้น
จากสถิติส่วนแบ่งตลาดล่าสุด ก็คงต้องสรุปว่ากูเกิลปิดเกมได้เรียบร้อยแล้ว บรรลุเป้าหมายของการสร้าง Android ให้ได้รับความนิยม มีฐานผู้ใช้มากพอที่จะมีอิทธิพลในตลาดแล้ว ในแง่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของระบบปฏิบัติการจึงไม่ถูกขับเน้นมากนักในปีนี้ และเริ่มจะหมุนตัวเองในฐานะ "แพลตฟอร์ม" ให้มากขึ้นโดยผ่าน Google Play (จะกล่าวต่อไปในส่วนของ "บริการ")
ข่าวใหม่จริงๆ ของ Android เมื่อคืนนี้จึงมีเพียงอย่างเดียวคือ Android Studio ในฐานะเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาเท่านั้น
เว็บ
แพลตฟอร์มที่สามและอาจเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญที่สุดของกูเกิล กูเกิลเป็นบริษัทที่โตมากับเว็บ และพยายามอย่างยิ่งที่จะ "ลัด" กระบวนการของระบบปฏิบัติการแบบเดสก์ท็อปไปให้หมด เหลือเพียง "เบราว์เซอร์" กับ "เว็บ" เท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกูเกิลถึงมาทำ Chrome (และ Chrome OS) เพื่อผลักดันเว็บไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ เว็บในมุมของกูเกิลนั้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากสโลแกนของ Chrome ที่ว่า "The web is what you make of it" หรือเวอร์ชันภาษาไทยคือ "เว็บคือสิ่งที่คุณสร้างสรรค์"
เราจึงเห็นกูเกิลออก Chrome ให้กับแพลตฟอร์มสำคัญทุกแพลตฟอร์ม (Android/iOS ตามที่เขียนไปแล้วข้างต้น, ระบบปฏิบัติการเดสก์ท็อปหลักทั้ง 3 ค่าย และออก Chrome OS เพื่อลดการพึ่งพาระบบปฏิบัติการ) ในอีกทางหนึ่งเราก็เห็นกูเกิลผลักดันเทคโนโลยีเว็บ เช่น HTML5, WebGL, WebRTC, WebM ฯลฯ เพื่อให้เว็บมีความสามารถทัดเทียมกับแพลตฟอร์มแบบ native ด้วย
ในงานเมื่อคืนนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเห็นกูเกิลสาธิตแอพหลายๆ ตัวบน Chrome เวอร์ชันมือถือ (แทนที่จะเป็นแอพแบบ native) รวมถึงวิดีโอเชิดชู "ความเป็นเว็บ" ที่เปิดโชว์ในงานด้วย
Google I/O 2013 ชี้ให้เห็นทิศทางของกูเกิลที่แจ่มชัดแล้วว่าจะอยู่บน 3 แพลตฟอร์มนี้ และจะพยายามหลอมรวมทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยมี Chrome เป็นสะพาน
ผมเลือกใช้คำว่า "บริการ" (service) แทนคำว่า "แอพ" ด้วยเหตุผลเดียวกันกับหัวข้อก่อนหน้า นั่นคือบริการนั้นมีความหมายกว้างกว่าแอพมาก
กูเกิลเป็นบริษัทที่หาเงินจาก "บริการ" บนอินเทอร์เน็ต โดยโมเดลรายได้หลักคือการโฆษณา และโมเดลรายได้รองคือการเก็บเงินแบบอื่นๆ (เช่น เก็บค่าพื้นที่บน Gmail หรือค่าใช้บริการ Google Apps) ดังนั้นเป้าหมายของกูเกิลคือผลักดัน "บริการ" ให้มีคนใช้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ครึ่งหลังของงานแถลงข่าว กูเกิลนำเอาบริการหลัก 3 กลุ่มอันได้แก่ Search, Social และ Maps มาโชว์บนแพลตฟอร์มหลักทั้งสาม
แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น กูเกิลยังมี "บริการ" อื่นๆ ในมืออีกมาก เช่น Gmail หรือ YouTube ที่ไม่ถูกพูดถึงเท่าไรนัก
"บริการ" ที่กูเกิลไม่ได้พูดชัดเจนบนเวที แต่ควรค่าแก่การพูดถึงโดยละเอียดในบทความนี้มี 2 ตัว ได้แก่
Google Play
กูเกิลใช้วิธี "แยกส่วน" Android ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ตัวระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สที่ใครๆ ก็นำไปดัดแปลงต่อได้ (เรารู้จักมันในชื่อ AOSP) และ API สำหรับเรียกติดต่อกับบริการในเครือของกูเกิล ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่ได้โอเพนซอร์สด้วย
คนที่เคยติดตั้ง Android SDK คงคุ้นกับภาพด้านล่างนี้ จะเห็นว่าแพกเกจของ Android กับ Google API นั้นแยกขาดกันชัดเจน
งานเมื่อคืนนี้จึงเป็นเรื่องของบริการภายใต้แบรนด์ "Google Play" ฝาแฝดที่ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก แต่เป็น เป้าหมายหลักที่กูเกิลหันมาทำ Android นั่นคือจูงใจให้นักพัฒนาแอพผูกติดกับ "บริการ" ของตนไม่ให้หนีไปไหน
เราจึงเห็นกูเกิลเปิดตัวบริการมากมายในชื่อ Google Play
กล่าวโดยสรุปคือส่วนของ Android นั้นกูเกิลพัฒนาตัวแกนหรือ "ระบบปฏิบัติการ" จนเป็นที่น่าพอใจแล้ว และตอนนี้กำลังรุกคืบไปยังส่วนของ "บริการ" เพื่อผูกใจผู้ใช้-นักพัฒนาแอพไว้กับกูเกิลนั่นเอง
Google+
ตอนที่กูเกิลเปิดตัว Google+ ใหม่ๆ นั้น กูเกิลพูดเสมอว่าไม่ได้เอามาแข่งกับ Facebook โดยตรง แต่ต้องการสร้างมันเป็น "social layer" ให้กับบริการอื่นๆ ของกูเกิลอีกทีหนึ่ง
เวลาผ่านมาหลายปี ตอนนี้เราคงเห็นชัดแล้วว่ากูเกิลใช้มาตรการ "ขายพ่วง" Google+ ในทุกกรณีที่มีโอกาส อะไรก็ตามของกูเกิลที่เกี่ยวข้องกับ "ตัวตน" และ "สังคม" จะโดนกูเกิลบังคับใช้ Google+ ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่ Google Play Games Service และ Google+ Hangouts ที่เปิดตัวเมื่อคืน จะบังคับใช้ Google+ เช่นกัน
ยุทธการขายพ่วง Google+ ของกูเกิลคงจะเดินหน้าไปในลักษณะนี้อีกเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายเดียวคือเป็นตัวเชื่อม "ตัวตน" ของผู้ใช้เข้าด้วยกันเป็นอันเดียว
งาน Google I/O ปีนี้แสดงให้เห็นอนาคตที่ชัดเจนของกูเกิลว่าจะมุ่งไปในทิศทางนี้ กูเกิลต่อจิ๊กซอฝั่ง "แพลตฟอร์ม" เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่โดยนำ "บริการ" ของตัวเองไปรันบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น รวมถึงจูงใจนักพัฒนาภายนอกให้สร้างแอพหรือเปิดบริการบนแพลตฟอร์มเดียวกัน
วิสัยทัศน์นี้ของกูเกิลคงใช้ได้อีกหลายปี (จนกว่าวงการจะเปลี่ยนรอบเทคโนโลยี หรือเจอคู่แข่งที่ฟ้าประทานมาให้โค่นกูเกิลลงได้) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเราคงเห็นกูเกิลพูดถึงตัวแกนของ Android หรือ Chrome น้อยลง โดยหันไปเน้นที่บริการหรือแอพพลิเคชันมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการขยายบริการของกูเกิลไปยังคนอีกหลายพันล้านคนในโลกนั่นเอง
มุมมองของกูเกิลที่ว่า "สงครามแพลตฟอร์มจบแล้ว" จะถูกต้องแค่ไหน คงขึ้นกับฝีมือของคู่แข่งอย่างแอปเปิลและไมโครซอฟท์ที่จะต้องแสดงให้เห็นแล้วล่ะครับ